ปัญญารู้อะไร


    อ.วิชัย อกุศลเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ อหิริกะ และอโนตตัปปะ ถ้ากล่าวถึงอกุศลกรรมอย่างเช่น ปาณาติบาตหรืออทินนาทาน ก็มีความรู้สึกที่ไม่ควรประพฤติในสิ่งนั้น ก็เกิดหิริโอตัปปะ แต่ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่น่ายินดี เช่น รูปที่พอใจ หรือว่าเสียงที่น่าพอใจ ขณะที่ยินดีเพลิดเพลินก็ไม่เห็นขณะที่เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ

    สุ. ไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น ไม่เห็นจึงไม่ละอายที่จะยินดีติดข้อง สิ่งที่เป็นโทษเราควรจะเห็นตามความเป็นจริง หรือว่าทั้งๆ ที่เป็นโทษก็ยินดีติดข้อง

    อ.วิชัย คือขณะนั้นก็ไม่เห็นโทษ

    สุ. จึงเป็นอหิริกะ

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงอย่างหยาบ เช่นปาณาติบาต อทินนาทาน ก็รู้สึกว่าไม่ควรกระทำ

    สุ. แต่ว่าปาณาติบาตเกิดจากอะไร

    อ.วิชัย โทสะ

    สุ. แล้วโทสะมูลจิตเกิดจากอะไร

    อ.วิชัย โมหะด้วย แล้วก็อหิริกะ อโนตัปปะด้วย

    สุ. แล้วก็โลภะด้วย

    อ.วิชัย หมายความว่าต้องมีปัญญาในระดับที่สามารถจะเห็นโทษแม้ขณะที่พอใจ

    สุ. ความคิดของชาวบ้านกับการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องต่างกัน เพราะฉะนั้นผู้อื่นก็อาจจะคิดว่าแค่นี้ไม่เป็นไร แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่ากิเลสแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นสิ่งที่ควรจะดับเป็นสมุจเฉท เพราะถ้ายังไม่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังสารวัฏไม่สิ้นสุด ซึ่งก็ทำให้มีทุกข์ทุกครั้งที่มีการเกิด เพราะทุกข์นั่นแหละเกิด ทุกข์นั่นแหละดับไป สิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นเป็นทุกข์เพราะเกิดแล้วก็ดับ การประจักษ์แจ้งความจริงต้องฟังจนกระทั่งสามารถที่จะอบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกตรง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราไม่สามารถจะละโลภะ โทสะ ในระดับขั้น แล้วแต่จะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ แต่ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเข้าใจความจริงอย่างนี้ด้วย จึงจะค่อยๆ อบรม และเห็นโทษจริงๆ ถ้าเราไม่เห็นโทษ วันหนึ่งเราก็เพลิดเพลินไป ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะคนที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี แล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรที่เต็มหรือพอ โลภะเกิดขึ้นยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ ยินดีต่อไปอีกๆ ไม่มีวันจบ ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่เห็นโทษของโลภะ เราก็จะเพลินไปด้วยความติดข้อง แต่ถ้ามีปัญญา เราเริ่มที่จะคลาย ทั้งๆ ที่พอใจ แต่ความพอใจของเราก็ไม่ถึงกับไม่มีไม่ได้ มีก็พอใจ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ถึงกับต้องไปขวนขวายเหมือนเดิม เหมือนเก่า ซึ่งเคยไม่มีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ปัญญานั่นเองที่จะทำหน้าที่ของปัญญา แต่ถ้าไม่มีปัญญา อะไรจะไปลดไปละแม้เพียงในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้ แต่พอมีปัญญา ก็จะเห็นได้เลยว่า ไม่มีใครที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ถ้าไม่ใช่พระอนาคามี แต่ว่าสามารถที่จะเห็นโทษ แล้วก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นปัญญาที่ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ถึงระดับที่แม้ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อนถ้าสิ่งนั้นหมดไป หรือว่าไม่จำเป็นต้องติดข้องอย่างมากๆ คลายขั้นคิด แล้วก็ยังคลายด้วยการอบรมเจริญปัญญา ที่ก่อนอื่นไม่ใช่ไปละโลภะ โทสะ โมหะให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่ต้องละการไม่รู้ และการเข้าใจผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนซึ่งใหญ่มาก เป็นเราไปเรื่อยๆ ทุกวัน ทั้งๆ ที่ได้ฟังว่าเป็นธรรมะ และก็เป็นธรรมะแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะ แต่ละทางด้วย เช่นทางตา เพียงสิ่งที่ปรากฏ หลับตาก็ไม่มี แต่ในความทรงจำนั้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทันทีที่ลืมตาก็เป็นคนเป็นเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นก็คือกำลังค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทีละน้อย แต่ว่า ถ้าผลยังไม่เกิดที่จะสามารถรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางมโนทวาร เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณเราก็อาจจะคิดว่าไม่ใช่หนทางเสียแล้ว ตราบใดที่ผลยังไม่เกิดก็คิดว่าไม่ใช่หนทาง แต่ว่าถ้ามีความมั่นคงว่าปัญญารู้อะไร จะพ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ไม่มีอะไรอื่นอีกแล้วที่ปัญญาจะต้องรู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ แม้ความรู้คือสติสัมปชัญญะเกิดเพียงเล็กน้อยแล้วก็หมดไป ก็เป็นผู้ที่รู้ความจริง มีฉันทะอย่างยิ่งที่จะอบรมการที่สติเกิดไม่หลงลืมว่าขณะนั้นแหละเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าขณะนั้นสิ่งนั้นดับไปแล้ว สิ่งอื่นปรากฏ มีความคิดต่างๆ ซึ่งถ้าไม่รู้ว่าความคิดเป็นแต่เพียงสภาพธรรมะก็เป็นเราไปอีก มากมาย แต่ว่าความจริงก็ต้องรู้จนทั่ว จึงจะสามารถดับการยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเราได้ ไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏ นี่ก็เป็นหนทางที่ต่างกันของผู้ที่ยังไม่ได้เห็นโทษของอกุศลทั้งหมด เห็นแต่โทษของโทสะบ้างเท่านั้นเอง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186


    หมายเลข 10280
    3 ก.ย. 2567