ไม่คิดถึงเหตุการณ์ เข้าใจจิตแต่ละประเภท
ผู้ฟัง กราบเรียนถาม จากการฟังธรรมะ ทราบว่า สัตว์ บุคคล เป็นความเห็นผิด ที่เรามองเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ทำไมการเจริญเมตตาที่เรามีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ไม่เห็นผิดอย่างไร ถ้าในลักษณะที่คำอธิบายที่ว่า ถ้าเรามองเห็นเป็นสัตว์บุคคลเมื่อไร เป็นความเห็นผิด
ส . คือต้องแยกกันเรื่องของเจตสิกที่มี ๕๒ ชนิด สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ ไม่ใช่ความเห็นผิด แล้วสำหรับเจตสิกที่เป็นทิจฉาทิฏฐิ หรือทิฏฐิเจตสิก ก็เป็นขณะที่เห็นผิด เป็นสภาพที่เห็นผิดจากความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงวิปลาส ไม่ใช่เฉพาะแต่ทิฏฐิอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามซึ่งเห็น หรือว่าได้ยิน สัญญาเจตสิกจะเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ แต่สำหรับทิฏฐิเจตสิก ต้องเกิดในขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาเข้าใจจริงๆ ก็จะทราบความหลากหลายของสัญญา ซึ่งเวลาที่เกิดกับอกุศล ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็มี ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่อกุศลจิต เกิด จะต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง
ผู้ฟัง กราบเรียนถามอีกข้อ จากการฟังธรรมแล้ว เกิดความเข้าใจว่า การศึกษาการเรียนทางโลก เรียนหนังสือ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเปล่าครับ
ส. ก็ต้องเป็นความละเอียด เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เวลาที่เราพูดถึงเรื่องราว แล้วก็จะให้วินิจฉัย ความจริงจิตเกิดดับสลับกัน ทั้งจิตที่เป็นผลของกรรม จิตที่เป็นกุศล อกุศล จิตที่เป็นกิริยา เพราะฉะนั้น การศึกษาโดยละเอียด จะทำให้เราไม่คิดถึงเหตุการณ์ แต่พยายามที่จะเข้าใจสภาพของจิตแต่ละประเภทให้ถูกต้องขึ้น มิฉะนั้นก็สับสน
คุณอดิศักดิ์ สมัยพระโพธิสัตว์ในชาดก ๕๕๐ ชาติ ท่านก็เรียนศิลปะทั่วไป ไม่ต้องห่วง
ส. แต่ต้องตรง ขณะที่เรียน ต้องตอบได้ว่า วิชาการทางโลกในขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ต้องเป็นผู้ตรง จิตเกิดดับเร็วมาก ถ้ามีการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด ก็จะเห็นการเกิดดับสลับกันที่มีทั้งกุศล และอกุศลด้วย