ตามการปรุงแต่งของจิต


    คุณเรณู ท่านอาจารย์คะ มีคำถามต่อ แต่เป็นอีกท่านหนึ่ง แต่ว่าถามในเรื่องคล้ายๆ กัน การสะสมในชาตินี้ ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือว่าไม่ดี ทั้งที่เราก็รู้ว่าสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เราก็ยังทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่เป็นประจำ เราควรจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร หรือน้อมคิดอย่างไร จึงจะทำให้การประพฤติปฏิบัติตนน้อมไปในทางที่ดีขึ้น

    ส. ทำคงไม่ได้ แต่อาศัยการอบรม ถ้าทราบเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเราได้ยินอีกนัยยะหนึ่งบ่อยๆ คือ ปรมัตถธรรม ๓ จิต เจตสิก รูป จำแนกโดยนัยยะของเทศนาของการยึดมั่นในปรมัตถธรรม ๓ นี้โดยนัยยะของขันธ์ ๕ ก็คือ รูปทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรูปในอดีต หรือรูปปัจจุบัน หรือรูปอนาคต เป็นรูปเลว หรือรูปประณีต หรือรูปหยาบ หรือเป็นรูปละเอียด หรือเป็นรูปใกล้ รูปไกล คือไม่ว่า จะเป็นชนิดหนึ่งชนิดใด เป็น รูปขันธ์ หมายความว่าเป็นส่วน หรือเป็นประเภท หรือเป็นกองของรูป เท่านั้นจะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นี่ก็เป็นรูปขันธ์ ส่วนจิตก็เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะคำว่าจิตกับวิญญาณ ความหมายเหมือนกัน

    สำหรับเจตสิก ๕๐ เป็นเวทนาขันธ์ ๑ ได้แก่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิกก็เป็นสัญญาขันธ์ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาเขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญาณขันธ์ ๑ ไม่มีเราที่จะทำเลย ใช่ไหมคะ ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือปรมัตถธรรม ที่จำแนกโดยการยึดมั่นในรูป ในเวทนา คือ ความรู้สึก ในสัญญา คือ ความจำ ในสังขารขันธ์ สุขทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น โลภะ โทสะโมหะ พวกนี้ ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ แล้วก็วิญญาณขันธ์

    รูปขันธ์ไม่สามารถที่จะสะสมหรือทำอะไรได้เลย เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ เวทนาขันธ์ก็เป็นเพียงความรู้สึก ขณะใดที่รู้สึกดีใจเสียใจแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่ได้สั่งสมอะไร สัญญาขันธ์ จำ

    เพราะฉะนั้น สัญญาขันธ์เป็นธรรมะที่ปรุงหรือว่าช่วยสังขารขันธ์ตามสัญญาความจำ เมื่อจำอย่างไร เวลาที่จะคิด จะนึก จะตรึกตรองก็ตามที่สัญญาจำ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่เรากำลังฟังพระธรรม ถ้าใครมีสัญญาที่จำ แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองเห็นประโยชน์จริงๆ แล้วขณะนั้นสังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่ง ไม่ใช่เราเลย แล้วแต่ว่าจะพิจารณามากน้อยแค่ไหน เห็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ขณะต่อไปก็เป็นขณะที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งแล้ว

    เพราะฉะนั้น ตัวของเรา บางขณะก็เป็นไปด้วยโลภะ บางขณะก็เป็นไปด้วยโทสะ บางขณะก็เป็นไปด้วยสติ และปัญญาตามการสะสม ซึ่งเราอยากจะให้มีปัญญามากๆ กันทุกคน แต่ก็เป็นไปไม่ได้ แล้วแต่สังขารขันธ์ แล้วแต่ว่าแต่ละครั้งที่ได้ยินได้ฟังมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ขณะนั้นไม่ใช่คิดว่า เราจะทำ แต่เป็นความเข้าใจถูก ไม่ว่าจิตใจของเราถูกปรุงแต่งแล้วเป็นอย่างไรเกิดขึ้น ขณะนั้นเราก็รู้ว่าเพราะเหตุปัจจัย เช่นถ้าวันนี้ไม่ได้ฟังเรื่องนี้ จะคิดเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังแล้วจำได้ แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณาถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่ใช่เป็นประโยชน์ สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งที่จะให้สภาพธรรมะต่อไปเกิดขึ้น


    หมายเลข 10266
    10 ส.ค. 2567