ศีลทางใจ
ผู้ฟัง ขอเรียนท่านอาจารย์ คือการที่จะเจริญสติปัฏฐาน แล้วต้องละเหตุ สิกขาทุรพล ขอให้ขยายความว่า สิกขาทุรพล เป็นอย่างไร
อ.ธนิต ถ้าสิกขาย่อๆ หมายถึง ศึกษา ทุรพล หมายถึงว่า ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น ในอันนี้ คือ ถ้าเผื่อผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล จะต้องมีคุณสมบัติ คือ คุณวิเศษในตน ซึ่งหมายถึง ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุรเมรัยมัชชัปปมาทัฏฐานา ทั้ง ๕ ประการนี้ ถ้าเผื่อยังไม่สามารถที่จะเข้าใจ ที่เป็นไปในสภาวะที่จะละ ที่จะเว้น หมายถึง เป็นนามธาตุ ที่เป็นจิต เป็นเจตสิก ให้เข้าใจ แล้วก็หมายถึงไม่มีกำลัง เมื่อไม่มีกำลังพระองค์ก็ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมที่แก้ ที่แก้ว่า ทำไม ถึงไม่มีกำลังที่จะไปรู้สภาวธรรมที่เป็นนามธาตุ ที่เป็นจิต เจตสิก ได้อย่างไร ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน นี่หมายถึงในที่สูตร บทนี้ เพราะฉะนั้น ความหมายของศัพท์ สิกขา หมายถึงศึกษา ทุรพล หมายถึงไม่มีกำลัง อันนี้ถ้าจะให้ดี ก็เรียนท่านอาจารย์สมพรขยายภาษาบาลีออกไป เรียนเชิญครับ
อ.สมพร ทุรพล มาจาก ทุ ภาษาสันสกฤษ ทุร บวกกับ พล พละ แปลว่ากำลัง ถ้าจะแปลก็มีความหมายว่า มีกำลังทราม หรือไม่มีกำลังเลย สิกขาก็สิ่งที่เราต้องศึกษา ถ้าเป็นศีล ศีล ๕ เบื้องต้น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อะไรก็แล้วแต่ เรียกว่า สิกขาบท สิกขาบท หมายความว่าทางของสิกขา บทของสิกขา สิกขาหมายถึง ๓ อย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา สิกขาทุรพล หมายว่า ไม่มีกำลัง ที่เราศึกษาไม่มีกำลัง เพราะมันล่วงกรรมบถไป ศีลขาดนั่นเอง จึงไม่มีกำลัง
ผู้ฟัง ที่ว่าศีล ก็คือเจตนา ชื่อว่าศีล จะเข้ากับลักษณะที่ท่านอาจารย์สมพรขยาย ความไหมครับ
ส. ไม่ทราบศีลคืออะไร เราตอบกันไปหรือยังให้ชัดเจน ศีล คือ การประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดมาแล้ว มีกาย มีวาจา ถ้าเป็นไปในทางทุจริต ก็เห็นได้ว่า คนนั้นมีอกุศลมาก แต่ว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญา หรือว่าการศึกษาธรรมะ หรือการมีชีวิตอยู่ ตามปกติ ที่เป็นนิจศีล ที่เรากล่าวถึง ก็เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการละ การคลายอกุศลเลย เป็นผู้ที่มากด้วยทุจริต หรืออกุศลกรรมบถ ก็ไม่มีทางที่ผู้นั้นมีความคิดที่จะละอกุศล แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่มองเห็นเข้าใจได้ว่า อกุศลจิตมีมากเป็นประจำ แล้วในบางกาลก็ล่วงเป็นทุจริตกรรม ทางกาย ทางวาจา ตามที่กล่าวถึงในเรื่องศีล ๕ ซึ่งถ้าเป็นการเว้นในชีวิตประจำวัน ก็คือเว้นกายทุจริต วจีทุจริต
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นจริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร แล้วจุดประสงค์ของการที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ทราบอยู่ว่าเป็นเรื่องของการที่จะละอกุศลตามลำดับขั้น คือ ละความเห็นผิด การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีศีล ซึ่งเป็นสิกขาบท บท คือ ข้อที่จะประพฤติปฏิบัติตามทางกาย ทางวาจา แล้วถ้ากล่าวถึง เจตนาศีล ไม่จำเป็นที่จะต้องไปขอ หรือว่าจะไปสมาทานที่ไหน เพราะเหตุว่าโดยศัพท์ สมาทาน ก็คือ การถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ อย่างบางท่านอาจจะตั้งใจว่าจะไม่ฆ่าสัตว์อีกต่อไป ขณะนั้นก็เป็นการถือเอา การที่จะละเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของเขา หรือบางท่านก็อาจจะเว้นอทินนาทาน หรือมุสาวาท ก็แล้วแต่ แต่ว่าถ้าตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถที่จะละอกุศลที่เป็นทุจริตเหล่านี้ได้โดยเด็ดขาด ที่จะละได้เด็ดขาดก็ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคล เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัจจัยที่จะกระทำทุจริต ก็จะไม่รู้ว่า ขณะนั้นยังมีเชื้อ ยังมีกิเลสที่สามารถจะทำให้การล่วงศีลเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อใดที่ไม่มีความเห็นผิด เป็นพระอริยบุคคล ศีล ๕ ก็จะสมบูรณ์
อ.สมพร เรารักษาศีลได้ ๒ วิธี ถ้าเรารักษาเพียงกายกับวาจา ท่านก็เรียกว่าศีล เพราะเราไม่ล่วงทุจริตทางกาย และวาจา แต่ว่าศีลที่เจริญสติปัฏฐาน ต้องรักษาถึงใจ
ผู้ฟัง ผมจะเรียนถามเรื่องศีล คือ มันมีรักษาทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทางกาย ผมเข้าใจแล้ว ทางวาจา เข้าใจแล้ว ทางใจถ้าเกิดมันเกิดทางใจ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ยังไม่ทันได้มีโทษ แต่ทีนี้ผมมาพิจารณาดู ถ้าทางมันเกิดทางใจ มันเป็นโทษอย่างไรครับ มันเป็นการว่า เราสะสมไว้เพื่อจะให้ออกมาทางกาย หรือทางวาจา อย่างนี้จะถูกไหม
ส. ปกติก็มีอกุศลจิตซึ่งพร้อมที่จะเป็นปัจจัย เมื่อมีกาลที่สมควรก็กระทำทุจริตได้ ถ้ามีมากๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วที่กล่าวถึงศีลเวลาที่เกิดทางใจ ก็คงจะหมายความถึงอินทรียสังวรศีล หรืออธิศีลสิกขา หมายความว่าเกิดพร้อมกับปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่ว่าสภาพธรรมะใดๆ เวลาที่อกุศลจิตเกิด โดยมากไม่รู้ ใช่ไหมคะว่า เป็นอกุศล หรือแม้ว่ากุศลจิตเกิด ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศล ก็ยังถามกันว่า เป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศลหรือเปล่า ก็เป็นคำถามโดยความไม่รู้ แต่การที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมะ ก็ต้องเป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะใดๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้วแล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร