เรื่องธรรมะกับตัวธรรมะ
การเข้าใจเรื่องธรรมะ ไม่ใช่การรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมะ เป็นปัญญาที่ต่างระดับกันแต่ความเข้าใจขั้นเรื่องราวของธรรมะที่ถูกต้องมั่นคง จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขั้นรู้ตรงสภาพธรรมะได้ ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล ว่าจะเห็นประโยชน์ และพิจารณาไตร่ตรองธรรมะได้มากน้อยเพียงใด
ฟังธรรมะแล้วรู้แต่เพียงเรื่องของธรรมะเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเหตุว่าตัวธรรมะจริงๆ รู้ยาก แม้เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะก็ไม่รู้ว่า เป็นธรรมะ แต่กำลังฟังเรื่องของธรรมะก่อน
ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดงก็มีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ปริยัติหมายความถึงการฟังเรื่องธรรมะ เพราะไม่รู้ว่าธรรมะคืออะไร และอยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่เวลานี้ก็มีธรรมะ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ จึงไม่รู้ว่า ธรรมะคืออะไร และไม่รู้ว่า ธรรมะอยู่ที่ไหน แต่พอฟังก็ได้ฟังเรื่องของธรรมะ แต่ตัวธรรมะจริงๆ ทุกขณะเกิดดับเร็วสุดประมาณได้
เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จักตัวธรรมะตรงตามที่ได้ฟังก็ต้องฟังจนเข้าใจมั่นคงว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่เว้นเลย เป็นธรรมะ นี่เริ่มไตร่ตรองขึ้น คือ คิด เข้าใจว่าอะไรเป็นธรรมะ และธรรมะอยู่ที่ไหน ตอบได้แล้วใช่ไหม อะไรเป็นธรรมะ และธรรมะอยู่ที่ไหน ไม่ต้องไปหาเลย แต่ก่อนนี้ไม่เคยได้ยินคำว่า “ธรรมะ” ลืมตาก็ไม่รู้ ไปหาธรรมะ บางคนก็เดินทางไปเหนือจรดใต้ ไปหาธรรมะ แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ขณะไหนบ้างที่ไม่ใช่ธรรมะ
นี่คือความเข้าใจที่ต่างกันในเรื่องของเรื่องราวก่อน เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ขณะนี้เองก็เป็นธรรมะ นี่เรื่องราวของธรรมะแต่ละหนึ่ง เช่น ขณะนี้มีเห็น เห็นมีจริงๆ นี่เริ่มแล้ว สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมะ แต่ก็ยังไม่รู้จักเห็น เพียงแต่ฟังว่า เห็นมีจริงๆ แล้วอย่างไร แล้วต่อไปอะไร มักจะคิดกันอย่างนี้ว่า แล้วมีประโยชน์อะไรที่จะฟังเรื่องเห็น เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าเห็นเป็นสภาพที่ต่างกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะเหตุว่าเห็นเป็นสภาพรู้ แต่สิ่งที่ปรากฏไม่รู้อะไรเลย อย่างเห็นดอกไม้ ดอกไม้ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่ามีใครกำลังเห็น แต่ธาตุที่เกิดขึ้นแล้วเห็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วจำ และคิดแม้ว่าจะไม่เป็นคำพูด แต่จำได้เลยว่า นี่เป็นอะไร
เพราะฉะนั้น สภาพที่จำก็เป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นว่า ถ้าเห็นสิ่งใดก็จำในสิ่งที่เห็นนั้น ได้ยินเสียงไม่ใช่ไปจำเห็น หรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ได้ยินเสียง เสียงเกิดปรากฏเมื่อไร สภาพจำเสียงมี ถ้าไม่จำเสียงก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ละขณะละเอียดอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องของธรรมะ ซึ่งธรรมะนั้นยังไม่ได้ปรากฏว่าเป็นธรรมะ แม้ว่ามีอยู่ แต่จะรู้จักสภาพของสิ่งที่มีไม่ใช่เพียงแค่ฟังแล้วจะรู้จักได้ทันที แต่รู้ว่า แม้ว่ามีกำลังเผชิญหน้า แต่ไม่รู้เพราะมีสภาพธรรมะอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏได้เลย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกคำนั้นว่า อวิชชา หรือโมหะ คือความไม่รู้ มีจริงๆ ในเมื่อทุกอย่างไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละลักษณะ ความไม่เข้าใจก็มี ความไม่รู้ก็มี ความเห็นผิดก็มี ทุกอย่างมี แต่เป็นธรรมะฝ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากความไม่รู้ นอกจากเพิ่มความไม่รู้ขึ้น เพิ่มความติดข้องขึ้น
เพราะฉะนั้น เป็นความถูกต้องที่กล่าวว่า ขณะนี้ได้ฟังธรรมะ เพียงรู้เรื่องของธรรมะ แสดงให้เห็นว่าเข้าใจระดับของปัญญาที่ต่างขั้น คือ ขั้นฟังยังไม่เข้าใจเลยว่า เห็นขณะนี้เกิดดับ เกิดจริงๆ ดับจริงๆ แต่รู้ว่าเห็นมี และเห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัย และเห็นดับด้วย นี่คือฟังจนกระทั่งเข้าใจมั่นคง ส่วนใครสามารถรู้เห็นเดี๋ยวนี้ เฉพาะเห็นจริงๆ จึงสามารถรู้ว่า เห็นนี้เกิด และเห็นนี้ดับ ก็เป็นการสะสมของปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งใช้คำว่า ปฎิปัตติ และคนไทยใช้คำว่า “ปฏิบัติ” แต่ไม่เข้าใจเลย
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การฟังมีทั้งฟังสิ่งที่ถูก และฟังสิ่งที่ผิด ถ้าสะสมความเข้าใจเหตุผลมา ย่อมรู้ว่า สิ่งที่ได้ฟังถูกหรือผิด แต่ถ้าไม่ได้สะสมมา อะไรๆ ก็ถูก พูดได้อย่างไรว่า อะไรๆ ก็ถูกหมด เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ถ้าบอกว่า เราเห็น เป็นเรา ไม่ดับเลย ถูกไหม ถ้าเข้าใจเริ่มรู้ว่า เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเห็นไม่ใช่ได้ยิน แล้วเห็นจะมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ดับไปได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเห็นต้องอาศัยตา อาศัยจักขุปสาท รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ส่วนได้ยินไม่ได้อาศัยตาเลย แต่มีรูปพิเศษที่สามารถกระทบเสียง กระทบกลิ่นไม่ได้ กระทบอื่นไม่ได้เลย ต่อเมื่อใดเสียงกระทบกับรูปนั้นเป็นปัจจัยให้ธาตุอีกชนิดหนึ่งเกิดได้ และเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ
นี่คือฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ จนกระทั่งเข้าใจในความไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแต่ละหนึ่งอย่างมั่นคง ไม่หันไปคิดว่า เราจะทำให้เกิดความเข้าใจ เพราะเหตุว่าไม่มีใครทำให้ความเข้าใจเกิดได้เลย เพราะความคิดว่า เรา เป็นความคิดที่ผิด เห็นเป็นเราหรือเปล่า เห็นเป็นเห็น ได้ยินเป็นเราหรือเปล่า ได้ยินเป็นได้ยิน เห็นเกิดขึ้นแล้วดับ เราดับแล้วหรือ ไม่มีเหลือเลยหรืออย่างไร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เข้าใจตรงตามความเป็นจริง จึงต้องอาศัยความเป็นผู้ตรงต่อความจริง เมื่อฟังแล้วก็สามารถไต่สวน พิจารณา ไตร่ตรองว่า ความจริงเป็นอย่างที่ได้ยินได้ฟังหรือเปล่า หรือความจริงไม่ใช่อย่างที่ได้ยินได้ฟัง แม้ความเห็นก็มีความเห็นถูก และความเห็นผิด เพราะฉะนั้น พอฟังความเห็นใดๆ สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งนั้นถูกหรือผิด นั่นหมายความว่า ฟังด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งต้องอาศัยบุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อน
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บางคนไม่ว่าในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือแม้สมัยนี้ คนที่ฟังแล้วไม่เข้าใจก็มี ไม่ใช่ทุกคนฟังธรรมจากพระโอษฐ์แล้วเข้าใจหมด แต่คนได้ฟังแล้วไม่เข้าใจก็มี คนที่ฟังแล้วสามารถรู้ความจริง ดับกิเลสได้ถึงความเป็นพระโสดาบันก็มี ดับกิเลสหมดไม่เหลือเลย ถึงความเป็นพระอรหันต์ก็มี
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า มาจากไหน แม้แต่ความเข้าใจต่างกันก็ต้องมีเหตุ เพราะใครๆ ก็อยากรู้เร็ว อยากหมดกิเลสเร็ว แต่เร็วไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยว่า ฟังแล้วเข้าใจไหม ถ้าฟังแล้วเข้าใจ เริ่มต้นเข้าใจขึ้น จนสามารถรู้ลักษณะที่เป็นธรรมะตรงตามที่ได้ฟัง