เห็นสักแต่ว่าเห็น
คุณอดิศักดิ์ เดี๋ยวผมจะเพิ่มเติมตรงที่ท่านอาจารย์บอกว่า สำหรับท่านพระพาหิยะ คนเดียว พอดีก็เอาอรรถกถานี้มาใช้ ในพาหิยสูตร ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ในที่สุดแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ กุลบุตรคนหนึ่งกำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระทศพลที่หังสวดีนคร เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะแห่งภิกษุผู้เป็นขิปปาภิญญา คิดว่าไฉนหนอในอนาคต เราจักบวชในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นปานนี้ แล้วพึงเป็นผู้อันพระศาสดาสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเช่นนี้ เหมือนภิกษุรูปนี้ ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงบำเพ็ญบุญญาธิการอันสมควรแก่ตำแหน่งนั้น บำเพ็ญบุญอยู่ตลอดชีวิต มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ท่องเที่ยวไปในเทวดา และมนุษย์ บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปทศพล มีศีลบริบูรณ์ บำเพ็ญสมณธรรม ถึงความสิ้นชีวิตแล้วบังเกิดในเทวโลก ท่านอยู่ในเทวโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในเรือนมีสกุลในพาหิยรัฐ ชนทั้งหลายจำเขาได้ว่า พาหิยะ
อันนี้เป็นข้อความที่แสดงว่า ท่านบำเพ็ญบารมีของท่านมาในลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่ ใครๆ จะไปเป็นอย่างท่านพระพาหิยะได้ ส่วนเรื่องข้อสอนเรื่องเห็นสักแต่ว่าเห็น พุทธองค์ก็ได้ตรัสขยายความไว้ว่า แต่เมื่อพระองค์ทรงแสดงอาการที่จะพึงศึกษา พึงตรัสคำมีอาทิว่า ทิฏเฐ ทิฏฐมัตตัง ภวิสติ เมื่อเห็นก็เป็นเพียงแต่เห็น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏเฐ ทิฏฐมัตตัง ได้แก่ สักแต่ว่าการเห็นรูปายตนะด้วยจักขุวิญญาณ อธิบายว่า เธอพึงศึาษาว่า จักขุวิญญาณอันเห็นในรูปซึ่งรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจลักษณะเป็นต้นไม่ ฉันใด รูปที่เหลือจะเป็นเพียงอันเราเห็นด้วยวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้นเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่าการรู้แจ้งซึ่งรูปในรูปด้วยจักขุวิญญาณ ชื่อว่าเห็นรูปในรูปที่เห็น บทว่า มัตตา แปลว่า ประมาณ ประมาณแห่งรูปนี้ที่เห็นแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐมัตตะ อธิบายว่าจิตเป็นเพียงจักขุวิญญาณเป็นประมาณเท่านั้น ท่านอธิบายไว้ว่าจักขุวิญญาณย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง หลงในรูปที่มาปรากฏฉันใด เราจะตั้งชวนจิตไว้โดยประมาณแห่งจักขุวิญญาณแห่งนี้ว่า ชวนจิตของเราจะเป็นเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้น เพราะเว้นจากราคะ เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง รูปที่จักขุวิญญาณ เห็น ชื่อว่า ทิฏฐะ อีก ๓ ดวงคือ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต และโวฏฐัพพนจิตที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ชื่อ ว่า ทิฏฐมัตตะ พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า จิต ๓ ดวงนี้ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เมื่อรูปมาปรากฏ เราก็จะให้ชวนจิตเกิดขึ้นในประมาณสัมปฏิจฉันนจิตเป็นต้นนั่นแหละ เราจะไม่ให้กล่าวล่วงประมาณนั้นเกิดขึ้น ด้วยกำหนัดเป็นต้นฉันนั้น
แล้วก็มาอธิบายถึงสุตตะ คุณเสกสรรอย่าไปนึกว่าง่ายๆ นะครับ ท่านจะต้องรู้สภาพธรรมะ ต้องฟัง ต้องอะไรมา ท่านผ่านพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์
ผู้ฟัง ครับ ขอเรียนว่าที่นำท่านพระพาหิยะมาก็เพื่อที่จะให้ผู้ที่สงสัย ว่า ทำไมต้องศึกษาพระอภิธรรม เนื้อแท้แล้วพระอภิธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท่านพระพาหิยะบรรลุ ก็คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ ประเด็นนี้ที่ต้องการพูดวันนี้ ขอบพระคุณ
ส. ก็เป็นความละเอียด แม้แต่ข้อความสั้นๆ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระพาหิยะ เพราะเหตุว่าเราจะต้องพิจารณาในขณะนี้ ไม่ว่าได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม เช่นเห็นในขณะนี้ ภาษาบาลีใช้คำว่า จักขุวิญญาณ เพียงชั่วขณะที่เห็น ยังไม่มีความรัก ความชัง หรือว่าอกุศลใดๆ หรือกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ทำให้เกิดเห็นขึ้น เพียงแค่เห็นจริงๆ แล้วหลังจากเห็นแล้วก็ยังมีจิตที่กล่าวใน ข้อความในอรรถกถาที่ว่า สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ไม่มีที่จะเป็นความรัก ความชัง หรือว่ากุศล อกุศลใดๆ เลย เป็นแต่เพียงสักแต่ว่าเห็นรูป หมายความว่าขณะนั้นรู้ลักษณะของรูปเท่านั้น
นี่ค่ะ เพียงแค่นี้ ยังต้องฟังว่า เฉพาะจิต ๔ ดวง จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ซึ่งเกิดต่อกันอย่างเร็วมาก เพระว่าทุกคนแยกไม่ออก พอเห็นแล้วก็ชอบหรือชัง เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล แต่ไม่ได้รู้เลยว่า ระหว่างเห็นกับการที่จะรู้สึกชอบ หรือชัง หรือกุศลนั้น มีจิตอื่นเกิดคั่น ซึ่งจิตเหล่านั้น สักแต่ว่าเห็น หมายความว่าสามารถจะรู้เพียงรูปอย่างเดียวเท่านั้นจริงๆ
เพราะฉะนั้น นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องแยกรู้ว่า เพียงความรู้ของวิญญาณ ซึ่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นไม่ใช่ปัญญา สักแต่ว่าเห็นจริงๆ เพราะว่าเห็นเพียงรูป แต่ไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะละความติด ไม่สามารถที่จะละความสงสัย ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่าไม่รู้ด้วย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งข้อความสั้นๆ แต่ศึกษาโดยละเอียดก็จะทำให้เห็นหนทางจริงๆ ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นต้องเข้าใจสภาพธรรมะจริงๆ แล้วไม่ใช่หวัง ด้วยการที่ว่าจะให้สติระลึกที่นั่นที่นี้ จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องของความต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของสังขาร เพราะว่าเรื่องของสังขาร สภาพธรรมะที่มีปัจจัยกำลังปรุงแต่ง ขณะนี้ที่ได้ฟังแล้วเข้าใจก็จะค่อยๆ ปรุงแต่งจนกว่าจะเป็นสังขตธรรม คือเกิดเมื่อไรเพราะปรุงแต่งแล้ว จึงเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องละเอียดที่ต้องศึกษาต่อไป