รำพันทำไม


        ท่านอาจารย์ เคยได้ยินใครรำพันไหมคะ ใช้คำว่า “รำพัน”

        อ.กุลวิไล คนที่บ่นขึ้นมา ไม่อดทนแล้วหงุดหงิด

        ท่านอาจารย์ ถ้าใครก็ตามจากไป รำพันแล้ว ไม่เคยได้ดูแลท่านเลย ท่านป่วยไข้ได้เจ็บก็ทอดทิ้งท่าน ท่านจากไป ก็นั่งพูดไป ขณะนั้นรำพันในกิจที่ควรทำ แต่ไม่ได้ทำ หรือในกิจที่ไม่ควรทำแต่ทำไปแล้ว เคยมีไหมคะ กุกกุจจะ รำคาญใจในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วในสิ่งที่ไม่ดี หรือยังไม่ได้ทำในสิ่งที่คิดว่า ควรจะทำ แต่ไม่ได้ทำ อันนี้ก็พอจะเห็นได้ ถ้าไม่มีการแสดงออกมาก็อยู่ในใจ แต่ถ้าแสดงโดยการกระทำ หรือคำพูด ก็ทำให้รู้ได้ว่า ขณะนั้นกุกกุจจะ แทนที่จะทำทันที กลายเป็นไปนั่งคิดอยู่นั่นแล้วถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ หรือได้ทำไปแล้ว ทั้งที่ดี และไม่ดี เสียเวลาไหมคะ คิดทำไม ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว ทำดีทันที ไม่เสียเวลาเลย และทำได้มากด้วย แทนเวลาที่เสียไปเพราะรำพัน

        เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องกั้นด้วย อันนี้ก็พอจะเห็น แต่ไม่ทราบว่า ใครขี้รำพัน บ่นรำพันบ่อยๆ หรืออะไรบ่อยๆ ก็แล้วแต่อัธยาศัย แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นก็เป็นนิวรณ์ แทนที่คนนั้น ถ้าบอกว่าเสียดายเหลือเกินระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ดูแลท่าน หรือเพื่อนฝูงมิตรสหายที่จากไป ทำทันทีเดี๋ยวนั้นเลย ไม่กั้นแล้ว แทนที่จะไปนั่งคิดแล้วคิดอีก รำพันแล้วรำพันอีก ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย

        เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดที่เป็นกุศล ทำแล้วไม่เดือดร้อน แต่ว่าสิ่งใดที่เป้นอกุศล ทำแล้วเดือดร้อน เพราะได้ทำไปแล้ว อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เครื่องกั้นของกุศลก็คือว่า ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า การรำพัน หรือการรำคาญใจไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ก็จะค่อยๆ ห่าง แทนที่จะคิดมาก มัวคิดเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ก็ทำสิ่งที่ดีทันที

        เพราะฉะนั้น อุทธัจจะ เว้นจากพวกนี้แล้ว ทั้งหมดที่เหลือที่ไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็นอุทธัจจะ

        เพราะฉะนั้น บางครั้งมีความรู้สึกเหมือนไม่สงบ แต่ก็จับไม่ได้ว่าเพราะอะไร ขณะนั้นจะว่าเพราะโลภะ ก็ไม่ชัดเจน จะเพราะโทสะ ก็ไม่ใช่ แต่ขณะนั้นอาจจะกระสับกระส่าย อย่างคนที่เห็นลูกเจ็บไข้ เราก็อาจจะเห็นอาการของเขาซึ่งไม่สงบกระวนกระวาย แต่ขณะนั้นเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า มีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า มีโทสะเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า แต่ขณะนั้นจิตไม่สงบ กระสับกระส่าย

        เพราะฉะนั้น สำหรับอุทธัจจะ ก็เว้นจากสภาพธรรมะอื่นๆ ที่เป็นอกุศล สภาพธรรมะที่ไม่สงบในขณะนั้นก็เป็นอุทธัจจะ ซึ่งก็เป็นเครื่องกั้น แต่กับสติสัมปชัญญะ ใช่ไหมคะ

        อ.อรรณพ อุทธัจจะก็เป็นอกุศลเจตสิกหนึ่ง กุกกุจจะก็อีกเจตสิกหนึ่ง ทีนี้ท่านรวม ๒ เจตสิก แสดงเป็นนิวรณ์เดียวครับ ท่านอาจารย์

        ท่านอาจารย์ ใกล้เคียงกัน หมายความว่า ขณะที่รำพันนั้นเอง ก็สามารถรู้ถึงความไม่สงบของจิต

        อ.อรรณพ ซึ่งเป็นอุทธัจจะ

        ท่านอาจารย์ ความไม่สงบของจิตทำให้แม้แต่คิดรำพัน และเวลาที่กิเลสเกิด กำลังพอใจ ไม่ใช่รำพันใช่ไหมคะ กำลังชอบดอกไม้สวยๆ ไม่ใช่รำพันใช่ไหมคะ เป็นกามฉันทนิวรณ์ แต่พอรำพันก็รู้แล้วว่า แม้ไม่เห็นทำอะไรไป คิดถึงอกุศล หรือกุศลที่ยังไม่ได้ทำ ควรจะทำ แต่ไม่ได้ทำ ความฟุ้งซ่านก็เกิด แม้คิดอย่างนั้น เยื่อใยอาลัยอาวรณ์ที่ต้องคิดอย่างนั้น รู้อย่างนี้จะได้หยุดรำพัน


    หมายเลข 10179
    18 ก.พ. 2567