รู้โดยอาการต่างๆ


        สภาพรู้ธาตุรู้ คือจิตกับเจตสิก มีความต่างกันตามลักษณะอาการที่รู้อย่างไร

        อ.กุลวิไล รู้ด้วยวิญญาณ รู้ด้วยสัญญา และรู้ด้วยปัญญา ต่างกันอย่างไร

        ท่านอาจารย์ เราคงไม่ต้องติดที่คำ ที่สำคัญที่สุด คือ เข้าใจ และต้องค่อยๆ เข้าใจตามลำดับขั้น มีสภาพรู้ ธาตุรู้ไหม ง่ายๆ ธรรมดาๆ แต่ต้องตรง และจริงใจ ไม่ใช่ไม่มีธาตุที่กำลังเห็น ธาตุที่กำลังได้ยิน ที่ใช้คำว่า ธาตุรู้หมายความว่า รู้ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ อย่างอยู่ดีๆ ถ้าไม่ได้ยิน เสียงจะปรากฏได้ไหม สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ จะปรากฏได้ไหม ถ้าไม่มีธาตุรู้

        เพราะฉะนั้น ในโลกนี้ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ยังไม่ต้องเรียกว่า จิต เจตสิก แต่มีธาตุรู้แน่นอน ธาตุรู้คือเมื่อไร ไม่ใช่เราฟังแล้วจำชื่อ วิญญาณ สัญญา ปัญญา แต่ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ธาตุรู้หรือสภาพรู้เดี๋ยวนี้มีไหม ให้ชัดเจนว่า เดี๋ยวนี้มีไหม ธาตุรู้มีหลากหลาย ไม่ใช่มีอย่างเดียว คิดรู้หรือเปล่า เห็น ได้ยิน จำ ชอบ ไม่ชอบ เป็นสภาพรู้หรือเปล่า ไม่ใช่ฟังจำนวน โดยชื่อ แต่ไม่ได้คิดไตร่ตรองว่า แท้ที่จริงลักษณะรู้ รู้โดยอาการต่างๆ เพราะถ้าไม่รู้จะชอบได้อย่างไร ถ้าไม่รู้จะโกรธ ไม่ชอบได้อย่างไร

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะชอบ พอใจ ติดข้องต้องในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นสิ่งนั้น เสียงมีหลายเสียง เสียงดนตรีก็มี ชอบดนตรีเสียงไหน ก็ต่างกันแล้ว และยังเสียงเพลงที่เกิดจากดนตรีหลากหลายออกไปอีก ก็แสดงให้เห็นว่า ลักษณะที่ชอบมี แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกชอบ เพราะฉะนั้น ชอบเป็นลักษณะชองสภาพธรรมะที่มีจริง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง แต่รู้โดยชอบ ไม่ใช่รู้โดยอย่างอื่น เวลาโกรธ ลักษณะที่โกรธมีทุกวัน โกรธน้อย โกรธมาก ขุ่นใจนิดหนึ่ง มีไหมคะ ต้องมี มีแล้วแต่ไม่รู้ แต่สิ่งนั้นเกิดแล้วเพราะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ โดยความไม่ชอบในสิ่งนั้น ต้องมีสิ่งที่กำลังถูกไม่ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ หรือชอบจะเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกชอบ ถูกไม่ชอบ จึงเป็นสภาพรู้ที่มีลักษณะหลากหลาย เราจะจำแนกให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันอย่างไร ถ้าไม่มีเห็นในขณะนี้ จะชอบไม่ชอบสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ไหม ไม่ได้ เห็นเป็นตาหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งขณะนี้ไม่ปรากฏว่า มีรูปร่างสัณฐานเลย เพียงเห็น

        เพราะฉะนั้น เห็นเป็นกิจหน้าที่ของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งต้องเกิดขึ้นรู้ คือเห็น หรือจะบอกว่า เกิดขึ้นเห็นก็ได้ เวลานี้เห็นแล้ว เกิดแล้ว แต่ไม่รู้ว่า เห็นคือสภาพรู้ชนิดหนึ่ง อย่างเดียว ไม่ใช่สภาพรู้อื่น แต่เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง

        เวลาที่เสียงปรากฏ ได้ยินเกิดแล้ว เสียงจึงปรากฏ ถ้าได้ยินไม่เกิด เสียงปรากฏไม่ได้ แต่ธาตุได้ยินไม่ใช่เสียง แล้วไม่ใช่หู เป็นธาตุรู้ที่สามารถรู้เฉพาะเสียงที่ปรากฏ ไม่ต้องใช้คำว่า แจ้ง หรือคำอะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่กล่าวถึงสภาพรู้ก่อนเท่านั้น

        สภาพรู้มีหลากหลายมาก สามารถรู้ว่า ขณะเห็นต้องเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เป็นชอบสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือเปล่า ไม่ใช่ นี่คือความละเอียด เห็นเป็นเห็น แต่ชอบสิ่งที่เห็นไม่ใช่เห็น ในขณะที่เห็น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่สภาพธรรมะอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันกับจิต ไม่ใช่จิตที่เห็น แต่ชอบในสิ่งที่ถูกเห็น ในสิ่งที่เห็นขณะนั้น

        เพราะฉะนั้น สภาพอื่นๆ ที่ไม่ใช่สภาพรู้ เพียงรู้สิ่งที่ปรากฏ เราก็ใช้คำว่า เจตสิก จิตกับเจตสิกต่างกัน ที่จิตเกิดขึ้นรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เจตสิกก็เกิดขึ้นรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่รู้ต่างกับจิต เพราะเหตุว่าเจตสิกชอบบ้าง ไม่ชอบบ้างในสิ่งที่ปรากฏ จิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้มีจิต มีเจตสิกไหม แล้วจิตเป็นเจตสิกหรือเปล่า ไม่ใช่ แล้วเจตสิกเป็นจิตหรือเปล่า

        นี่คือเริ่มเข้าใจธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะธาตุที่เพียงรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ กลิ่นที่ปรากฏให้ได้กลิ่นเป็นอย่างนี้ รสที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่ยังชอบ ไม่ชอบ และยังมีอีกมากของเจตสิกซึ่งเกิดในขณะนั้นโดยไม่ปรากฏ เช่น ความรู้สึกขณะเห็น ต้องมีแน่นอน แต่ไม่ปรากฏเลยว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นรู้สึกอย่างไร ไม่สนใจเลย ไม่ปรากฏเลย แต่ก็มี

        เพราะฉะนั้น ความรู้สึก มี เป็นจิตหรือเปล่า ไม่ เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ หรือดีใจ หรือเสียใจ ลักษณะนั้นต่างจากสภาพที่เพียงเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ สภาพที่เพียงเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏต่างกับสภาพที่รู้สิ่งนั้น แต่รู้ด้วยการชอบหรือไม่ชอบในสิ่งนั้น

        นี่ก็เป็นความต่างกัน ซึ่ง ๑ ขณะจิต ใครรู้สภาพที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างเร็วว่า ไม่ใช่เรา และจิตมีต่างประเภทมากมาย ตามสภาพธรรมะซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย และเจตสิกก็หลากหลายมาก

        เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะทั้งหลายจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ในขณะที่จิตเกิด ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือเจตสิกนั่นเองเวลาเกิดก็ต้องเกิดกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ด้วย

        นี่คือ ๑ ขณะซึ่งกำลังเกิดดับ โดยไม่มีใครรู้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง และทรงแสดงโดยชัดเจนด้วยที่จะเข้าใจจิต ต้องไม่คิดว่าจิตเป็นเจตสิก แต่ว่าจิตก็ต่างกับเจตสิก จะให้ต่างกันชัดๆ ก็คือจิตรู้แจ้ง จะใช้คำว่า รู้ เจตสิกอื่นก็รู้เหมือนกัน แต่รู้โดยความหลากหลาย แต่ถึงอย่างไรก็เพียงรู้แจ้งเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่แจ้งโดยความเห็นถูกต้อง นั่นเป็นอีกสภาพธรรมะหนึ่งที่รู้สิ่งนั้น ไม่ได้ทำหน้าอื่นเลยทั้งสิ้น ก็เลยใช้คำว่า ลักษณะของเจตสิกอื่นรู้ แต่ทำหน้าที่อื่นด้วย ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง แต่จิตรู้แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อื่น ก็เลยใช้คำว่า รู้แจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏ

        เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แต่เจตสิกแต่ละหนึ่งก็ทำหน้าที่ลักษณะต่างๆ กันไป ตามเจตสิกนั้นๆ แต่จิตรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ


    หมายเลข 10316
    31 ธ.ค. 2566