เรื่องราวไม่มีลักษณะ


    ผู้ฟัง อันนี้ซิครับที่เป็นที่ว่า จะใช้สติไประลึกหรือน้อมที่ตรงไหน ที่เป็น วิเสสลักษณะ หรือเป็นสามัญลักษณะ อาจารย์ช่วยอธิบาย บรรยายให้ลึกหน่อยครับ กราบท่านอาจารย์สุจินต์ครับ

    ส. ค่ะ ได้ยินคำว่า “โยนิโส” ก็ยังไม่ทราบใช่ไหมคะว่าหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง พิจารณา ใช่ไหมครับ

    ส. ถ้าแปลรวมๆ ไม่ได้แยกศัพท์ โยนิโสมนสิการ มนสิการหมายความถึงการสนใจ ใส่ใจ พิจารณาด้วยความแยบคาย คือ ด้วยความถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมะนั้น แต่ว่าขณะที่กำลังคิดจะโยนิโส นี่เป็นคิด ไม่ใช่โยนิโสมนสิการเจตสิก คือ ไม่ใช่เจตสิกที่ทำหน้าที่นี้ แต่ว่าเป็นตัวตนที่จะทำหน้าที่แทนเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า สภาพธรรมะทั้งหมด ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดแล้ว เช่นในขณะนี้เกิดแล้วทุกๆ ขณะ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะไปบังคับ หรือไปพยายามผันแปร ไม่เช่นนั้นแล้ว คนก็ต้องมีกุศลจิตตลอดเวลา เพราะว่าสามารถจะโยนิโสให้เป็นกุศล แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เวลาที่มีเหตุปัจจัยที่อกุศลเกิดแล้ว ใครทำให้อกุศลนั้นเกิด เราทำให้อกุศลเกิด หรือว่าใครทำ ถ้าไม่มีปัจจัย เช่นพระอรหันต์ซึ่งท่านดับกิเลสหมดแล้ว อย่างไรๆ อกุศลสักประเภทเดียวก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีปัจจัยที่จะเกิด ดับกิเลสหมด แต่สำหรับคนที่ยังมีกิเลส ไม่จำเป็นต้องไปคิดจะโยนิโส หรืออโยนิโส เพราะเหตุว่าถ้าคิดอย่างนั้นก็หมายความว่า เราจะทำด้วยความเป็นอัตตา คือ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงขณะของธรรมะได้ แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร จะเป็นอกุศล หรือกุศลอย่างไรก็เพราะสะสมมาที่เจตสิกนั้นๆ จะเกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เราทำ แต่ว่าเป็นสภาพของธรรมะ คือ จิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจการงานของสภาพธรรมะนั้นๆ เช่นจิต จิตเห็น ใครจะทำหน้าที่แทนจิตนี้ได้ หรือโลภะเกิดขึ้นติดข้อง ติดแล้ว ขณะที่เกิดก็ติดทันที เพราะว่าลักษณะของโลภะเป็นสภาพที่ติด เมื่อเกิดแล้วต้องติดข้อง แล้วใครจะไปทำลักษณะติดข้องให้เป็นเราทำได้ ไม่มีใครที่สามารถจะทำอะไรได้เลย แต่สามารถที่จะอบรมสะสมความเข้าใจให้เข้าใจธรรมะว่า เป็นธรรมะจริงๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจใน ความหมายขอคำว่า “อนัตตา” คือไม่มีเจ้าของ และไม่ใช่ของใคร ถ้าเป็นสภาพธรรมะที่มีปัจจัยเกิดก็เกิด แต่ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด

    อ.นิภัทร ผมก็ขอสนับสนุนท่านอาจารย์โดยจะวิเคราะห์เรื่องศัพท์ คำว่า “โยนิโส” ที่คุณสุกิจพูด โยนิ แปลว่า ต้นกำเนิด หรือแหล่งที่มา ต้นตอ โส แปลว่าโดย บูรพาจารย์ อาจารย์ก่อนๆ ท่านสอนลูกศิษย์ว่า ให้แปลว่าโดยอุบายอันแยบคาย คำว่า โยนิโส นี่นะ ตัวเดียว แปลว่า โดยอุบายอันแยบคาย โยนิ แปลว่าต้นตอ หรือแหล่งกำเนิด โส แปลว่าโดย รวมกันแล้ว เป็นโยนิโส แปลว่า โดยอุบายอันแยบคาย บูรพาจารย์ท่านให้แปลอย่างนี้ เราก็แปลมาอย่างนี้ แต่ว่าความหมายของศัพท์คำว่า โยนิ แปลว่าต้นตอ หรือแหล่งกำเนิด โส แปลว่าโดย นี่แปลตามตัว เมื่อมาบวกเข้ากับ มนสิการ มนสิ แปลว่า ในใจ การ แปลว่ากระทำ รวมกันเป็น โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือมองให้ถึงต้นตอ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ต้องถึงรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมะ ถ้าไม่รู้ มันจะโยนิโสไม่ได้ นอกจากคิดเอา

    ส. คุณสุกิจคงอยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ใช่ไหมคะ เวลาที่บอกว่าปวดคอ แล้วก็จะระลึกลักษณะอะไร ถ้าคุณสุกิจไม่คิดถึงคอ แล้วก็ความปวด เขาก็จะมีลักษณะเฉพาะของเขา ซึ่งไม่เป็นอย่างอื่นเลย สภาพของความปวดจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เวลาที่เกิดปวดขึ้นก็จะมีลักษณะของปวดปรากฏ แต่โดยมากเรามักจะไปคิดถึงเรื่องราวว่า ปวดคอ แต่ถ้าพิจารณาลักษณะของความปวดจริงๆ เท่านั้นว่า ลักษณะของสภาพธรรมะนี้มีลักษณะอย่างนี้ ก็จะเห็นความเป็นธรรมะว่า ใครสร้างความปวดนี้ขึ้นมาได้ ไม่มีใครสร้างธรรมะอะไรขึ้นมาได้เลยสักอย่างเดียว แม้แต่ความรู้สึกปวดก็เกิดขึ้นแล้วปรากฏ ถ้ายังไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วลักษณะของปวดก็จะไปเปลี่ยนเป็นลักษณะของสุขหรือทุกข์ก็ไม่ได้ ลักษณะของสภาพธรรมะนั้นกำลังแสดงความเป็นธรรมะที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วเวลาที่คิดถึงคอ ลักษณะของคอเป็นอย่างไร เมื่อกี้มีลักษณะปวดแล้ว ใช่ไหมคะ เป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาสามารถจะประจักษ์ทุกขเวทนา หรือความรู้สึกปวด ซึ่งเหมือนมาก แต่ว่าความจริงแล้วต้องเกิดดับสืบต่อเพิ่มขึ้น จนกระทั่งปรากฏเป็นความปวดมาก แต่ว่าเวลาที่ระลึกถึงคอ ไม่เกี่ยวกับปวดแล้ว ใช่ไหมคะ ลักษณะของคอเป็นอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง มันก็ไม่รู้หรอกครับ

    ส. ก็เป็นเรื่องราว ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น เรื่องราวไม่มีลักษณะ จะเรียกว่าคอ จะเรียกว่าแขน ไม่มีลักษณะ แต่ลักษณะจริงๆ เมื่อสัมผัส กระทบ จะมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวทั่วตัว แต่เราไปทรงจำไว้ว่า นี่เป็นคอ แต่เวลาที่มีลักษณะของสภาพธรรมที่แข็งเกิดขึ้น ถ้าไม่มีรูปอื่นปรากฏเลย จะเรียกตรงนั้นที่แข็งว่าคอ ได้ไหมคะ เพราะว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพนั้นเป็นอย่างนั้น จะต้องเอาสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมดออก เพราะว่าความจริงไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมะแต่ละลักษณะซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่างเท่านั้น แต่ละอย่าง ปรากฏจริงๆ แต่เพราะเหตุว่าความรวดเร็วก็ทำให้รวมกัน เป็นปวดคอ แต่ว่าตามความเป็นจริง ปวดก็อย่างหนึ่ง และที่ว่าเป็นคอมีลักษณะอย่างไร เวลาที่มีสภาพธรรมะปรากฏ คอมีไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็มีแต่จำ ความจำว่า เป็นคอ

    ส. ค่ะ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจความหมายของอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รูปร่างทั้งแท่ง แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมะใดปรากฏ ก็มีความเข้าใจชัดเฉพาะในลักษณะนั้น แล้วก็ไม่มีเราตรงนั้นด้วย เราอยู่ที่ไหนตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่ได้ปรากฏเลย ปรากฏเฉพาะส่วนที่แข็งที่กำลังปรากฏ แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรมะของสภาพธรรมะที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ที่ปรากฏให้ศึกษา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ เป็นความรู้แจ้งชัดประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงทางมโนทวาร หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมะนั้นจริงๆ จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณได้

    ผู้ฟัง ครับ ลักษณะแข็ง

    ส. ลักษณะเจ็บ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แข็ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครทำแข็ง ใครสร้างแข็ง ใครจะโยนิโสมนสิการให้แข็งเกิดก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง นี่คือลักษณะเฉพาะ

    ส. ค่ะ ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมะแต่ละอย่าง ขณะที่กำลังเข้าใจ คุณสุกิจต้องโยนิโสหรือเปล่าคะ หรือว่าเกิดความเข้าใจเพราะฟังแล้วพิจารณา ถ้าเกิดไม่เข้าใจขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่พอเข้าใจก็ไม่ใช่คุณสุกิจทำ แต่ว่าเพราะการสะสมมา การฟังเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏได้ตามลำดับ

    ผู้ฟัง สติระลึกหรือน้อมไปที่เวทนา คือความปวด มันก็จะหายไปหรืออย่างไรครับ

    ส. สภาพธรรมะทุกอย่างเกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง มันจะหายไปหรืออย่างไรครับ มันจะค่อยยังชั่ว หรือบรรเทาไปหรืออย่างไร

    ส. เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ เข้าใจสิ่งที่มีอยู่มากน้อยแค่ไหน ขั้นฟังเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ลักษณะบางอย่างเป็นนามธรรม ลักษณะบางอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีแต่นามธรรมรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะที่เป็นนามแต่ละอย่าง ที่เป็นรูปแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เพียงแต่รู้อาศัยพยัญชนะนี้แหละ รู้ว่าเป็นรูป หรือเป็นนาม เท่านั้นเอง

    ส. ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมะก็เป็นอย่างนั้น อย่างแข็ง ลักษณะสภาพแข็งไม่ใช่สภาพรู้ แต่สามารถปรากฏเมื่อกระทบกายซึ่งมีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว แข็งจึงจะปรากฏได้ ถ้าที่ใดที่ไม่มีกายปสาท แข็งก็ปรากฏไม่ได้


    หมายเลข 10268
    10 ส.ค. 2567