เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด


    ก็คงจะไม่ข้ามพยัญชนะ ที่ว่า เพื่อฟังธรรม และ ผู้นั้นคือภิกษุย่อมแสดงธรรม อันนี้คือสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาตั้งแต่ต้นว่า ธรรมะคืออะไรที่จะแสดง ก็คือสิ่งที่มีจริง แล้วก็ตามเหตุตามผลด้วย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ถ้าคนที่ฟังธรรมะแล้วเข้าใจ ศีลจะดีขึ้นไหม เพราะเหตุว่าธรรมดาไม่ใช่เรามุ่งไปหาการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีปัญญาขั้นต้น หรือว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ที่เคยเป็นเรา แล้วมีความสำคัญมาก แล้วก็มีความสำคัญตนด้วย แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือสภาพธรรมะที่น่ารังเกียจ เพราะเหตุว่าอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรละ

    เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนมีกาย มีวาจา แล้วก็ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมะจริงๆ ลองพิจารณาดูว่า กายวาจาของเรา เริ่มงามขึ้นบ้างไหม ถ้าเป็นคนที่กาย วาจา แต่ก่อนนี้เคยไม่ดี เคยพูดคำที่ทำให้คนอื่นระคายหู ไม่สบายใจ เราอาจจะเป็นคนที่มีอำนาจ สามารถที่จะสั่งการบอกอะไรก็ได้ แต่ว่าไม่คิดถึงใจของคนฟัง แล้วก็อาจจะใช้คำซึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ที่รับฟังคำนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร

    การเข้าใจธรรมะว่า ธรรมะมี ๒ อย่าง ธรรมะฝ่ายดี กับธรรมะฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น ธรรมะฝ่ายดี ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เมื่อมีความเข้าใจธรรมะ ทุกคนเสมอกัน มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีความรู้สึก รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะเห็นใจคนอื่นไหม กายวาจาของเราจะดีขึ้นไหมด้วย การอบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสที่จะถึงการดับกิเลส แต่ถ้าไม่มีการขัดเกลาเลย แล้วเราจะดับกิเลสได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะรู้ว่า เมื่อมีกาย แล้วก็มีวาจา แล้วก็มีความเข้าใจธรรมะขณะใด ขณะนั้นกายงาม วาจางามด้วย แต่ถ้าในขณะนั้นเป็นอกุศล กายวาจาก็ไม่งาม การกระทำทางกายก็อาจจะกระทบกระเทือนคนอื่น วาจาก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญาความเข้าใจ ต้องเข้าใจด้วยว่า ปัญญาทำให้ทุกอย่างที่เป็นอกุศลค่อยๆ ลดลง

    นั่นคือประโยชน์ของการฟังพระธรรมจริงๆ เพื่อการที่จะได้เข้าใจ แล้วปัญญาก็จะทำหน้าที่ของปัญญา อย่าไปคิดว่า กายอย่างนี้แหละ วาจาอย่างนี้แหละ ร้ายๆ อย่างนี้แหละ แล้วก็จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วจะไปดับกิเลสอะไร จริงๆ แล้วผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบัน ท่านละความเห็นผิด ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลย สักกายทิฏฐิ ที่จะเห็นว่า เป็นตัวเราจริงๆ เที่ยง อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา จะไม่มีเลย เพราะว่าเมื่อเริ่มเรียนรู้เรื่องสภาพธรรมะ ก็จะเข้าใจความหมายของธรรมะว่า เป็นธาตุหรือธรรมะซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะใดที่เกิดกับแต่ละคน ก็จะมีเหตุปัจจัยที่แต่ละคนได้สะสมมา ไม่ว่าจะคิด จะทำ จะพูดอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องของการสะสมที่ละเอียดมาก ซับซ้อนมาก ทั้งฝ่ายกุศล ทั้งฝ่ายอกุศล

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาธรรมะก็มีอัธยาศัยต่างกัน ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็มีกายวาจาที่ต่างกัน แต่ว่าแต่ละคนก็จะได้รับประโยชน์จากธรรมะ โดยที่ว่า เข้าใจจริงๆ ว่า อกุศลทั้งหมดต้องดับได้ ถ้ามีการอบรม แต่ถ้าไม่อบรม ก็จะเป็นอย่างนี้ เหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว แล้วก็จะเป็นต่อไปอีก ก็ไม่มีอะไรที่จะละคลายไป แต่ว่าเมื่อมีการเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็อาศัยพระธรรมเกื้อกูลที่จะไม่ละเลย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของทาน หรือว่าเป็นโอกาสของศีล

    แต่ว่าข้อความในอรรถกถาที่นี่กล่าวถึง ในส่วนศาสนธรรม ศีลเป็นเบื้องต้น เพราะทุกคนมีกาย มีวาจา สมาธิเป็นท่ามกลาง วิปัสสนาเป็นที่สุด

    เวลาที่มีกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตสงบ ที่ใช้คำว่าสมาธิที่นี่หมายความถึงเป็นกุศล เป็นความสงบ ไม่ใช่เป็นมิจฉาสมาธิ คือ มีความต้องการที่จะเพ่งจ้องที่หนึ่งที่ใด ไม่มีปัญญา ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะในขณะนั้น แต่มีความต้องการที่จะให้จิตอยู่ที่หนึ่งที่ใดแล้วก็เข้าใจว่า นั่นเป็นสัมมาสมาธิ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเหตุว่าขณะใดที่ กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ สมาธิ ที่นี่หมายความถึงสงบ แล้วก็วิปัสสนาเป็นที่สุดเพราะเหตุว่าจะต้องอบรมไป เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ

    แต่ว่าข้อความต่อไป ต่อจากนั้น คือ ต่อจากศีล ก็เป็นสมาธิ เป็นเบื้องต้น วิปัสสนาเป็นท่ามกลาง มรรคเป็นที่สุด คือไม่มีการหยุดที่จะอบรมเจริญเลย ถ้าเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมะ ก็อบรมเจริญต่อไป

    อีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนาเป็นเบื้องต้น มรรคเป็นท่ามกลาง ผลเป็นที่สุด อีกอย่างหนึ่ง คือ มรรคเป็นเบื้องต้น ผลเป็นท่ามกลาง นิพพานเป็นที่สุด

    นี่คือการที่จะอบรมจนถึงการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท


    หมายเลข 10248
    10 ส.ค. 2567