รู้อรรถ - รู้ธรรม


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามต่อ เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ขอคำขยายความว่า ฟังแล้วรู้อรรถะ และธรรมะ ๒ ตัว ขอขยายความว่า เพื่อพวกเราจะได้ฝึกฟังด้วยดีว่า ฟังแล้วให้รู้อรรถะ และรู้ธรรมะด้วย

    ส. อันนี้ก็เป็นภาษาบาลีซึ่งอาจารย์สมพรท่านจะให้ความหมายของ อรรถ และ ธรรม

    อ.สมพร ถ้ามีทั้ง อรรถ มีทั้ง ธรรม ก็หมายความว่ามีทั้งเหตุ และผล ธรรมเป็นเหตุ อรรถเป็นผล พูดสั้นๆ เหมือนเราจะฟังศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราเห็นว่าไม่ประกอบด้วยเหตุผล เราก็ไม่เชื่อ ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมประกอบด้วยอรรถ และประกอบด้วยธรรม คือประกอบด้วยเหตุผล เราฟังแล้วเราก็รู้เรื่อง เข้าใจ เมื่อรู้เรื่องก็ปฏิบัติตาม ขณะนั้นเป็นความดีของเรา

    ผู้ฟัง ดิฉันจะเรียนถามต่อ คำว่า อรรถ อยากจะบอกว่า ถ้ารู้อรรถของคำว่าอาลัย ในนี้อรรถก็บอกอยู่แล้ว คือ อรรถว่า พึงถูกตัณหา และทิฏฐิยึดไว้ อันนี้ก็เข้าใจว่าฟังธรรมะแล้ว เธอต้องรู้อรรถ อรรถนี้ก็เข้าใจแล้ว เพราะในนี้มี ดิฉันก็มาติดคำว่า ธรรมะ อยู่ตัวหนึ่งว่า รู้อรรถ และธรรมะ รู้คำว่ารู้ธรรมะ นี้ พอดีฉันฟังท่านอาจารย์สุจินต์ ดิฉันแปลเอาเองจากความเข้าใจของตัวเอง คือรู้ตัวธรรมะ

    ส. คุณสุรีย์คะ ก็คงจะประกอบกันได้ทั้งหมด คือ ถ้าเรารู้จักว่า ธรรมะคืออะไร ถ้าไม่มีธรรมะ อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น แต่เพราะเหตุว่าธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงว่า ธรรมะที่มีจริง พร้อมทั้งอรรถด้วย และธรรมะด้วย ต้องมีเหตุ และมีผล อย่างโลภะ ก็ต้องมีเหตุที่จะให้เกิด ไม่ใช่ไม่มี และอรรถะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในอรรถกถาหรือในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นความหมายซึ่งถ้าไม่มีคำอธิบายหรือความหมาย ซึ่งก็หมายความถึง คำอธิบายความหมายให้เข้าใจลักษณะของธรรมะนั่นเอง ถ้าธรรมะไม่มีลักษณะที่จะต้องรู้ ก็ไม่มีคำอธิบายว่า ธรรมะนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่เพราะเหตุว่าธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็มีลักษณะที่จะสามารถให้เราค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น อรรถ คือความหมายของลักษณะของธรรมะซึ่งมีลักษณะแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น คำสอนของพระผู้มีพระภาคจึงทรงถึงพร้อมด้วยอรรถพยัญชนะ คือ คำ ซึ่งมีความหมายในคำนั้นๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจในสภาพธรรมะ ส่วนอรรถธรรมะในที่บางแห่ง ธรรมะ หมายความถึงเหตุ อรรถ หมายความถึงผล แต่ทั้งหมดก็ต้องประกอบกัน เพราะธรรมะจะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีเหตุ โลภะก็ต้องมีเหตุ และอรรถคือลักษณะของธรรมะที่ทรงแสดงนั้นคืออย่างไร ก็เป็นเรื่องของลักษณะของเหตุของผลของธรรมะ ทั้งหมด คงจะเข้าใจได้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง เข้าใจค่ะ ทีนี้ดิฉันก็เลยนึกเลยไปว่า ตัวธรรมที่รู้ธรรมด้วย คือว่าเราไม่ได้รู้แต่ตัวหนังสือ หรือเป็นอรรถ ซึ่งเป็นความหมาย แต่เราต้องรู้ถึงลักษณะของธรรมะ ตัวจริงของธรรมะด้วย

    ส. เพราะว่าขณะนี้ที่เราพูดถึงโลภะ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมะที่ติดข้อง นี่คือความเข้าใจในคำ พยัญชนะที่ส่องอรรถ ความหมาย คือลักษณะของโลภะคืออย่างนี้ จึงใช้อรรถอย่างนี้ เพื่อที่จะอธิบายให้เข้าใจลักษณะของโลภะว่าเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อฟัง ในขณะที่กำลังฟัง โดยที่ว่าโลภะก็กำลังเกิดดับ ไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ กับการฟังแล้วมีการเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมะ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมะจริงๆ ก็กำลังเกิดดับอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะพูดเรื่องจิตกี่ประเภท ขณะนี้จิตก็เกิดดับ ทำหน้าที่ของจิต พูดถึงเจตสิกแต่ละประเภท เจตสิกนั้นๆ ก็เกิดดับ ทำหน้าที่ของเจตสิก แต่กำลังพูด กำลังศึกษาเรื่องราวของจิต และเจตสิก คือเรื่องราวของสภาพธรรมะ จนกว่าจะมีความเข้าใจในอรรถ ในลักษณะของสภาพธรรมะพอสมควรที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังเกิดปรากฏ จึงจะเข้าใจอรรถนั้นว่า ตรงกับที่ได้ศึกษา


    หมายเลข 10143
    15 ส.ค. 2567