ยังมากด้วยความเป็นเรา


    ผู้ฟัง สติ และปัญญา รู้สึกที่ผ่านๆ มันจะไปรู้เรื่องสมมุติบัญญัติ สติไม่ระลึกไปถึงปรมัตถ์ไประลึกตัวอะไรอยู่ ตัวสัญญา พอตัวสัญญา ตัวมานะ ตัวทิฏฐิ อย่างนี้เป็นต้น เป็นเพราะว่า เราไปยึดว่าเป็นตัวเรา ใช่ไหมครับ ท่านอาจารย์

    ส. ลักษณะของสัญญา หรือคะ นึกถึงชื่อ นึกถึงเรื่อง

    ผู้ฟัง นึกถึงชื่อ บางครั้งก็ไม่ต้องพูดออกมา มันนึกอยู่ในจิต คิดนึกอยู่ในจิตนึก

    ส. นี่เป็นปัญหา เพราะว่าโดยมากพอฟังเรื่องของสติปัฏฐาน ทุกคนก็คอยว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ซึ่งความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องคอย โลภะอยู่ตรงนั้น

    ถ้าศึกษาเรื่องของอริยสัจ ๔ ต้องทราบว่า โลภะเป็นสมุทัยที่จะทำให้เกิดสังสารวัฏ ไม่รู้จบสิ้น ตราบใดที่ยังไม่เห็นโลภะ แล้วก็ยังไม่ละโลภะ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด ที่ต้องทราบว่า ไม่ใช่ว่าเราอยากให้เป็นอย่างนั้น เราอยากให้เราดี เราอยากให้เราไม่มีอกุศลใดๆ เลย นั่นคือความเป็นตัวตนซึ่งเหนียวแน่น แล้วก็ลึกมาก ไม่ว่าจะต้องการสิ่งที่ดี ก็คือเพื่อตัวเอง ก็ยังมีความเป็นตัวเราอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การสละละความเป็นตัวเราได้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของสภาพธรรมะซึ่งเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราไปรอไปคอยว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด คนที่ตาบอดหรือมองไม่เห็น ก็คอยว่า เมื่อไรจะมองเห็น ก็นั่งคอยไป ก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เห็น จนกว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้เห็น คือ รักษาตา แล้วก็สามารถที่จะมีปสาทที่จะทำให้จิตเห็น เกิดขึ้นได้ จิตเห็นจึงจะเกิดได้

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างตามเหตุตามปัจจัย ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ทราบได้ว่า เป็นความจริง ยังไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด แล้วจะให้สติปัฏฐานเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปฝืน ไปเร่ง ไปพยายามที่จะบังคับให้สติปัฏฐานเกิด แต่ว่ารู้ได้ว่า ที่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะว่าความเข้าใจในสภาพธรรมะยังไม่พอ ยังไม่เป็นสัญญาที่มั่นคง ว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรมะ สติสามารถจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีความสนใจด้วยความเป็นเราที่พยายามจะหาวิถีทางทุกอย่างที่จะไปเร่งให้สติปัฏฐานเกิด เหมือนอย่างกับชาวนาที่จะปลูกข้าว ก็พยายามที่จะเร่งใส่ปุ๋ยใส่น้ำ ในที่สุดก็ตาย เพราะว่าไม่ใช่การที่จะปลูกข้าวจริงๆ ที่จะไปทำโดยวิธีนั้น เรื่องของปัญญาก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครไปเร่งปัญญาได้ว่า ให้สติปัฏฐานเกิด ให้ระลึก ให้ศึกษา ให้มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมะ เร็วๆ แต่ว่าเป็นการที่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการซึ่งกั้น ถ้ายังคงมีความต้องการอย่างนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด แล้วก็ยังมีบางคนซึ่งก็หลงกล แล้วแต่ว่าโลภะจะให้ทำอะไร ก็ทำทุกอย่าง เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการอบรมปัญญาให้เข้าใจ ให้รู้ในลักษณะของสภาพธรรมะ แม้การฟังเพียงวันละเล็ก วันละน้อย แต่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ เวลาสติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นยินดีว่า สติปัฏฐานเกิดแล้ว แต่ว่าจะห้ามก็ไม่ได้ เพราะบางคนบอกว่า เขาตื่นเต้น เขายินดีที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ตัวตนยังมากแค่ไหน เพียงสติปัฏฐานเกิดครั้งหนึ่ง นิดๆ หน่อยๆ ก็ดีใจ ใครดีใจ ดีใจทำไม ดีใจเรื่องอะไร ในเมื่อสภาพธรรมะมีปัจจัยก็เกิด แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมะว่า เป็นธรรมะ แล้วเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ชีวิตก็จะเป็นไปตามปัจจัย แล้วก็ปัญญาสามารถที่จะรู้การสะสมของปัจจัยของแต่ละคนได้ตามความเป็นจริง มิฉะนั้น ความเป็นตัวตนหรือความต้องการก็จะไปบังคับ ไปเบี่ยงเบน ไปพยายามทำอย่างอื่น ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ปัจจัย ตามปกติในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นความจริง

    ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทน ใจเย็น ไม่ใช่แบบที่ว่า ทอดทิ้งธุระ แต่หมายความว่า เป็นผู้ที่รู้เหตุปัจจัยจริงๆ ว่า ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สติก็เกิด แล้วเวลาที่สติเกิด ก็จะรู้ว่า ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด แล้วก็จะรู้ว่า เมื่อเวลาที่สติเกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่รู้ชัดถึงความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม แต่ลักษณะของธรรมะปรากฏกับสติ เวลาที่สติเกิด สติระลึกที่ลักษณะนั้น แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ว่า ไม่หลงกลโลภะ

    ผู้ฟัง สติ และปัญญา แม้กระทั่งกุศลหรืออกุศลที่มันเบาบาง ก็ยังรู้ไม่ค่อยทันไม่ค่อยชัด

    ส. อกุศลวันหนึ่งๆ แต่ก่อนนี้เยอะมาก แล้วก็ไม่เคยเห็นเลย แต่เวลาฟังธรรม เริ่มค่อยๆ เห็น มานะก็ค่อยๆ รู้ โลภะก็ก็ค่อยๆ รู้ อวิชชาก็ค่อยๆ รู้ ว่า มีจริงๆ ขณะไหนบ้าง นี่ก็เป็นผลของการฟัง การเข้าใจธรรมะ รู้ขึ้น ใช่ไหมคะ จากการฟัง

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจขึ้น แต่รู้เข้าใจ แต่มันรู้สึกว่า ใจร้อนไปหน่อย

    ส. ตอนที่พระผู้มีพระภาคทรงได้รับคำพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร คนที่ได้ยินได้ฟัง ดีใจว่า ถ้าเขาไม่สามารถรู้อริยสัจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เขายังมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากท่านสุเมธดาบสซึ่ง จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคดม หรือ โคตมะ ซึ่งระหว่างนั้นต้องพบพระผู้มีพระภาคอีก ๒๔ พระองค์ รวมทั้งพระทีปังกรด้วย เป็นเวลาที่นานเท่าไร แต่เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน แล้วเขาก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าอบรมจริงๆ อยู่ที่ว่าเราอบรมปัญญาด้วยการที่ว่า เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่ได้ยินได้ฟังก่อน แล้วเมื่อใดที่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก เพราะเข้าใจถูกในสภาพธรรมะ

    เพราะฉะนั้น สติ เป็นสัมมาสติที่ระลึกไม่ผิด เพราะว่าระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ แล้วก็ปัญญาจะค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ประจักษ์แจ้งในธาตุของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าเป็นธาตุต่างๆ


    หมายเลข 10152
    14 ส.ค. 2567