สติปัฏฐาน - วิปัสสนาญาณ ๒


    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มีการละ มีการบรรเทากิเลสบ้าง

    ส. น้อยมาก น้อยมาก น้อยเหลือเกิน

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น จะเห็นการละ ต่างจากสติปัฏฐาน ไหมครับ

    ส. แล้วแต่ว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นไหน สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณก็ละการที่สภาพนามธรรมะไม่เคยปรากฏอย่างนี้ ที่จะประจักษ์อย่างนี้ ที่จะเป็นทางมโนทวารอย่างนี้ ไม่มีความสงสัยในลักษณะของมโนทวาร เพราะว่าขณะนี้โดยการศึกษา ทุกคนทราบว่าต่อจากปัญจทวารแล้ว ภวังคจิตเกิด มโนทวารวิถีจิตก็จะรู้อารมณ์เดียวกับปัญจทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นสีที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียงที่ปรากฏทางหู ไม่มีใครสามารถที่จะแยกขณะนี้ได้ว่า เป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางมโนทวาร ทางหู คือโสตทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี เพราะการเกิดดับสืบต่อเร็วมาก แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณจะไม่มีความสงสัยในมโนทวารเลย เพราะว่าเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะทางมโนทวาร จะเข้าใจความหมายทั้งหมดที่ได้ฟังมา ไม่ว่าจะเป็นนามธาตุ รูปธาตุ ไม่ว่าจะเป็นมโนทวาร หรือปัญจทวาร แล้วก็จะรู้ความเล็กน้อยของทางปัญจทวารซึ่งเป็นปริตตารมณ์ว่า สั้นแค่ไหน เพราะว่าสามารถที่จะผ่านทางปัญจทวารไปสู่มโนทวารได้ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น นี่คือ ตรุณวิปัสสนา จะต้องเป็นญาตปริญญาที่จะต้องอบรม ที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะตามปกติในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นพลววิปัสสนา เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนทราบว่า สิ่งใดก็ตามที่เรารู้ เรายังต้องอบรมเพื่อที่จะให้รู้ยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเรารู้แล้วก็จบ แต่ว่าการศึกษา เรายังต้องมีบทฝึกหัดว่า เมื่อรู้แล้ว ยังต้องไปพิจารณา หรือว่าไปอบรมให้มีความคล่องแคล่ว ให้ที่ความรู้ ให้มีความชำนาญ ให้มีชัดเจน ให้มีความมั่นคงในความรู้ที่รู้ ไม่ใช่ว่าเมื่อรู้แล้วจบเป็นพระโสดาบันทันที โดยนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ให้ทราบว่า ปัญญากว่าถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์การเกิดดับที่เป็นอุทยัพพยญาณได้ ต้องเป็นญาตปริญญา คือ ความรู้ที่รู้ ต้องมีสติที่จะระลึก และพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมะตามปกติ

    ลองคิดดูว่า ตามปกติ จะสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าตามปกติของคนในวันหนึ่งๆ ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จากหนังสือพิมพ์ จากเพื่อนฝูง จากโทรทัศน์ จากความคิดนึก นานาประการ วงศาคณาญาติ แต่ทั้งหมด คือ ธรรมะ ธรรมะซึ่งเป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกจากการที่รู้ว่า ลักษณะของนามธรรมคืออย่างนั้น ลักษณะของรูปธรรมคืออย่างนี้ จนกว่าจะสามารถเข้าใจสภาพธรรมะในชีวิตประจำวัน โดยที่สติเกิดกับหลงลืมสติ ก็จะต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ละความต้องการที่จะให้สติเกิด หรือที่จะให้รู้มากๆ เพราะรู้ว่าขณะนั้น คือ สมุทัย นี่คือเครื่องกั้น นี่คือทางที่ไม่ใช่หนทางที่ปัญญาจะเจริญ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นทางที่จะต้องละเอียดขึ้นๆ และความรู้ก็ต้องตามลำดับว่า ละอะไร อย่างนามรูปปริจเฉทญาณละความที่ไม่เคยประจักษ์ลักษณะของนามธาตุ และรูปธาตุทางมโนทวาร แม้ว่าสภาพธรรมะในขณะนั้นจะปรากฏทีละลักษณะ แต่ปัญญาไม่สมบูรณ์ที่จะประจักษ์ว่า ที่ธรรมะปรากฏทีละลักษณะ เพราะธรรมะหนึ่งเกิดแล้วดับ เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับนั้น

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณทุกญาณก็ละความไม่รู้ กับความเห็นผิดโดยตรง

    ส. ค่ะ


    หมายเลข 10164
    10 ส.ค. 2567