อะไรเกิด


    คุณอดิศักดิ์ จะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า การที่จะไม่เกิด ท่านอาจารย์จะให้ความรู้ตั้งแต่เริ่มรู้จักปรมัตถธรรม และการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน อย่างไร ครับผม

    ส. การไม่เกิดเป็นสิ่งที่ยาก ยากกว่าการเกิด เพราะว่าเมื่อมีปัจจัยแล้ว สิ่งนั้นก็ต้องเกิดขึ้น เป็นธรรมดา แต่การที่จะไม่ให้สภาพธรรมะซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดสืบต่อ แล้วดับหมด ไม่มีการเกิดอีกเลย ก็ต้องเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดง เราไม่สามารถที่จะพ้นจากการเกิดได้ เราก็ต้องเกิดอย่างนี้ เพราะว่าเคยเกิดมาแล้วนานแสนนาน ถึงแม้ว่าใครจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่มีเหตุที่จะให้เกิดก็ต้องเกิดเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทำไมเราถึงต้องเกิดบ่อยๆ แล้วก็เกิดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะออกจากการเกิด คือ ไม่ให้มีการเกิดอีกต่อไป ออกจากสังสารวัฏ ก็เป็นเพราะเหตุว่าเรามีความติดข้อง มีความพอใจ สังเกตดูได้ว่า ตั้งแต่เกิด เราต้องการหรือเราติดข้องอะไรบ้าง มากมายมหาศาลทุกวัน ไม่มีใครสักคน ซึ่งวันนี้ไม่มีความต้องการอะไร แต่ว่าความต้องการของเรา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วเราจะออกจากสังสารวัฏ หรือไม่เกิดได้ เมื่อไร เพราะเหตุว่าการเกิดย่อมมาจากความติดข้อง ไม่ว่าอะไรที่เรามีความต้องการ เราก็พยายามแสวงหาสิ่งนั้น หรือว่าทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น แล้วเราก็ยังต้องการอยู่ทุกวัน

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวคือต้องเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานแสนนาน กว่าจะได้รู้ความจริงของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ แล้วก็ทรงแสดงอริยสัจธรรม ซึ่งถ้าเราฟังแต่เพียงชื่อ เช่น ทุกขอริยสัจจะ หรือสมุทยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ และทุกขนิโรธคามีนีปฏิปทาอริยสัจจะ ถ้าพูดธรรมดา ก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพียงชื่ออย่างนี้ก็ต้องศึกษามาก ที่จะค่อยๆ เห็นตามความเป็นจริง

    อ.นิภัทร สูตรนี้ เหตุที่จะให้ปฐม คือ ต้นตอ หรือเหตุที่จะให้เกิดสุข ทุกข์ ผมเข้าใจว่า ปฐมนี้คงจะเป็นหลัก เป็นต้นตอ เป็นแดน เป็นก่อน เป็นครั้งแรก ที่จะให้เกิดสุขทุกข์ ที่นี้ว่าในพระไตรปิฎกจำข้อความได้ว่า ทุกขะเมวะหิ สัมโพติ นอกจากทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกขัง ติฏฏะ เวติจะ ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นดับไป นาญญัตะระ ทุกขา นิรุชฌะติ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ท่านพูดถึงเรื่องทุกข์ทั้งสิ้นเลย ไม่มีพูดถึงเรื่องสุขเลย ท่านอาจารย์อย่างนี้มันจะเกี่ยวกับอะไร อย่างไร

    ส. ก็คือความสุขนั้นชั่วคราว ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกเป็นสุขไม่ได้ยั่งยืนเลย แล้วก็ไม่มั่นคงด้วย เวลาที่มีความรู้สึกเกิดขึ้น ที่เป็นสุขนิดหนึ่ง ต่อจากนั้นก็อาจจะไม่สุขแล้ว หรือว่าแม้ว่าเราจะมีความสุขจากวัตถุสิ่งนี้ แต่พอผ่านพ้นไป วัตถุสิ่งนั้นก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขอีกแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็แสวงหาเพียงความรู้สึกที่เป็นสุขแล้วก็รู้ด้วยว่า ความรู้สึกเป็นสุขนั้นก็ไม่ยั่งยืน แต่ก็ยังติดข้องคือต้องการแสวงหาแต่เพียงความสุข

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเห็นความจริง ก็ต้องพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าที่ว่าเป็นความรู้สึกเป็นสุข แท้จริงคืออะไร เป็นเราหรือเปล่า บังคับบัญชาได้ไหม และสุขนั้นจะตั้งยั่งยืนตลอดไปได้หรือเปล่า เพราะว่าทุกคนเกิดมา ก็เพราะเหตุว่ามีจิต ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือเป็นนามธรรม มีแต่ร่างกาย สุขทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่ารูปเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น รูปไม่เห็น รูปไม่ได้ยิน รูปไม่ได้คิดนึก แต่ว่าธาตุหรือสภาพธรรมะที่มองไม่เห็น แต่เป็นสภาพที่สามารถที่จะเป็นสุข เป็นทุกข์ คิดนึก เห็น ได้ยินต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า ความสุขก็เป็นสภาพธรรมะชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ของใคร ตรงกับคำว่า อนัตตา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม เมื่อเกิดแล้วไม่เที่ยง แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งผู้มีปัญญา เห็นว่า แม้ว่าจะเกิดมา แล้วทุกวันก็มีชีวิตต่างๆ กัน บางคนก็มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ แต่ว่าบางชีวิตก็ประโยชน์น้อยมาก แล้วก็ต้องจากโลกนี้ไป โดยที่ว่าผู้ที่ทำประโยชน์ก็มีส่วนของประโยชน์ที่จะให้ผลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร มีแต่ความติดข้องในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุข แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ติดตามไปเลย มีแต่เพียงว่ามาสะสมความติดข้อง แล้วก็ต้องการความสุข แล้วก็แสวงหา แต่ความสุข บางคนก็ได้มาโดยชอบธรรม แต่บางคนก็ไม่ได้มาโดยชอบธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ความรู้สึกเป็นสุขเป็นสภาพธรรมะชนิดหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้วก็ไม่เที่ยง ต้องดับไป ในขณะนี้มีใครมีความรู้สึกเป็นสุขบ้างไหมคะ เห็นดอกไม้สวยๆ สุขไหมคะ ชอบ เดี๋ยวเห็นอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ดอกไม้ สุขหรือทุกข์คะ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็เป็นสุข ถ้าประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เป็นทุกข์ รวดเร็วมาก ทางตาเห็นสิ่งที่ชอบใจ ทางหูอาจจะได้ยินเสียงที่ไม่ชอบใจ

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่เห็นเพราะปัจจัยอย่างหนึ่งจึงทำให้เกิดความพอใจ ในขณะที่ได้ยินเพราะปัจจัยอีกอย่างหนึ่งจึงทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น สุขกับทุกข์มี เมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเกิดของสุข และทุกข์ สุข และทุกข์ก็ไม่มี

    นี่เป็นแต่เพียงสภาพธรรมะหนึ่ง แต่ว่าสภาพธรรมะทุกอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่สุข และทุกข์เท่านั้นที่เกิด ยังมีสภาพธรรมะอื่นๆ อีกมากซึ่งเกิด แต่ว่าเมื่อเกิดแล้วด้วยความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา เช่นความรู้สึกเป็นสุข ของใครคะ ของเรา ทั้งๆ ที่ความรู้สึกเป็นสุข เกิดแล้วดับไปแล้ว อยู่ที่ไหน ไม่มีเหลือเลย มีแต่สภาพธรรมะที่เกิดใหม่สืบต่ออยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเข้าใจจริงๆ ด้วยการศึกษาให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมะที่เกิด และดับ เพราะฉะนั้น ความเกิดดับของสภาพธรรมะซึ่งสั้นมาก เร็วมากจะมีประโยชน์อะไร นอกจากเป็นทุกขลักษณะ คือทุกข์แท้ๆ ทุกข์จริงๆ

    เป็นแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมะจริงๆ เมื่อเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยจะใส่ใจในใคร หรือในความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของใคร ขณะนั้นก็ดูข้างนอกก็เหมือนกับว่าเป็นผู้ที่อุเบกขา แต่ว่าความจริงขณะนั้นเป็นอะไรใครจะรู้ เพราะเหตุว่าอกุศลมีถึง ๓ ประเภท โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นรากเง่าหรือมูลเหตุของอกุศลทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังพระธรรมเรื่องนี้ ก็ทราบได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมะ คำว่า “ตรัสรู้” ไม่ใช่โดยการไตร่ตรอง ไม่ใช่โดยการใคร่ครวญคิด พิจาณาแล้วก็ออกมาเป็นคำเทศนา แต่ว่าเป็นการที่ทรงแสดงพระธรรมตามความเป็นจริงของธรรมะนั้นๆ ตามที่ได้ทรงตรัสรู้

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เราเรียนเรื่องราวของสภาพธรรมะ แต่ใครจะรู้จริงๆ ต้องเป็นบุคคลนั้น ในขณะนั้นด้วยปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่เราเอาเหตุการณ์หนึ่งมาวิเคราะห์ว่า ขณะนี้จะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล ถ้าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อฟังธรรมะแล้วก็รู้ว่า ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงแสดงโทษของอกุศลทั้งหลาย แล้วก็ทรงแสดงประโยชน์ของกุศลทั้งหลายไว้ในพระไตรปิฎกครบถ้วน แต่ใครปฏิบัติตามได้ ทั้งๆ ที่อ่านแล้ว กี่เล่มก็ตามแต่ โลภะก็มี โทสะก็มี โมหะก็มี เพราะว่ายังไม่ได้ดับ

    เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าเพียงแต่เราฟังเรื่องราว แล้วเราก็เป็นผู้รู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง แต่สภาพธรรมะตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร การศึกษาธรรมะ มี ๓ ระดับ คือ ระดับที่เป็นปริยัติ ได้แก่การเล่าเรียนพระธรรม การฟังในขณะนี้เป็นปริยัติ เรื่องของสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ขณะนี้มีสภาพธรรมะที่มีจริงๆ แล้วเราก็ฟังเรื่องจริงของสภาพธรรมะนั้น แต่ไม่รู้ตัวจริงของธรรมะซึ่งกำลังเกิดดับ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป

    เพราะฉะนั้น การที่เราจะฟังธรรมะ เราก็รู้ว่า การฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อฟังแล้ว เราไปเป็นผู้ที่วางเฉยได้ หรือว่าเป็นเมตตาบ้าง เป็นกรุณาบ้าง เป็นมุทิตาบ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า ขณะนั้นมีปัจจัยที่อะไรจะเกิด จึงเห็นความเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมะทั้งหลายได้


    หมายเลข 10253
    10 ส.ค. 2567