รู้ทั่วธรรม


    ผู้ฟัง อาจารย์คะ ขออนุญาตถามอีกที ดิฉันต้องถามคนเดียวแล้ว เพราะว่ามันอยู่ในหน้านี้ด้วย ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่ว อันนี้เป็นคำซึ่งติดใจดิฉันมานานแล้ว คำว่า “รู้ทั่ว” อยากจะเรียนถามในขณะซึ่งโดยนัยยะของสติปัฏฐาน รู้ทั่วทุกทวาร หรือรู้ทั่วรูปนามที่กำลังปรากฏ อันนี้เป็นคำถามที่ ๑ ทีนี้ในนี้มันก็มีบอกว่า รู้ทั่วธรรมะ รู้ทั่วถึงธรรมะในอรรถกถา บรรทัดที่ ๙ รู้ทั่วถึงธรรมะ ๓ ตัวนี้มันคือรู้ทั่วอะไรกันแน่ ท่านอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ ธรรมะทั้งหมดที่ปรากฏ ถ้าขณะใดที่ไม่รู้ก็คือ อวิชชา

    ผู้ฟัง หมายความว่า คำว่า “รู้ทั่ว” เราจะใช้เฉพาะธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะสติปัฏฐานเกิด ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ อะไรเป็นธรรมะ ทุกอย่างเป็นธรรมะ ทางตาที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรมะ ทางหู ได้ยินกับเสียงก็เป็นธรรมะ ทั้ง ๖ ทวาร เป็นธรรมะที่สามารถจะรู้ได้

    ผู้ฟัง นั่นคำว่า รู้ทั่วนี้ มันก็เลยข้องอยู่ในใจของดิฉันว่า คืออะไรกันแน่ มันคือรู้ทั่วอะไรกันแน่

    ท่านอาจารย์ ถ้าค่อยๆ เข้าใจว่า รู้ทั่วธรรมะ ถูกไหมคะ เพราะว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น ใช้คำว่ารู้ทั่วธรรมะ ธรรมะที่มีจริง คือนามธรรมกับรูปธรรม ก็ต้องรู้ทั่วในลักษณะที่เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง และที่กำลังปรากฏด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ปรากฏ ไม่มีทางจะรู้ได้

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นประโยคหนึ่งที่ดิฉันเข้าใจ อีกอันหนึ่ง รู้ทั่วทุกทวาร เขาก็ใช้ ไม่ใช่หรือคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทางตาเห็น รู้หรือเปล่า ทางหูได้ยิน รู้หรือเปล่า ทางใจคิดนึก รู้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา คือ ไม่รู้ ก็ยังมีความเป็นเรา เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ทั่ว ไม่ใช่พอสติปัฏฐานเกิดก็รู้ทั่ว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ปัญญาจะต้องเริ่มค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะรู้ทั่วจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่นี้เวลาที่คนเริ่มเจริญสติปัฏฐาน เขาจะไม่รู้ทั่วทุกทวารหรอก เขาจะตามอัธยาศัย ที่ว่าทวารไหนที่เขาถนัดจะรู้ ใช้คำว่าถนัดแล้วกัน

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะใช้คำว่า ผู้เริ่มเจริญสติปัฏฐาน แต่ความจริงถ้าจะใช้คำธรรมดาว่า ขณะใดที่สติเกิด หรือเพิ่งจะเกิด หรือเริ่มจะเกิด สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่มีจริง แล้วสติก็ดับเร็วมาก นี่เป็นความจริง

    เพราะฉะนั้น ไม่สามารถจะรู้ทั่ว แต่เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นอีกบ่อยๆ หรือจะไม่บ่อยหรือนานๆ ครั้ง ก็ตามแต่ แต่ว่าผู้นั้นจากการฟังด้วยดีก็ทราบว่า การศึกษาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของสภาพธรรมะ ต้องเป็นในขณะที่สติเกิด สติ คือ ขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ ที่ใช้คำว่าปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าขณะที่สติระลึก มีลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ แต่มีลักษณะที่เป็นสภาพธรรมะปรากฏให้ศึกษาให้เข้าใจในลักษณะนั้นว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะว่าขณะนั้นไม่มีคน ไม่มีอะไรเลย แต่มีนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาก็คือว่า เข้าใจลักษณะของนามธรรมที่กำลังระลึกให้รู้ว่า นามธรรมคืออย่างนี้ สภาพรู้ หรือธาตุรู้เป็นอย่างนี้ ลักษณะของธาตุรู้ คือ จิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้คืออย่างนี้ ลักษณะของสภาพรู้อื่นๆ เช่น ความรู้สึก ความโกรธ หรือลักษณะอื่นๆ ทั้งหมดที่เป็นนามธรรม ก็เมื่อสติระลึกก็จะเห็นว่า สภาพนั้นคือ นามธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญสติ หมายความว่าสติเริ่มเกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด

    ผู้ฟัง จะไม่รู้ทั่ว จะรู้

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้

    ผู้ฟัง โดยเฉพาะนามธรรม เกือบจะไม่เห็นเลย เห็นแต่รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ไป นี่คือภาวนา คือ การอบรม คือ ค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง อันนั้นก็ยังแปลว่าไม่รู้ทั่ว ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ รู้ทั่วทันทีไม่ได้


    หมายเลข 10145
    15 ส.ค. 2567