พื้นฐานความเข้าใจธรรม
การที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจที่ได้จากการฟังพระธรรมซึ่งจะสะสมเป็นอุปนิสัย และเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดรักษาจิตเพิ่มขึ้น จนกว่าจะมั่นคงให้สติสัมปชัญญะเกิด และผูกจิตไว้ในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ต้องเข้าใจอภิธรรมะ เมื่อวานนี้ก็มีผู้ถามด้วยคำถามธรรมดามากว่า ต้องมีพื้นฐานพระอภิธรรมด้วย หรือ เหมือนกับว่า พระอภิธรรมต้องมีพื้นฐานด้วย หรือ ความจริงพื้นฐานพระอภิธรรมก็คือความเข้าใจธรรมะเบื้องต้น ถ้าไม่เข้าใจเบื้องต้น แล้วจะเข้าใจสิ่งที่มีซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ด้วย ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย แต่รู้สิ่งที่มีตามปกติอย่างนี้แหละ แต่ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญา และบารมีอื่นๆ นานแสนนานกว่าจะรู้ความจริง
เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในภาษาไทยว่า อีกภาษาหนึ่งใช้คำว่า “ธรรมะ” แล้วเราก็ค่อยๆ ไตร่ตรอง ผู้ที่ตรัสรู้ความจริงของเห็น ของคิด ของเสียง ของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ตรัสรู้อะไรที่ต่างจากสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ หรือ หรือต่างจากที่เราเคยคิดเรื่องต่างๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง ต้องเป็นสิ่งที่ห่างไกลกันมาก
ด้วยเหตุนี้แม้แต่คำว่า “ธรรมะ” ก็ประมาทไม่ได้เลยที่จะรู้ว่า เป็นสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ แต่การเข้าใจจริงๆ ในความหมายของสิ่งที่มีจริงต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้นว่า ขณะนี้เราไม่รู้อะไร และเราฟังอะไรเพื่อจะเข้าใจอะไร
เพราะฉะนั้น ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่า กำลังมีสิ่งที่กำลังมี แต่ไม่เคยรู้ ยอมรับไหมว่า ไม่รู้ หรือรู้แล้ว เมื่อไม่รู้แล้วสิ่งนี้ก็ปรากฏในสังสารวัฏตลอดเวลา ไม่ว่าชาติไหน ขณะไหน เช้า สาย บ่าย เย็น ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้แหละ แล้วก็ไม่รู้มาแล้วนานมาก
เพราะฉะนั้น จะฟังเรื่องสิ่งที่เคยไม่รู้ และกำลังปรากฏ หรือไม่สนใจที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งหมดนี้ตามอัธยาศัย แต่การที่เราจะเข้าใจว่า การที่สิ่งนี้มี แต่กว่าจะรู้ความจริงได้ ต้องอาศัยการฟัง และความเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่เบื้องต้น ซึ่งเป็นพื้นฐาน เพราะถ้าจะกล่าวว่า สิ่งที่มีขณะนี้เกิดดับ ใครจะเข้าใจได้ เพราะไม่เห็นเกิด และไม่เห็นดับด้วย แต่เมื่อเป็นวาจาสัจจะของผู้ที่ทรงตรัสรู้เปลี่ยนไม่ได้
เพราะฉะนั้น แสดงว่าความไม่รู้กับความรู้ไกลกันมาก การฟังก็ต้องเป็นผู้ตรงว่า การฟังเรื่องเห็น เห็นมานานมาก เรื่องได้ยินก็ได้ยิน ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเป็นอุปนิสยะ หมายความว่าเป็นที่อาศัย การฟังเรื่องต่างๆ เหล่านี้แหละเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้อารักขะ หรืออารักขาไม่ให้อกุศล และความไม่รู้เกิดขึ้น ความไม่รู้มีอยู่ตลอดเวลาที่สภาพธรรมะกำลังปรากฏแล้วไม่รู้
เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ฟังเรื่องเห็นก็มีเห็นทั้งขณะนี้ และต่อไปด้วย ถ้าเข้าใจเรื่องเห็น ต่อไปก็เข้าใจเห็น ไม่ตกไป หรือเป็นไปกับความไม่รู้ซึ่งทำให้ยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง และนำมาซึ่งอกุศลอีกมากมาย
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงพื้นฐานพระอภิธรรมก็คือความเข้าใจเบื้องต้นจนกว่าสามารถเข้าใจขึ้น และรู้ด้วยตัวเองว่า แม้ได้ยินได้ฟังอย่างนี้แล้ว ความเข้าใจแค่ไหน มิฉะนั้นก็เหมือนกับว่า เราฟังแล้วเราเข้าใจ เข้าใจคำที่ได้ยินเป็นภาษาไทย และสภาพธรรมะก็กำลังปรากฏ แต่คำที่ได้ยินทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ หรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า คงต้องพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตราบใดที่ยังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้น เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วไม่รู้ว่า ความจริงคืออย่างไร ก็ต้องพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อให้เป็นอุปนิสยะ เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้รู้ว่า ขณะนี้ใครไม่รู้ก็คิดว่า เราเห็น ใครไม่รู้ก็คิดว่าเราคิด ใครไม่รู้ก็คิดว่าเราได้ยิน แต่พระธรรมที่ทรงแสดง เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่เรา ได้ยินเป็นได้ยิน ไม่ใช่เรา คิดเป็นคิด ไม่ใช่เรา ฟังแล้วเข้าใจพอสมควร แต่ยังไม่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่เมื่อไรเห็นก็รู้ ขณะนั้นเป็นธาตุที่ไม่ใช่เราเลย เกิดขึ้นเห็นจึงรู้สิ่งที่กำลังปรากฏว่า เดี๋ยวนี้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้เท่านั้นเอง
นานไหมคะกว่าจะอารักขาว่า ไม่ว่าอกุศลใดๆ ที่จะเกิด ติดในสิ่งที่ปรากฏโดยความยึดมั่นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ค่อยๆ คลาย ไม่มีใครประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะแล้วละการยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยความรู้ไม่มี และไม่พอ และไม่ได้ยินไม่ได้ฟังบ่อยๆ
เพราะฉะนั้น การได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วจะทำให้ไม่ว่าสภาพธรรมะใดเกิดขึ้น โกรธ ใครไม่มีบ้าง ขุ่นใจ มีไหม ฟังว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีเกิด ไม่ใช่ใครเลย แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ก็ยังไม่เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือฟังให้เข้าใจมั่นคง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อย่างไร ก็สามารถระลึกถึงธรรมะได้
วันก่อนก็มีคนบอกว่า โกรธ แต่ก็นึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมะ ก็หายโกรธ นั่นชั่วขณะที่นึก อารักขาชั่วคราว แต่อุปนิพันธโคจร คือ อารมณ์ซึ่งผูกจิตไว้ที่อารมณ์นั้นเกิด หรือยัง มี หรือยัง เพราะพูดเรื่องเห็น แต่อารมณ์คือ สิ่งที่ปรากฏ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ขณะที่กำลังฟังว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ แต่ไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ ไม่ได้นึกถึงอย่างนี้ เพราะเหตุว่าไม่คุ้นเคยกับการเข้าใจ ไม่คุ้นเคยต่อการรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ปรากฏจริงๆ แต่เพียงปรากฏให้เห็น ๑ ขณะจิต ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” ๑ ขณะที่ทำทัสนกิจ ดับ ขณะต่อไปไม่ได้ทำกิจนี้เลย
เพราะฉะนั้น กว่าการที่ได้ยินได้ฟังแล้ว สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ให้อยู่ที่สิ่งที่กำลังปรากฏเพื่อเข้าใจขึ้น
มี หรือยังคะ อุปนิพันธะ ฟังเพื่อไม่ลืม แข็งกำลังปรากฏ หลายวัน หลายครั้ง ฟังไปเรื่อยๆ แข็งมีจริงๆ ก็มีจริงๆ แล้วกำลังปรากฏด้วย ธาตุที่รู้แข็งมีไหมคะ ก็ต้องมีในขณะนั้น แต่ฟังอย่างนี้แล้วสิ่งที่ได้ยินได้ฟังผูกจิตไว้ด้วยสติสัมปชัญญะที่ผูกไว้ที่แข็ง หรือผูกไว้ที่สภาพที่รู้แข็ง หรือยัง ทิ้งไปเลย หรือว่าไม่เกิดเลย ก็เป็นได้
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ นอกจากเข้าใจพยัญชนะ คือ คำที่ทรงแสดง ยังต้องเข้าถึงอรรถ ความหมายว่า การฟังเพื่ออะไร ให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เฉพาะแต่ละหนึ่ง ถ้าแต่ละ ๑ ขณะนั้นก็คือ ขณะนั้นสติสัมปชัญญะอยู่ที่อารมณ์นั้น ไม่ไปที่อารมณ์อื่น อารมณ์นั้นก็ผูกสภาพของสติสัมปชัญญะ อยู่ตรงนั้น อยู่เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมะที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ
เพราะฉะนั้น เรากล่าวว่า จิตใจไปสู่อารมณ์ไหน แล้วก็ไปสู่อารมณ์นั้นบ่อยๆ เหมือนผูกจิตไว้กับอารมณ์นั้น ไม่ไปที่อารมณ์อื่น ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น กว่าจะผูกจิตไว้ที่สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ อย่าไปคิดว่า แล้วจะรู้แจ้งเมื่อไร จะละกิเลสเมื่อไร จะเข้าใจอะไรเมื่อไร แต่จากการฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็รู้ด้วยตัวเองว่า ขณะนี้ฟังเรื่องเห็น เป็นโคจร เป็นอารมณ์ของจิต หรือยัง โดยเป็นอุปนิสยะ หรือเป็นอารักขะ หรือเป็นอุปนิพันธะ