อาลัย


    ผู้ฟัง อัจฉริยสูตร เมื่อตถาคตแสดงธรรม อันหาความอาลัยมิได้อยู่ หมู่สัตว์นั้นยอมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงนั้น

    อันหาความอาลัยมิได้อยู่นี้ ที่พระตถาคตแสดงนั้น หมายความแค่ไหนครับ ท่านอาจารย์

    อ.สมพร คำว่า อาลัย คือ อาลยัง เป็นชื่อหนึ่งของตัณหา อาลยัง หรืออาลัย เราภาษาไทยเรียกว่า อาลัย ภาษาบาลี เป็น อาลยัง เป็นชื่อหนึ่งของตัณหา เมื่อตัณหามีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้น เพราะตัณหาเป็นตัวต้องการ ตัณหาซึ่งประกอบด้วยโลภะ โสมนัส เราก็ยินดี ติดใจ บันเทิงได้ แต่ในทางที่ไม่ดี

    ส. อ่านต่อในอรรถกถา คือ อีกแผ่นหนึ่งก็จะมีคำอธิบาย คือ อรรถกถา อัจฉริยสูตร เบญจกามคุณหรือวัฏฏะทั้งสิ้น ชื่อว่า อาลัย เพราะอรรถว่า พึงถูกตัณหา และทิฏฐิยึดไว้ นี่คือความหมายของอาลัย ได้แก่ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือในวัฏฏะนั่นเอง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ภาษาไทยเราที่ใช้คำว่า อาลัย ยังมีเยื่อใย ยังไม่สละ ยังติดข้องอยู่ แล้วที่เราติดเป็นประจำก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นวัฏฏะ คือเป็นชีวิตจริงๆ ทุกๆ วัน วัฏฏะของเราก็ไม่พ้นจากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ต่อไปก็เป็นคำอธิบายที่ว่า อาลัยเป็นที่ยินดีของหมู่สัตว์นี้ เหตุนั้นหมู่สัตว์นี้จึง ชื่ออาลยารามะ มีอาลัยเป็นที่ยินดี อาลยารามะ ก็เป็นคำที่ฟังเพราะ แต่ว่าความหมายคือว่า เป็นผู้ที่มีอาลัย คือ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ เป็นที่ยินดี ชื่อว่า อาลยรตะเพราะยินดีแล้วในอาลัย. ชื่อว่าอาลยสัมมุทิตะ เพราะบันเทิงแล้วในอาลัย ชื่อว่า อนาลเย ธัมเม ความว่า อริยธรรมอาศัยวิวัฏฏนิพพานที่ตรงกันข้ามกับอาลัย.

    บทว่า สุสฺสุสติ คือเป็นผู้ใคร่จะฟัง บทว่า โสตัง โอทหติ แปลว่า เงี่ยโสต.

    ความจริงทั้งหมดก็เป็นชื่อของทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ตามความเป็นจริง แต่ทรงแสดงให้เห็นว่า ปกติทุกคนเป็นผู้ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรม อาศัยวิวัฏฏนิพพานที่ตรงกันข้ามกับอาลัย คือเป็นผู้ที่ใคร่จะฟัง แปลว่าเงี่ยโสต ขณะนี้ที่กำลังตั้งใจฟังพระธรรม ซึ่งเป็นทางออกจากความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ผู้นั้นก็มีความสนใจ เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงธรรมะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นตัวเราที่ทุกคนในขณะนี้ที่ฟังธรรม ปกติก็เป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เมื่อมีความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความอัศจรรย์ที่ไม่เคยมี ๔ ประการ สามารถที่จะเปลี่ยนเราจากการเป็นผู้ที่ติดมากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ให้เป็นผู้ที่ยังเงี่ยโสต ยังสนใจที่จะเข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนั้นตรงกันข้ามกับความอาลัย หมายความว่า เรื่องของอาลัยเป็นเรื่องของความติดข้อง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงนั้นเพื่อละความอาลัย ความติดข้อง แต่แม้กระนั้นก็ยังสนใจที่จะฟัง นี่ก็คือความน่าอัศจรรย์ของพระธรรม


    หมายเลข 10142
    15 ส.ค. 2567