จากฝั่งไม่รู้สู่ฝั่งที่รู้


        ความไม่รู้เป็นคนละฝั่งคือตรงข้ามกับความรู้ และจะข้ามพ้นจากฝั่งที่ไม่รู้ ได้ด้วยความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็น ซึ่งเกิดจากการได้ฟังพระธรรม


        ตอนนี้อยู่ฝั่งไหน ต้องเข้าใจ เพราะฝั่งไม่รู้คืออวิชชา ตรงกันข้ามกับฝั่งรู้ ต้องเข้าใจแต่ละคำจริงๆ ว่า มีสาระ เป็นสิ่งที่ควรเข้าใจถูกต้องเพื่อเป็นมรรค เป็นหนทางนำชีวิตไปเรื่อยๆ แต่ละชีวิตที่เกิดมาแล้วอยู่กับที่ไม่ได้ ชาติก่อนหมดแล้วนำมาสู่ชาตินี้ และชาตินี้ก็จะนำไปสู่ชาติหน้าต่อๆ ไป

        เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เราสามารถไปได้ด้วยตัวเอง เพราะเหตุว่าทั้งหมดเป็นธรรมะ จึงต้องไม่ลืมว่า ฟังเพื่อเข้าใจถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิก็จะอยู่ฝั่งไม่รู้ตลอดไป ไม่มีทางข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่งที่เห็นถูก จากฝั่งที่เคยจากมาเต็มไปด้วยความไม่รู้ เต็มไปด้วยกิเลสทั้งนั้น

        เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่า สิ่งที่ตรงข้าม คือ กุศลตรงกันข้ามกับอกุศล คนละฝั่งเหมือนกัน คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ความไม่รู้กับความรู้ตรงกันข้ามกัน กุศลก็ตรงกันข้ามกับอกุศล และชีวิตที่ผ่านมา เราย้อนไปไม่ได้เลยว่า ไม่รู้มานานแสนนานพร้อมกับกิเลสที่สะสมมามากเท่าไร แต่สามารถรู้จักชาตินี้ตามความเป็นจริงได้ว่า เราไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาตามต้องการได้เลย เพราะอะไรคะ เพราะทุกอย่างเกิดแล้ว แค่นี้ กว่าจะเข้าถึงความเป็นธรรมะ ไม่มีเรา แต่เป็นธาตุที่อาศัยกัน และกันเกิดดับแล้วไม่กลับมาอีกเลยสักชาติเดียว ชาติก่อนๆ จะเป็นใครไม่มีทางรู้ ชาติหน้าจะเป็นอะไร ก็ไม่รู้อีก แต่ชาตินี้กำลังเดินทาง เพราะจะต้องไปสู่ทางหนึ่งทางใดแน่ๆ หลังจากจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับ พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง

        เพราะฉะนั้น จากฝั่งไม่รู้ไปสู่ฝั่งรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วมีอะไรหรือไม่มีอะไร เข้าใจว่ามี เพราะมีสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นก็ดับไปหมดแล้วตลอดเวลาขณะนี้ ทุกอย่างที่มีขณะนี้ให้ทราบว่า เกิดมีแล้วก็ดับหมดแล้ว เมื่อไม่เหลือแล้วจะมีอะไร ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศทั้งหลายมี หรือไม่มีอะไร เพียงมีชั่วคราวที่ปรากฏด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มี มีเพียงชั่วขณะที่ปรากฏสั้นมากแล้วไม่มี แล้วไม่กลับมาอีก แล้วใครรู้ตรงนั้น นั่นคือปัญญา ความรู้ที่ตรงกันข้ามกับความไม่รู้

        เพราะฉะนั้น ไม่ควรผ่านแต่ละคำไปว่า เราฟังพระสูตรนี้จบแล้วกี่รอบ พระสูตรนี้ว่าอย่างไร แต่ต้องตรงว่า แต่ละคำลึกซึ้งอย่างยิ่งโดยธรรมะ และโดยเทศนา แม้แต่คำว่า “ฝั่ง” ก็แค่มองภาพเห็นว่าคนละฝั่ง แต่อะไรที่เป็นฝั่ง คนละฝั่ง ก็คือความรู้กับความไม่รู้ อกุศลกับกุศล อวิชชากับวิชชา

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมะลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่เราฟังธรรมะทุกวัน เพราะเหตุว่าได้สะสมบุญแต่ปางก่อนที่ผ่านมา ทำให้มีศรัทธาเห็นประโยชน์ และรู้ว่า ไหนๆ ก็ต้องจากโลกนี้กันไปทุกคน จะไปไหน จะไปแบบไหน จะไปอย่างไร ถ้าไม่มีพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์แสดง ไปไหนกัน ก็ไปเหมือนเดิม คือไปทางอกุศล แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมแล้ว ขณะนี้ก็กำลังไป แต่จะไปถึงไหน คงยังไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ก็ถึงหนทางที่กำลังเดินอยู่ทุกวันในขณะนี้ ซึ่งมี ๒ ทาง คือทางถูกกับทางผิด

        เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ทรงแสดงเพื่ออนุเคราะห์ เพื่อเกื้อกูลให้ไม่ประมาท แม้แต่คำว่า “ไม่คบคนพาล” ในพระสูตรนี้มีคำว่า ไม่คบคนพาลหรือเปล่า ไม่มี แต่ในที่อื่น เพื่ออนุเคราะห์ให้คนที่กว่าจะรู้จักทาง ได้รู้ว่า จะรู้จักทางจากใคร จากคนพาลหรือจากบัณฑิต ไม่ใช่เพียงให้รู้จักทาง แต่ไม่รู้ว่าจะคบใคร

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า พระธรรมทั้งหมด ๔๕ พรรษา ลึกซึ้งโดยเทศนาว่า แม้แต่การได้ฟังธรรมะ ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยเพราะบุญที่ทำไว้แล้วแต่ปางก่อนหรือแต่ก่อน ชาตินี้ก็ได้ที่สะสมมา ไม่มีใครสามารถรู้ได้ ทำให้มีโอกาสได้ฟังแม้แต่ความเห็นถูกก็ต้องมาจากบัณฑิต ไม่ใช่มาจากคนพาล

        เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังทั้งหมดไม่ว่าพระธรรมข้อไหน คำไหน ลึกซึ้ง เกื้อกูลอุปการะกัน ขณะนี้ให้ทราบว่า ก่อนฟังพระธรรมพูดคำที่ไม่รู้จักตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมแล้วจึงรู้ว่า แต่ละคำหมายความถึงคำที่ทรงเปล่งเพื่อทรงแสดงธรรมนั้นเป็นไปด้วยเนื้อความให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งลึกซึ้งโดยอรรถ ฟังอย่างไรก็เพียงเริ่มเท่านั้นเอง เริ่มแต่ยังไม่ถึงความเข้าใจแม้สักคำที่กล่าวว่า ธรรมะทั้งหลายขณะนี้เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร คำแค่นี้ เห็นขณะนี้กำลังมี เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา กว่าจะเข้าใจจริงๆ ก็รู้ได้ว่า ประมาทในแต่ละคำไม่ได้เลย เพราะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงเพื่อให้ผู้ฟังเริ่มสะสมความเห็นถูกตามลำดับขั้น เพื่อละความไม่รู้ในขั้นของการฟังจนสามารถเดินไปทางที่รู้แจ้งสภาพธรรมะในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้


    หมายเลข 10338
    30 ธ.ค. 2566