ฟังอย่างไร ไม่คิดปฏิบัติ
คุณเรณู เคยถามท่านอาจารย์เมื่อครั้งวันแม่ว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องคิดว่าจะต้องปฏิบัติ ฟังอย่างไร ท่านอาจารย์จะเน้นย้ำตรงนี้อีกครั้ง เพราะว่าผู้ฟังก็อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง ก็ขอความกรุณาอาจารย์เริ่มในตอนบ่ายด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณ
ส. บางคนจะคิดถึงแต่เรื่องปฏิบัติ เพราะว่าเป็นยุคปฏิบัติ ไปที่ไหนบางคนก็คิดว่า ไปปฏิบัติ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด เราก็จะทราบได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นโดยการไปทำ โดยที่ว่าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น การศึกษา หรือว่าการที่จะเกิดความรู้ความเข้าใจก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ว่าวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ ในเรื่องของธรรมะก็เช่นเดียวกัน เพียงได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ ก็มีความเข้าใจนิดหนึ่ง ขณะนี้ว่าทุกอย่างไม่เว้น สิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก สุขทุกข์ต่างๆ ทั้งหมดเป็นธรรมะ ก็มีความเข้าใจคำว่า ธรรมะซึ่งเป็นธาตุ แล้วก็เข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงแสดง คือ การตรัสรู้ความจริงของธรรมะทั้งหมดว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
นี่คือผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนรู้จริงๆ อย่างนี้ แต่สำหรับผู้ที่เริ่มฟังจะให้รู้จริงๆ อย่างนี้ทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราไม่เคยชินกับการที่จะเข้าใจสภาพธรรมะ เพราะเราไม่ได้อบรมปัญญาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง ต้องอาศัยการฟังจากผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว แล้วก็เมื่อได้ทรงแสดงธรรมะโดยละเอียดจริงๆ ก็เริ่มจะเห็นว่า พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ โดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระปัญญาที่ทรงบำเพ็ญจนกระทั่งตรัสรู้ แต่ไม่ใช่ว่า ให้เราไปรู้หมดตามนั้นทุกอย่าง เมื่อฟังเราก็ต้องมีการไตร่ตรองพิจารณาว่า เราจะรู้อะไรได้ แค่ไหน ตั้งแต่ขั้นการฟัง เพียงเริ่มฟัง ก็ต้องรู้ว่า ปัญญาของเราจะไม่ไปรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต แต่ทรงแสดงโดยใคร โดยผู้ที่ทรงตรัสรู้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะเข้าใจตัวเองได้ว่า ขณะที่ฟัง ปัญญาของเราเพียงเริ่มได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ นักจิตวิทยา ก็จะไม่แสดงเรื่องของจิต เจตสิก รูป โดยละเอียด ทั้งๆ ที่สภาพธรรมะเหล่านี้ มี เกิดขึ้นปรากฏก่อนการตรัสรู้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดจะรู้ได้ว่า เป็นธรรม จนกว่าจะมีผู้ตรัสรู้แล้วทรงแสดง
เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรมะให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ปัญญาของเราระดับไหน ตั้งแต่เริ่มฟัง แล้วหลังจากที่ฟังแล้วเป็นปีๆ ปัญญาความรู้ความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้น โดยสามารถที่จะเข้าใจเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าเริ่มที่จะรู้ว่า ขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะจริงๆ หลังจากที่ฟังมานานแล้ว ก็หลงลืมไปบ้าง แล้วอ่านตำรับตำราบ้างว่า ขณะที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมะ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรมะ เสียงที่ได้ยินเป็นธรรมะ สภาพที่กำลังได้ยินเป็นธรรมะ ทุกอย่างเป็นธรรมะแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังสิ่งใดตั้งแต่ต้น ก็ไม่ลืมที่จะต้องประกอบกันด้วย เช่น ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็จะทำให้เราไม่ไปฝืน หรือไปพากเพียร หรือว่าไปเร่งที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือให้วิปัสสนาญาณเกิดภายใน ๖ เดือน ภายใน ๑ ปี หรือว่าภายในชาตินี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยความหวัง แต่ความหวังอย่างนั้นไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้พิสูจน์ความรู้ของเราได้ ว่าเมื่อได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ เป็นความเข้าใจขั้นฟัง เพราะว่าสติยังไม่เกิด ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะจริงๆ จนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรมะ
เพราะฉะนั้น การฟังก็ฟังด้วยความอดทน ด้วยการที่ว่าไม่คิดว่าจะปฏิบัติ แต่ว่าเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่ว่าเรียนเรื่องอะไร ก็ให้เข้าใจจริงๆ เช่นสังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เป็นสภาพความรู้สึกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ เป็นสัญญาขันธ์ เกิดกับจิตทุกขณะเหมือนกัน ส่วนเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมด แม้สติ และปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่มีเราที่ไปทำ แต่รู้ว่า ขณะนี้เองธรรมะเกิดแล้วปรากฏ เพราะมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น มีสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลต่างๆ ก็ทำให้เราคลายความคิดที่ว่า จะไปทำ หรือว่าจะไปต้องการอะไร แล้วก็จะมีความเข้าใจธรรมะละเอียดขึ้น การเข้าใจธรรมะละเอียดขึ้นจะช่วยทำให้มีสัญญาความจำที่มั่นคงในความเป็นอนัตตาของธรรมะ ซึ่งจะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ไม่มาก ทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็รู้ว่า นี่เป็นหนทาง เพราะว่าแม้สภาพธรรมะมี แต่ถ้าสติไม่ระลึก ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ความเป็นธรรมะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมได้
ก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สนทนา ค่อยๆ พิจารณาไป แล้วศึกษาความละเอียดของของธรรมะที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แม้ในอัจฉริยสูตร และอรรถกถา ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ว่า เป็นเรื่องที่ต้องอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น