กลัวคนพาลไหม
ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “คนพาล” กลัวคนพาลไหม คนพาลน่ากลัว หรือเปล่า ถ้าเข้าใจธรรมะ ไม่กลัวคนพาล แต่ความพาลคืออกุศลธรรม น่ากลัวกว่า
เพราะฉะนั้น ภัยใดที่จะได้รับ ไม่ใช่จากคนพาล แต่ต้องจากอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความทุกข์ หรือความเดือดร้อน
เพราะฉะนั้น ถ้าสะสมความมั่นคงในธรรมะ มั่นคงในกุศลจริงๆ ไม่กลัวคนพาล แต่ว่ารังเกียจ หิริ โอตตัปปะ ความเห็นภัยของอกุศล เพราะว่าคนพาลก็คือคนที่มีอกุศลมากๆ และอกุศลนั้นให้ผลกับใคร ก็ต้องให้ผลกับคนพาล คือ คนที่มีอกุศลนั่นเอง แต่ไม่ใช่ให้ผลกับคนที่มีกุศล
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมะจริงๆ จะไม่หวั่นไหว แล้วไม่กลัวสิ่งที่ผิด เพราะเหตุว่าสิ่งที่ผิดเป็นอกุศล ไม่จำเป็นต้องกลัว หรือหวั่นไหวอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าอกุศลนั้นควรรังเกียจ และควรเห็นภัยว่า ไม่ควรให้มีในตน แต่ไม่ใช่ว่าคนพาลสามารถมาทำอะไรใครได้ แต่กรรมของบุคคลนั้นเอง เมื่อถึงเวลา ถึงไม่ใช่คนพาลก็ได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าได้เข้าใจในความเป็นธรรมะก็จะไม่หวั่นไหวเลย แต่มั่นคงในกุศล จะมีใครชักชวนให้ทำอกุศล เห็นโทษแล้ว ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นภัย และเป็นโทษ ใครจะทำก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลนั้น แต่คนที่เข้าใจธรรมะ จะไม่หวั่นไหวเลย เพราะเหตุว่ามั่นคง และเข้าใจจริงๆ ว่า แม้อกุศลเป็นธรรมะ เมื่อเกิดกับใคร คนนั้นเป็นคนพาล เพราะมีอกุศลนั้นๆ ซึ่งจะเป็นโทษแก่คนนั้น แต่จะไม่เป็นโทษแก่คนที่ไม่มีอกุศลนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ไม่หวั่นไหว กลัวคนพาลไหมคะ ไม่กลัว กลัวอะไร เขาจะทำอะไรใครได้ ในเมื่ออะไรที่จะเกิดขึ้นก็เป็นผลของกรรมของเราเองที่ได้กระทำแล้ว คนพาลไม่สามารถทำอะไรเราได้ เพราะถึงแม้เขาทำร้าย เราคิดว่า เขาทำ แต่ความจริงกรรมของเราต่างหาก และถ้าจิตของเราไม่หวั่นไหว ขณะนั้นทำร้าย คือ เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของเรา ไม่ใช่เขา แล้วถ้ามั่นคง สงสารไหมคะ ถ้ามีคุณธรรมสูงกว่านั้นอีก ก็คือว่าคนที่มีอกุศลทุกคนน่าสงสาร เพราะไม่สามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ความดีเป็นความดี เปลี่ยนความดีไม่ได้
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะทำให้เป็นผู้ตรง เพราะเหตุว่ากุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แล้วไม่หวั่นไหว แล้วไม่กลัวด้วย แต่ว่ารังเกียจ และเห็นโทษภัยของอกุศล ซึ่งจะทำร้ายผู้ที่มีอกุศล แต่ไม่ทำร้ายคนที่มีกุศล
เพราะฉะนั้น ไม่กลัวใช่ไหมคะ พาลเท่าไรก็ไม่กลัว
อ.อรรณพ ถ้าเราไปแข็งข้อกับเขา ก็อาจจะเป็นปโยควิบัติ จะเป็นคนละเรื่อง หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ปโยคะ หมายความถึงความเพียร ถ้าเพียรในอกุศล ผลเป็นอย่างไร
อ.อรรณพ ก็เป็นแบบอกุศล
ท่านอาจารย์ ถ้าเพียรในกุศล
อ.อรรณพ ก็เป็นไปในทางดี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปโยคสมบัติ คือ พูดถึงผลของกรรมที่จะให้ผลโดยฐานะต่างๆ ถ้าเกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน อุปธิวิบัติ หมายความถึงรูปร่างกายไม่เหมือนคนอื่นเขา กรรมที่จะให้ผลมาก และในทางที่ดีก็ให้น้อยกว่า เพราะเหตุว่ามีกรรมทำให้รูปร่างกาย หรือความสามารถไม่สามารถเป็นอย่างปกติได้
เพราะฉะนั้น แม้กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งหมด ทั้งฝ่ายกุศลกรรม และอกุศลกรรมจะให้ผลตามฐานะที่เป็น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกรรมอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับอย่างอื่นด้วย เช่น ข้อความที่คุณอรรณพกล่าวถึง “ปโยคสมบัติ” บางคนเกิดมาแล้วไม่ทำอะไรเลย คิดรอผลของกรรม กับคนที่รอไปเถอะ กรรมนั้นก็ไม่สามารถพร้อมจะให้ผลได้ รอเท่าไรกรรมนั้นก็ไม่ให้ผล แต่ถ้ามีปโยคะ มีความเพียร เห็นว่าเมื่อทำอย่างดีที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นปัจจัยให้กรรมที่ได้กระทำแล้วให้ผล หรือไม่ เพราะเหตุว่าแม้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วก็ยังไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ก็เข้าใจถูกต้องว่า เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้
เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะไม่ทำอะไรเลย แล้วก็รอ แต่ต้องทำสิ่งที่ดีที่สุด