จิรกาลภาวนา
ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่ใช่เป็นเรื่องวันเดียว ๒ วัน ชาติเดียว แต่ว่าต้องเป็นเรื่องที่เป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้สภาพธรรมะกำลังปรากฏ แต่ว่าเพราะสติไม่เกิด ปัญญาไม่รู้ความจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมะแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟัง จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด คือ ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังทำกิจการงาน หรือว่ามีจริงๆ ในขณะนี้ เช่น เห็นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมะชนิดหนึ่งซึ่งทำกิจเห็น ไม่ใช่เราเห็น ถ้าไม่มีธาตุรู้ซึ่งสามารถที่จะรู้ทางตา คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ การเห็นก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นก็ให้รู้ความจริงว่า เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกขณะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ผู้ที่ตรงสามารถที่จะรู้ได้ว่า มีความเข้าใจ หรือว่ามีสติปัฏฐานเกิด มีการระลึก มีการศึกษาหรือไม่ ถ้ายัง ก็หมายความว่า ก็ฟังไปอีก เพราะว่าธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่มีตัวตนที่ห่วงกังวล ถอยหน้า ก้าวหน้า หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าเป็นเรื่องเข้าใจ เวลาที่ฟังก็ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าฟังเรื่องอนัตตาก็ต้องรู้ว่า อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น เมื่อเกิดปรากฏแล้วมีอายุที่สั้นมาก คือ ดับไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนามธรรม และรูปธรรม
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ก็เมื่อสภาพธรรมะกำลังปรากฏ มีความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ก็ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะทำ หรือว่าอย่างที่ว่า ไม่ให้ถามที่นี่ ความจริงก็ไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ไม่ให้ถามที่นี่ เดี๋ยวก็จะไปถามที่อื่น เพราะว่ายังสงสัยอยู่ แต่ตามความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น การฟังธรรมะเพื่อเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ถามในสิ่งที่กำลังฟังแล้วไม่เข้าใจ เพื่อจะได้เข้าใจขึ้น แล้วเมื่อฟังต่อไปก็จะเกิดความเข้าใจในเรื่องที่เคยฟังมาแล้วเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ผมฟังท่านอาจารย์ จิรกาลภาวนา พูดเป็นครั้งก็หลายร้อยครั้ง ผมเป็นลูกศิษย์หัวดื้อ ฟังทีไรก็อยากจะรู้เร็วๆ ทุกที
ท่านอาจารย์ เป็นเครื่องกั้น ยิ่งอยากรู้เร็ว ก็ยิ่งเป็นเครื่องกั้น เครื่องเนิ่นช้า
ผู้ฟัง เพราะว่าฟังศึกษาร่วมๆ กับน้องๆ หลานๆ เขาไปกันเร็วเหลือเกิน ไปจนกระทั่งเป็นวิถีจิต
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นที่คิดก็ไม่รู้ความเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง ก็มีท่านผู้ฟังถามมาว่า จะขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์สมพร ช่วยแปลคำว่า จิรกาลภาวนา
อ.สมพร จิรกาลภาวนา อาจารย์ก็พูดบ่อยๆ กาล ก็เวลา จีร ก็นาน คือสติปัฏฐานต้องอบรมกันเป็นเวลานาน คือ เจริญนั่นเอง อบรมคือเจริญ เราศึกษาสติปัฏฐาน โดยมากเรามีแต่เพียงสัญญา จำเท่านั้นเองว่า อย่างนั้น อย่างนี้ ยังไม่เข้าถึงปัญญาสักที ยังไม่ครบไตรสิกขา ทางตา เรายังไม่ครบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศึกษาทางตาต้องมี ๓ อย่าง บางทีเราก็ขาดปัญญาไป เรียกว่าจำเอา เรียกว่า บางทีก็มีศีลด้วย แต่ว่ามีแค่สัญญา ปัญญาไม่เกิด ก็ยังไม่สมบูรณ์ จีรภาวนา ที่อาจารย์พูดบ่อยๆ หมายความว่าต้องอบรมเป็นเวลานาน จีร แปลว่านาน
ท่านอาจารย์ นานแค่ไหน คงเคยฟังแล้ว ใช่ไหมคะ จับด้ามมีด จนกว่าด้ามมีดจะสึก นานไหม นี่คือ ความหมายของ จีรกาลภาวนา
อ.นิภัทร ในศัพท์นี้ เวลาท่านอาจารย์ท่านพูดคำว่า จีรกาลภาวนา เราต้องสังเกตฟังต่อไปว่า ไม่ใช่วันเดียวไม่ใช่ ๒ วัน ไม่ใช่ ปีเดียว ไม่ใช่ ๒ ปี นั่นคือคำขยายของคำว่า จีรกาลภาวนา คือ เป็นเวลานาน ท่านพูดว่า ไม่ใช่วันเดียว หรือ ๒ วัน คือ คำว่า จีรกาลภาวนา เพราะว่ามันต้องนานๆ