ตามการสะสม
ผู้ฟัง ผมกำลังจะติดตามเรื่องของผัสสะ เรื่องการกระทบนี้ แต่ขออนุญาตถามคำถามนี้หน่อย คือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับที่คุณเริงชัยได้ถาม แล้วก็ท่านอาจารย์ได้กรุณาถามคุณเริงชัยว่า เป็นอัตตาหรืออนัตตา ตรงนั้น คำถามก็อาจารย์อดิศักดิ์ได้ย้ำอีกครั้งหนึ่งแล้ว แล้วก็รู้คำตอบแล้ว ถ้าเผื่อเราจะมาเปรียบเทียบกับท่านองค์อุปัฏฐากของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า คือท่านอานนท์ ที่ได้เจริญกายคตาสติ ตรงนั้นผมเข้าใจว่าไม่ควรที่จะมาสับสนในส่วนนี้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ หรือท่านเป็นพระอริยบุคคล อย่างไรก็ตามก็แน่นอนว่า ท่านต้องมีสภาพที่ถูกต้อง แต่ผมก็ยังอยากจะฟังว่า ท่านอาจารย์จะอธิบายตรงนี้ได้อย่างไรว่า ในเรื่องราวทั่วๆ ไป ซึ่งกระผมต้องฟังผิดพลาดแน่ว่า ท่านพระอานนท์ ท่านเจริญกายคตาสติเท่านั้น จริงๆ แล้วในขณะนั้น ท่านคงไม่ได้เจริญแต่เฉพาะทางกายอย่างเดียว เพราะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น แล้วท่านก็เจริญสติอยู่เสมออยู่เรื่อย ในขณะที่ท่านจะสำเร็จ มีมรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น ตรงนั้น กระผมเข้าใจอย่างนี้ ผมคิดว่า ผมเข้าใจถูก แต่ผมก็อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมที่ผมฟังๆ มาเหมือนกับว่าท่านเจริญแต่ทางกายเท่านั้น ทางอื่นไม่ได้เจริญหรืออย่างไร ครับผม ขออนุญาต
ส. มีคำว่าส่วนใหญ่ หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ ครับผม อันนี้ผมตกไปครับ ผมเข้าใจแล้วว่า จริงๆ แล้ว ต้องมีหลายๆ ทางแน่เกิดขึ้น แล้วก็ส่วนใหญ่ที่ท่าน นั่น ไม่ใช่ว่าท่าน มุ่งหมายที่จะเอาทางกายอย่างเดียว เพราะส่วนใหญ่ ตรงนี้เราจะอธิบายได้ไหมว่า ขณะนั้นก็มุ่งหมายที่จะเอาทางกายอย่างเดียว
ส . ชีวิตประจำวันของคุณวีระทำอะไรมาก
ผู้ฟัง เขียนหนังสือครับ
ส. ตามการสะสมหรือว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิดอย่างนั้น หรือว่ามุ่งหมายด้วยความต้องการที่จะรู้
ผู้ฟัง ตรงนั้นคงจะเป็นความต้องการที่จะทำอย่างนั้นเป็นส่วนมากทีเดียว แต่จริงๆ แล้วก็มีทานอาหาร มีทำอย่างอื่น อะไรเยอะแยะไปหมด
ส. เพราะฉะนั้น ชีวิตส่วนใหญ่ของแต่ละคนก็ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง คือตามการสะสม
ผู้ฟัง เ รื่องของวิถีจิต จะเป็นวิถีเกิดขึ้น จะต้องมีเฉพาะอาวัชชนจิตเท่านั้นหรือ ในขณะที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กรุณากล่าวให้พี่พันทิพา เมื่อสักครู่นี้ว่า ขณะที่จิตเกิดก็มีผัสสะเกิด ขณะที่เราหลับ จริงๆ แล้วผมพอเข้าใจ ในขณะที่เราหลับ จิตไม่เป็นวิถี แต่ขณะที่ตื่นจิตเป็นวิถี ขณะที่หลับก็มีผัสสะนี่ครับ
ส. รู้เย็นร้อนอ่อนแข็งหรือเปล่า เห็นหรือเปล่า ได้ยินหรือเปล่า ได้กลิ่นหรือเปล่า ลิ้มรสเหรือเปล่า คิดนึกเหรือเปล่า
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ตรงที่เป็นวิถีจิต ก็คือ รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง เท่านั้นเอง
ส. ไม่ทราบว่า ท่านที่เป็นผู้ใหม่จะเข้าใจคำว่า “วิถีจิต” หรือยัง เพราะว่าบางทีเราก็ต้องคิดถึงบางท่านอาจจะไม่ได้ศึกษาตามลำดับ แต่ให้ทราบว่า จิตมีหลายประเภทมาก แต่ว่าสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ ประเภทหนึ่งเป็นวิถีจิต หมายความว่า ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นจึงรู้ เช่น ทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือว่าทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกถ้าใครได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก พวกนี้ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด
เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต จะมี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ จุติจิต ๑ ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกที่เกิด จิตเกิดดับเร็วมาก เพียงขณะแรกขณะเดียวที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนแล้วก็ดับไป นั่นเป็นปฏิสนธิจิต คือ จิตที่เกิดสืบต่อ แล้วเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมก็ไม่ทำให้ตายทันที จะต้องดำรงภพชาติรักษาความเป็นบุคคลนี้จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย
เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิต คือจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ เพื่อที่จะให้มีการรับผลของกรรม ทางตาต้องเห็น ทางหูต้องได้ยิน ทางจมูกต้องได้กลิ่น ทางลิ้นต้องลิ้มรส ทางกายต้องกระทบสัมผัส และเมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ก็จะต้องมีการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน นี่เป็นวิถีชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งสลับกับภวังคจิต เพราะเหตุว่ารูปมีอายุสั้นมาก เสียงก็สั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็สั้น กลิ่นก็สั้น รสก็สั้น สิ่งที่กระทบกายก็สั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อรูปดับ จิตต้องเป็นภวังค์ก่อน แล้วถึงจะเป็นวิถีจิตต่อไปได้ แต่นี่เป็นการแสดงโดยลำดับที่ย่อ และสั้นมาก แต่ถ้าขยายออกไปก็จะมีจิตหลายขณะซึ่งเกิดทำหน้าที่ต่อไป สืบต่อกัน แล้วก็จิตขณะสุดท้ายของชาติหนึ่ง คือ จุติจิต
เพราะฉะนั้น ให้ทราบเลาๆ ว่า จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตก็คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต และที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ ถ้าใช้คำว่า “วิถีจิต” หมายความว่าจิตที่เกิดขึ้นหลายขณะ โดยอาศัยทางหนึ่งทางใด รู้อารมณ์เดียวกันที่ยังไม่ดับไป