สิกขาทุรพล
คุณอดิศักดิ์ เอาสิกขาสูตรบทก่อน ว่าด้วยสิกขาทุรพล และธรรมสำหรับแก้ ข้อ ๒๖๗ ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาส ๑ สุราเมรัยมัชฌัตปมาทัฏฐาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละเหตุเครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และ โทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละเหตุเครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล
ข้อความก็มีอยู่เท่านั้น คือ สิกขาเหล่านี้จะทุรพล สติปัฏฐานก็ยังไม่มั่นคง พูดถึงสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็มานึกถึงเมื่อเช้านี้ จากวิทยุที่อาจารย์พูดอยู่ ก็พูดถึงในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่จำเป็นต้องไปใส่ชื่อว่า นี่เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ไม่ต้องไปคำนึงถึง ในขณะที่สติเกิดระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เรื่องสติปัฏฐาน ๔ ท่านอาจารย์สุจินต์เท่านั้นที่จะได้ขยายความได้ดีกว่า เชิญครับท่านอาจารย์
ส. ก็เป็นเรื่องที่หลังจากที่ได้ศึกษาได้เข้าใจสภาพธรรมะว่า ที่เราเคยหลงยึดถือว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งต่างๆ ก็คือสภาพธรรมะที่มีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ เช่นเสียง เราบอกว่า เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ก็ต้องทราบว่า จริงเมื่อไร เมื่อเสียงกำลังปรากฏ ขณะนั้นลักษณะของเสียงกำลังปรากฏให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่งซึ่งสามารถที่จะศึกษาให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมะนั้นได้
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง และกำลังปรากฏ ก่อนที่จะได้ฟังธรรมะ ก็ไม่สามารถที่จะรู้เลยว่า เป็นเพียงสภาพแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิด แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็ทราบว่า ทรงแสดงความละเอียดของสภาพธรรมะ ตั้งแต่เกิดจนตาย และทุกสิ่งทุกอย่างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงก็เป็นธรรมะที่หลากหลาย แต่ว่าถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะต่างกันไปโดยลักษณะอย่างมากเพียงใดก็ตาม แต่ว่าลักษณะแท้จริงคือว่า มีลักษณะเพียง ๒ อย่างประเภทใหญ่ๆ ก็คือ สภาพธรรมะหนึ่งแม้มีจริงเกิดขึ้นปรากฏแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ฟังก็เหมือนซ้ำ ก็พูดอย่างนี้ทุกวัน แล้วพูดมาตั้ง ๓๐ กว่าปี เช่น แข็งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง แล้วก็มีจริง ขณะไหน ขณะที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น จะไม่พูดได้ไหม จะไปพูดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้เข้าใจขึ้น ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แม้มีจริงก็ต้องในขณะที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทาง ก็เป็นการที่จะทำให้เราเข้าใจถูกว่า การฟังเรื่องสภาพธรรมะแล้วเข้าใจเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องปรมัตถธรรม ก็เป็นระดับขั้นหนึ่ง คือ เพียงเข้าใจเรื่องราวให้เข้าใจความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมะนั้นๆ แต่ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง ที่จะทำให้หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้เองก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป
เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของจิตในขณะนี้ เจตสิกในขณะนี้ รูปในขณะนี้ ก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งการอบรมเจริญปัญญา ข้ามขั้นไม่ได้ ไม่มีใครที่ไม่มีการศึกษา ไม่เป็นพหูสูตร ไม่เข้าใจสภาพธรรมะ แล้วจะไปประจักษ์ลักษณะธรรมะในขณะนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย หรือว่าจะไปคิดหวังคอยว่า จะไปประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมะที่อื่น ซึ่งไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมะอื่นยังไม่ได้ปรากฏ ขณะนี้กำลังอยู่ที่นี่
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะที่มีจริงที่นี่ในขณะนี้ แล้วอบรมเจริญปัญญา หลังจากที่ฟังเข้าใจเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมแล้ว จะค่อยๆ รู้จักลักษณะตัวจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อยโดยสติ ซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นโสภณธรรม เป็นธรรมะฝ่ายดีงาม ซึ่งจะเกิดเป็นสติปัฏฐาน คือ สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของสภาพธรรมะที่ปรากฏแต่ละทาง ต่อเมื่อได้ฟังธรรมะแล้วเข้าใจถ่องแท้จริงๆ ไม่ทำให้ไขว้เขว ไปคิดหวังว่า จะรู้สภาพธรรมะอื่น
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่การเข้าใจธรรมะถึงความเป็นอนัตตา ก็ต้องเป็นอนัตตาโดยตลอดตั้งแต่ต้น คือ ไม่ใช่เป็นการไปฝืน ไปบังคับ ไปพยายามด้วยความเป็นตัวตน ที่จะให้เกิดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมะ แต่เมื่อฟังแล้วเข้าใจ วันหนึ่งก็จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกซึ่งก็คือสติ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ให้มีตัวเราไปนั่งทำ หรือพยายามจะทำให้รู้ แต่ว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดเท่านั้น จึงจะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมะ และรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสติ