จากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน
อ.วิชัย ขอเรียนถามท่านอาจารย์ที่ทรงแสดงเกี่ยวกับสภาพที่เป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้กับอยู่ในทุกขอริยสัจจะต่างกันอย่างไร
สุ. แต่ขอสนทนาย้อนกับคุณแสงธรรมก่อน คำถามของคุณแสงธรรมว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์หรือเปล่า แต่ว่าแต่ก่อนนั้นคุณแสงธรรมบอกว่าจิต เจตสิก รูป เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นขันธ์คืออะไร
ผู้ฟัง ตามที่เข้าใจตอนนี้คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ
สุ. แต่ต้องมีตัวสภาพธรรมซึ่งตอนนั้นคุณแสงธรรมก็บอกว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ อย่าง และสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดก็มีจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นก็คือเป็นจิต เป็นเจตสิก หรือเป็นรูป เอาชื่อออกให้หมดเลย ตำรับตำรา เรื่องราวทั้งหลายเพราะว่าจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่เข้าใจว่ามี ความจริงแท้ของสิ่งนั้นก็จะไม่พ้นจากลักษณะของสิ่งนั้นเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป นิพพานยังไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้ นอกจากนี้มีไหม ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม
ผู้ฟัง นอกจากนี้ไม่มี
สุ. ไม่มี เพราะฉะนั้นขันธ์ก็ต้องมีจริง เป็นอะไร ถ้าขันธ์มีจริง ขันธ์เป็นอะไร ถ้าจะตอบพอใจเฉยๆ ว่าเป็นทุกข์นี่ก็แสดงว่าความเข้าใจของเรา พื้นฐานของเรายังไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยิน ได้ฟังอะไรก็ตามแต่ต้องกลับมาที่ปรมัตถธรรมว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร ถ้าได้ยินคำว่า “ขันธ์” อาจจะไปพบคำแปลใช่ไหม สภาพธรรมที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ภายใน ภายนอก นั่นเป็นชื่อ เป็นการแสดงลักษณะของสภาพธรรมโดยประการที่ละเอียดขึ้น แล้วแต่ว่าบุคคลใดสามารถจะรู้ในลักษณะใดของขันธ์นั้นๆ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นทุกอย่างเป็นปรมัตถธรรมเมื่อเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อขันธ์มีจริง ขันธ์เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิต เจตสิก รูป
สุ. ในเมื่อขันธ์ก็คือจิต เจตสิก รูป เมื่อจิต เจตสิก รูป ไม่เที่ยง ขันธ์ก็ไม่เที่ยงด้วย คุณแสงธรรมจำแนกขันธ์ยังไงตามที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่เราจำแนกเอง แต่ทรงจำแนกไว้ว่าขันธ์ไม่เกิน ๕
ผู้ฟัง ใช่
สุ. เพราะฉะนั้นได้แก่ปรมัตถธรรมเท่าไหร่
ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม ๓
สุ. อะไรเป็นขันธ์อะไร อะไรเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง มีรูปขันธ์ และรูปปรมัตถธรรมทั้งหมด
สุ. ทำไมว่าเป็นรูปขันธ์
ผู้ฟัง ถ้าตามการศึกษาคือเป็นกองรูป
สุ. รูปทุกชนิดทุกประเภทเป็นอื่นไม่ได้เลยนอกจากขันธ์ที่เป็นรูปเท่านั้นเอง แล้วต่อไปอะไร
ผู้ฟัง เวทนาขันธ์
สุ. ได้แก่อะไร
ผู้ฟัง เวทนาเจตสิก สัญญาขันธ์
สุ. ได้แก่อะไร
ผู้ฟัง สัญญาเจตสิก สังขารขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง ที่ไม่ใช่เวทนา และสัญญา แล้วก็วิญญาณขันธ์ก็คือจิตทั้งหมด
สุ. แสดงให้เห็นว่าตอบได้ แต่ถ้าถามแสดงว่าเข้าใจหรือเปล่าใช่ไหม ตอบได้ว่าปรมัตถธรรมมี ๔ และก็ขันธ์มี ๕ ปรมัตถธรรมอะไรเป็นขันธ์อะไร แต่ถ้าถามว่าขันธ์เที่ยงไหม ถ้าเข้าใจจริงๆ คนที่ถูกถามก็จะงงเหมือนกันว่าทำไม ก็เข้าใจแล้ว ปรมัตถธรรมก็คือจิต เจตสิก รูป ไม่เที่ยง พอถึงขันธ์ก็จำแนกได้เป็น ๕ ขันธ์ แต่มีคำถามว่าขันธ์เที่ยงไหม ในเมื่อขันธ์ทั้ง ๕ ก็ได้แก่ปรมัตถธรรม ๓ ไม่เที่ยงนั่นเอง ตัณหาหรือโลภะเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์
สุ. เป็นสังขารขันธ์เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะปรุงแต่ง
สุ. เพราะไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ ตัณหาเป็นสังขารขันธ์ถูกต้องไหม โลภเจตสิกเป็นสังขารขันธ์เพราะว่า โลภเจตสิกนี่ก็เรียกได้หลายอย่าง โลภเจตสิกเที่ยงไหม ไม่เที่ยง จะไม่มีใครซึ่งอบรมเจริญปัญญาแล้วเห็นว่าโลภะเที่ยง ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ถูกต้อง
สุ. เพราะฉะนั้นไม่มีปัญหาเลยโลภะก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดแล้วก็ดับไม่เที่ยง แต่ตามที่ทรงแสดงอริยสัจก็โดยเหตุ และผลว่าสังสารวัฏที่จะดำเนินไปเพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะทุกข์
สุ. ทุกข์เป็นสมุทัยหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
สุ. เห็นเป็นสมุทัยหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
สุ. อย่างอื่นแม้ว่าจะเป็นธรรมที่เกิดดับเป็นปรมัตถธรรม และก็เป็นขันธ์ แต่ไม่ใช่สมุทัย ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้วนเวียนไปในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นการที่ทรงแสดงว่าโลภะเป็นสมุทัย ไม่ได้หมายความว่าผู้อบรมเจริญปัญญาจะไม่รู้ลักษณะของโลภะแล้วก็จะไม่เห็นว่าโลภะไม่เที่ยงใช่ไหม แล้วก็ไปเข้าใจอย่างเดียวว่าโลภะนั้นเป็นสมุทัย แต่แม้ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพโลภะก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่ายังมีโลภะความติดข้องในอะไรซึ่งต้องละ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ละสมุทัยก็ไม่มีทางที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะว่ายังติดในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นรูปขันธ์ เป็นอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ละโลภะ ตราบนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าโลภะเป็นสมุทัย
การละโลภะจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน ละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดซึ่งผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ยังมีโลภะที่เกิดร่วมเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งก็ต้องเจริญปัญญาเพื่อละความเป็นโลภะนั้นจึงจะถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล และพระอนาคามีบุคคล เมื่อเป็นพระอนาคามีก็ยังมีโลภะหลงเหลืออยู่ ด้วยเหตุนี้โลภะจึงเป็นสมุทัย ทรงแสดงโดยความเป็นเหตุเป็นผล สำหรับอริยสัจอีก ๒ นิพพานนี่แน่นอนเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสเพราะปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้วก็สามารถที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น แล้วหนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญก็คือมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้แสดงว่าเจตนาเป็นเหตุที่จะให้อบรมไปแล้วจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต้องเป็นมรรค ๘ องค์ได้แก่เจตสิก ๘ องค์
ที่มา ...