เพราะไม่ใช่สติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ขอเรียนถาม ในขณะซึ่งปัญญาเกิดในขั้นสติปัฏฐาน ก็ต้องมีสัจญาณแล้ว ถูกไหม แต่คนละขั้นกันกับวิปัสสนาญาณ อาการ ๓ นี้ อาจารย์ คะ
ส. สัมมาสติจะเกิดเมื่อมีปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจผิดก็จะไปทำสมาธิ แล้วเข้าใจว่านั่นคือสติ แต่ไม่รู้ความต่างกันว่า สัมมาสติต้องเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดระลึกนั่นคือสติ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะหนึ่งสภาพธรรมะใดที่ปรากฏ ทางหนึ่งทางใด
ผู้ฟัง เรียนถามว่า ในขั้นของสติปัฏฐาน มีอาการ ๓ ที่แสดงไว้เมื่อกี้หรือเปล่า
ส. นี่คือกิจญาณ ขณะที่สติปัฏฐานระลึก
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าถอยกลับลงมาอีก อันนี้คือสรุปง่ายๆ ระหว่างที่ว่า สติปัฏฐานเป็นปัญญาที่ต่างกับวิปัสสนาญาณ ดิฉันอยากจะถอยลงมาถึงว่า สติซึ่งเป็นไปในทาน ศีลในขณะซึ่งเขาให้ทาน ขณะนั้นเป็นกุศลแน่ แล้วสติก็ทำหน้าที่ของสติ แต่ถ้าเผื่อผู้ที่ไม่ได้เรียนสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ยังเป็นเราให้ทาน เรียนถามว่า กุศลจิตมันอยู่ตรงไหน ในเมื่อเป็นเรา
ส. ตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นจิตประเภทต่างๆ
ผู้ฟัง นั่นสิคะ กุศลจิตของคนที่เขาให้ทาน
ส. ใช้คำว่ากุศลจิต คุณสุรีย์ จะเปลี่ยนกุศลจิตให้เป็นอกุศลจิตไม่ได้
ผู้ฟัง ไม่ได้ เรียนถามว่า เพราะฉะนั้น ในขณะที่เขาเกิด มันก็ต้องเกิดขณะซึ่งจิตสงบแล้วให้ทาน แต่เขาไม่รู้ หรืออย่างไร ตรงนี้ที่ดิฉันไม่เข้าใจ
ส. คำว่า สงบ หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วย จึงเป็นกุศล
ผู้ฟัง ขณะที่เขาให้ทาน คิดที่จะให้ทาน สติเกิดขณะนั้นสงบแล้ว แต่เจ้าตัวเขาไม่รู้
ส. ไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่ใช่ว่าต้องรู้
ผู้ฟัง แต่เขาก็จิตเป็นกุศลแล้วขณะนั้น
ส. จิตเป็นกุศลแล้ว ใครจะเปลี่ยนจิตนั้นให้เป็นอกุศลไม่ได้ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
ผู้ฟัง แต่ว่าเขาเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น หลังจากจิตขณะให้นั้นเป็นกุศล ต่อไปเขาก็รู้สึก เออนี่ เราให้ทาน มีอานิสงส์ ตอนนั้นไม่ใช่กุศลแล้ว
ส. เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ เมื่อศึกษาแล้วก็พอที่จะรู้ว่า ขณะที่ให้ทาน หรือวิรัติทุจริต หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นจาริตศีลเหล่านี้ก็เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยการศึกษา แต่ไม่ใช่โดยลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ เพราะว่าสติไม่เกิด ที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อสติเกิด ที่จะรู้ว่าขณะใด เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมก่อน
ผู้ฟัง สรุปก็คือว่า ในขณะที่ให้ทานนั้น จิตจะเป็นกุศลในขณะซึ่งสติทำงานของสติ คือ คิดให้ทานขณะนั้น หลังจากนั้น
ส. เวลานี้เรามีเห็น แล้วเราก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นวิบาก วิบากก็ไม่รู้ กุศลจิตก็ไม่รู้ อกุศลจิตก็ไม่รู้ เรารู้แต่เพียงชื่อว่า สภาพธรรมะใดดี สภาพธรรมะใดไม่ดี โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี เรารู้ชื่ออย่างนี้ แต่เราไม่รู้ขณะที่โลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิดว่า เป็นธรรมะ ในขณะที่กำลังโกรธ เราก็มีเห็นซึ่งเป็นวิบาก มีได้ยินซึ่งเป็นวิบาก
เพราะฉะนั้น การศึกษาก็คือให้ทราบขณะจิต แล้วก็ตัวอย่างชีวิตของแต่ละคนก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องไปหาที่ไหน แต่ว่าให้เข้าใจสิ่งซึ่งเรามีความติดข้องมากเหลือเกินตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อกี้นี้ขณะที่รับประทานอาหาร มีความติดข้องก็ไม่รู้ แต่เมื่อทรงแสดงก็รู้ว่า ขณะใดเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ขณะใดเป็นเหตุใหม่ ที่จะให้เกิดเป็นกรรม หรือว่าที่จะทำให้เกิดวิบากต่อไป
ผู้ฟัง ในขณะซึ่งวิรัติทุจริตอีก เราไม่ฆ่าสัตว์ ในขณะซึ่งเราคิดว่า เราไม่ฆ่า ตรงขณะนั้นจิตก็สงบเหมือนกับขณะที่ให้ทาน คือ สติเกิดเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้อีก
ส. ถ้าอย่างนั้น เราเรียนเรื่องวิบากก็มีประโยชน์ คือ ขณะใดที่เป็นเห็น ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต ตัวอย่างก็มีในชีวิตประจำวัน
ผู้ฟัง คือดิฉันกำลังจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ขณะซึ่งสติที่เป็นไปในทาน ในศีลนั้น เหตุซึ่งเราไม่รู้ เพราะว่าปัญญายังไม่เกิด
ส. เพราะไม่ใช่สติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ตอนนั้นปัญญายังไม่รู้ด้วยว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล แต่เขาก็เป็นแล้ว ตรงจุดนี้ที่ดิฉันต้องเรียนถามอาจารย์
ส. ถ้าศึกษาเรื่องจิต ตั้งแต่เกิดจนตายมีจิต ๔ ชาติ อย่างนี้ก็สบายแล้ว วิบากก็คือวิบาก กุศลก็คือกุศล อกุศลก็คืออกุศล กิริยาก็คือกิริยา