ที่ตั้งของสติ
ผู้ฟัง ถามว่า สติปัฏฐาน คือที่ตั้งของสติ เป็นอย่างไร
คุณอดิศักดิ์ ที่ตั้งของสติปัฏฐาน ก็มี ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ถ้าละเอียดก็ต้องท่านอาจารย์
ส. ต้องทราบว่าสติคืออะไร เป็นเราหรือเปล่า ธรรมดาสติเป็นโสภณเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต เป็นสภาพธรรมะฝ่ายดี หมายความถึงขณะใดที่เกิดสติ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะโดยประการที่เป็นกุศลขั้นต่างๆ เช่น สติที่เป็นไปในทาน มีการระลึกที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ เราก็มีอกุศลมาก ของเราทั้งนั้นเลย แล้ววันไหนจะให้อะไรใคร ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการให้แน่นอน ไม่มีการที่จะเป็นกุศล คิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น แล้วก็ต้องการให้สิ่งนั้น เพื่อเขาจะได้มีความสุข เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมะ ลักษณะของสติจะต้องเป็นธรรมะฝ่ายดี แม้เป็นไปในเรื่องของทาน แม้เป็นไปในเรื่องของศีล แม้เป็นไปในเรื่องความสงบของจิต แต่ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นเรื่องของการที่เคยฟังธรรมะ จนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างในขณะนี้มีจริง เป็นสภาพธรรมะแต่ละอย่างๆ เฉพาะอย่าง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา มี เห็นก็มี แต่ไม่เคยรู้ความจริงของเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะพอเห็นแล้วก็จำได้เลยว่า เป็นอะไร เป็นเรื่องราว เป็นชื่อของสิ่งของต่างๆ เป็นของคนต่างๆ เรื่องราวที่ตามมาจากการเห็นเยอะมาก จึงไม่ได้รู้ความจริงของเห็น แล้วสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน จะเกิดได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจในสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เป็นตัวตนซึ่งเราจะทำให้สติปัฏฐานเกิด เพื่อเราจะได้รู้การเกิดดับของสภาพธรรม เพื่อเราจะได้หมดกิเลส นั่นเป็นเราทั้งหมด ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาจะรู้ถึงเหตุ จะรู้ถึงลักษณะว่า สติปัฏฐานไม่ใช่ตัวตน แล้วเมื่อไรที่มีการระลึกจากการฟังแล้วเข้าใจว่า ขณะนี้หรือขณะไหนก็ตามทั้งหมดเป็นธรรมะ มีลักษณะปรากฏจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นการบังคับด้วย แต่มีปัจจัยที่มีการระลึกลักษณะของธรรมะที่กำลังปรากฏ อย่างเมื่อกี้นี้เรื่องปวดคอ ถ้าปวดไม่เกิด จะระลึกลักษณะของปวดได้ไหมคะ ไม่ได้เลย แต่ปวดเกิดแล้วไม่ระลึกได้ไหมคะ ได้ เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก เพียงแต่ฟังแค่นี้ แล้วก็หวังว่า พอปวดขึ้นมาเมื่อไร ก็จะให้สติปัฏฐานระลึก นั่นคือความเป็นเราที่มีความหวัง แต่ว่าไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า เวลาที่สติปัฏฐานระลึกคือลักษณะอย่างไร คือไม่ใช่มีการบังคับ แล้วไม่ใช่มีเราจะทำ แต่ว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดก็ทำหน้าที่ คือ ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นธรรมะ เราไม่ต้องแยกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรมะก็ได้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่ที่ทรงแยกไว้เป็นประเภท ก็เพราะเหตุว่ามีการยึดถือสภาพธรรมะนั้นๆ ก็ควรจะได้พิจารณาสภาพธรรมะนั้นๆ เป็นส่วนๆ ไป เท่านั้นเอง