ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง


        ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงกุศลประเภทอื่นก็รวมอยู่ในภาวนา เพราะเหตุว่าทานได้กล่าวถึงแล้ว การสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เพราะว่าการสละไม่ง่าย ไม่ใช่จะสละหมดก็ไม่ได้ บ่อยมากก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่าสะสมมาที่จะสะสมต่อไปตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา ศีล ความประพฤติทางกายวาจาก็เหมือนกัน ที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน วาจาสำคัญ คำพูดที่ทำให้คนอื่นสบายใจ หรือเสียใจได้

        เพราะฉะนั้น เห็นประโยชน์ว่า ควรจะทำร้ายคนอื่น หรือควรทำให้คนอื่นไม่เดือดร้อนเพราะเรา นี่ก็เป็นไปในเรื่องของศีล ก็สังเกตได้ นอกจากนั้นกุศลอื่นทั้งหมดเป็นการอบรม เช่น เมตตา ไม่ใช่ว่ามีทานุปนิสัย มีศีลุปนิสัย หรืออย่างอื่นก็มี แต่แท้ที่จริงที่สำคัญที่สุด คือใจ โอกาสของทานก็ไม่ใช่ตลอดเวลา โอกาสของศีลก็ไม่ใช่ตลอดเวลา แต่จิตเป็นอกุศลบ่อยๆ โกรธบ่อยๆ โลภบ่อยๆ มานะ สำคัญตนบ่อยๆ ริษยาบ่อยๆ สารพัดที่เป็นอกุศล

        เพราะฉะนั้น ผู้เห็นโทษของการชำระจิต ยึดถือว่าจิตนี้เป็นเรา แล้วเป็นอย่างไรเรานี่ ลองดูซิ

        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็จะกล่าวว่า เหม็น เน่า ดำ ประมาณนี้

        ท่านอาจารย์ ใช่ไหมคะ หรือของคนอื่นเป็นอย่างนั้น แต่ของเราไม่ใช่ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นปุถุชน ผู้หนาด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น จากการฟังก็จะรู้ว่า ไม่ดีเมื่อไรบ้าง เวลาที่ไม่ให้ใคร ให้อภัยได้ไหม ยังเก็บไว้จนตาย อย่างนี้ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ภาวนา ก็อบรมไป ต่อไปก็เป็นคนอย่างนั้นแหละ ก็เป็นสิ่งซึ่งละเอียดมาก และแต่ละคนก็จะรู้จักตัวเอง ถ้าเป็นคนที่ตรงก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เห็นสิ่งที่ไม่ดีนั้นว่าไม่ดี เมื่อเป็นเรา เป็นคนอื่นแล้วไม่ดี แต่พอเป็นเราแล้วดีไม่ได้ ต้องตรงจริงๆ ธรรมะเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น ขาดอะไรบ้าง ขาดเมตตา หรือเปล่า ขาดกรุณา หรือเปล่า ขาดมุทิตา หรือเปล่า ขาดอุเบกขา หรือเปล่า แล้วอย่างไรคะ ก็ทับถมความไม่กรุณา ไม่เมตตา ไม่มุทิตา ไม่อุเบกขาไปเรื่อยๆ อย่างนั้นใครก็ช่วยไม่ได้ แต่จากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ยากยิ่งที่จะได้ยินได้ฟัง แล้วความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คือ เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ก็แสนยาก แต่วันหนึ่งเข้าใจได้แน่นอนเมื่อฟัง และเห็นประโยชน์ และการฟังบ่อยๆ ก็จะเป็นอุปนิสัย ภาวนุปนิสัย

        เมตตาเพิ่มขึ้น หรือเปล่า อภัยได้ไหม เรื่องที่ไม่น่าอภัยมีเยอะ แต่อภัยได้ไหม แล้วจะอภัย หรือไม่อภัย ยังดื้อไม่อภัย หรือรู้ว่า ดื้อไปทำไม โทษอยู่ที่ไหนไม่ใช่อยู่ที่คนที่เราไม่อภัย แต่อยู่ที่ความไม่อภัยของตนเอง

        เพราะฉะนั้น พระธรรมก็จะอารักขา จะคุ้มครองไม่ให้เป็นอกุศล ถ้าเข้าใจจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย ฟังธรรมเพื่ออะไร เห็นไหมคะ เข้าใจเท่านั้นพอ หรือ แค่เข้าใจ ถ้าเข้าใจจริงๆ ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง เพราะความเข้าใจถูกต้องว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรเจริญ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรละ โดยไม่ใช่เรา ธรรมะเป็นคำดีสำหรับคนชั่ว หรือสำหรับคนดี บอกให้ละ บอกให้อภัย ทำไม่ได้ มาบอกทำไม ใช่ไหมคะ อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ บอกไปก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้น คำดีก็เป็นคำชั่วได้


    หมายเลข 10302
    18 ก.พ. 2567