อย่างไรก็ไม่ใช่เรา


        ไม่ว่าจะมีความยึดถืออย่างไรก็ตาม แต่ความจริงก็คือไม่ใช่เรา จึงควรสะสมความเข้าใจให้มั่นคง จนกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่นรูปซึ่งต่างจากความคิดเรื่องรูป

        ท่านอาจารย์ การที่ฟังแล้วเข้าใจขึ้น ใครสามารถรู้ปริมาณได้ว่าแค่ไหน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ง่ายที่สุด เมื่อกี้มีคำว่า “นี้รูป” บุคคลในครั้งโน้นกับบุคคลในครั้งนี้มีความเข้าใจที่สะสมมาต่างกันก็คือ ขณะที่กำลังรู้ที่รูป ไม่ต้องพูดว่า “นี้รูป” ใช่ไหม นี่ก็ต่างกันแล้วสำหรับคนฟังครั้งแรก และไม่ได้สะสมมา พอได้ยินว่า “นี้รูป” ก็จำคำว่า “นี้รูป”

        เพราะฉะนั้น ก็จำว่าอะไรในขณะนั้นเป็นรูป และยังมีคำว่า “นี้รูป” แต่ผู้ที่สะสมมาแล้ว สิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นนั่นเอง ทันทีที่ได้ฟังไม่มีคำว่า “นี้รูป” แต่เข้าใจสภาพที่เป็นรูป นี่ต่างกันแล้ว กว่าจะถึงวันนั้นที่พอได้ยินคำว่า “นี้รูป” ไม่ใช่ว่าต้องไปหาว่ารูปไหน นี้รูปทางตาที่กำลังปรากฏ หรือนี้รูปทางตา คือเสียงที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องหาเลย แต่คุ้นเคยกับการเข้าใจว่า รูปมีจริง มีลักษณะที่ปรากฏเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่ต้องเรียกว่า “รูป” แต่รู้ว่าสิ่งนั้นมีจริง ที่ใช้คำว่า “รูป” หมายความว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ก็ต่างกับสภาพรู้ เป็นความรู้ที่ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ สะสมจนกระทั่งเวลาที่กระทบรูปใดไม่ต้องมีคำว่า “นี้รูป” แต่ทันทีที่กระทบก็เข้าใจในลักษณะที่เป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง ไม่ต้องพูดว่า “นี้รูป” ไม่ต้องพูดว่า “นี้แข็ง” ไม่ต้องคิดว่า นี้แข็งเป็นรูป ไม่ต้องคิดว่า แข็งนี้ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง และถ้าสะสมปัญญามามากก็สามารถรู้ว่า ไม่มีอย่างอื่นเลย นอกจากลักษณะนั้น แต่ในใจยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ และยังคิดด้วย

        เพราะฉะนั้น กว่าจะขณะที่กระทบแล้วหมด สละ ละการยึดถือ เพราะขณะนั้นมีสภาพธรรมะอื่นแล้ว ทันทีที่แข็งปรากฏ สภาพธรรมะอื่นมีแล้ว เกิดแล้วสืบต่อจากแข็ง อย่างนั้นเลย

        เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงขณะที่สามารถรู้ และเข้าใจว่า สิ่งนั้นเพียงปรากฏ แล้วก็หมด เพราะค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริง คุ้นเคย และรู้จักลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ แต่ไม่คุ้นเลย อย่างเวลานี้ที่ถามว่า รู้จักแข็งหรือยัง มีแข็งแน่ๆ แต่รู้จักแข็งหรือยัง ถ้าไม่เคยฟังธรรมะเลย มีแข็ง แต่รู้จักแข็งหรือยัง ถ้าได้ยินได้ฟัง มีแข็งก็แข็งเก่า แต่เริ่มรู้ว่า สภาพธรรมะที่มีจริงที่สามารถกระทบปรากฏว่ามีจริงๆ ก็คือลักษณะนั้นที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องถามว่า แข็งแค่ไหน อ่อนแค่ไหน แต่ลักษณะนั่นเองเพียงปรากฏแล้วดับ แต่ที่ไม่ปรากฏอย่างนี้ก็เพราะความยึดถือสภาพธรรมะยังมีอยู่ตรงแข็งนั้น อยากจะเข้าใจบ้าง เลือกคิดบ้าง หรือสงสัยบ้าง ยังไม่รู้ความจริงว่า มีแล้วไม่มี เพราะว่าสภาพธรรมะอื่นมี แม้แต่ขณะนี้ เห็นมี ได้ยินมี เสียงมี แข็งมี

        เพราะฉะนั้น แต่ละขณะที่สภาพธรรมะแต่ละหนึ่งปรากฏต้องหมด แต่ไม่สามารถละความติดข้องได้ก็ทำให้ไม่รู้สภาพธรรมะอื่นซึ่งเกิดสืบต่อ

        เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องยาก ไม่ต้องหวัง เพราะรู้ว่า ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วเท่านั้นจึงสามารถรู้ได้

        เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังเข้าใจว่า ปัญญาเป็นเรา ยังเข้าใจว่า เรารู้น้อย เพราะปัญญามีน้อย ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา ต่อเมื่อไรฟังเพื่อเข้าใจ และไม่สนใจเลยที่จะเป็นอย่างไร เพราะความจริงทั้งหมดก็ไม่ใช่เราอยู่ดี อย่างไรๆ ก็ไม่ใช่เราอยู่ดี ก็ยังยึดถือว่าเป็นเราฉลาดบ้าง รู้มากบ้าง รู้น้อยบ้าง เข้าใจบ้าง ทั้งหมดก็เป็นเราด้วยความเข้าใจผิด แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่เราสักอย่างเดียว

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องเข้าใจมั่นคง แน่นอนจนกว่าจะเป็นสัจญาณ ถ้าเป็นสัจญาณแล้วไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า อะไรจะปรากฏ แต่สามารถเข้าใจสิ่งนั้น เพราะได้สะสมความเข้าใจไว้ในจิต ขัดเกลาความไม่รู้ไป จนกระทั่งความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ ความเข้าใจที่ได้สะสมมาแล้วก็สามารถเกิดขึ้น และสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้น ก็จะมีความต่างของปัญญาขั้นฟังเข้าใจ “นี้รูป” ขั้นฟังเข้าใจ แต่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของรูป ไม่ต้องมีคำว่า “นี้รูป” นั่นคือความเข้าใจอีกระดับหนึ่งที่รู้ในลักษณะนั้น

        เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรงจึงสามารถละอกุศลได้ เพราะอกุศลมาก และมีทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียดด้วย ฟังเพื่อเข้าใจแล้วไม่ต้องห่วงเลย ถ้าฟังเพราะเป็นเราก็ไม่มีวันถึง

        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เตือนใจได้ดีมากว่า อย่างไรก็ไม่ใช่เรา

        ท่านอาจารย์ ไม่ว่าท้อก็ไม่ใช่เรา ไม่ท้อก็ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา ฟังพอเข้าใจ แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นต้องมีลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ในขณะนั้นด้วย


    หมายเลข 10323
    31 ธ.ค. 2566