ปัญญาของเราแค่ไหน
ผู้ฟัง ขอเรียนถามคุณน้า เวลาฟังเรื่องสภาพธรรมะซึ่งดูเหมือนง่าย เหมือนกับว่าทุกคนมีความสามารถที่จะรู้ได้ พิสูจน์ได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ลุ่มลึกอย่างยิ่ง ข้อความที่กล่าวมานี้ อยากให้คุณน้าอธิบายให้ละเอียด
อ.ธนิต เคยได้ฟัง จีรกาลภาวนาไหม หรืออุปมาที่กล่าวว่า ทุกครั้งที่ฟังเหมือนการได้เริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะทุกครั้ง คือ การเริ่มต้น สภาพที่น้อมไป โดยความเคารพที่จะรู้ แล้วรู้ได้แค่ไหน อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการสะสม ไม่ใช่ของง่าย เลยครับ ยากมากๆ และลุ่มลึกที่จะรู้ เพราะฉะนั้น ประโยคที่คุณป้าถาม ค่อยๆ อ่านไป อ่านมา หลายๆ เที่ยว จึงจะค่อยๆ เข้าใจ ไม่ทราบว่าจะเข้าใจแค่ไหน
ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ สนทนาถึงเรื่องการศึกษาธรรมะ ทีนี้ถ้าการศึกษาสภาพธรรม ในการศึกษาสภาพธรรมซึ่งค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ แต่ว่าก็ยังถึงในระดับใดก็ตาม ตรงนั้นเรายังสับสนอยู่ เมื่อวานท่านอาจารย์บอกว่า ขวนขวายที่จะศึกษา ตรงนี้หมายความว่า พระไตรปิฎกเราก็ไม่ทิ้ง ปริยัติ ในการศึกษาสภาพธรรม จริงๆ สับสน ต้องเอาปริยัติเข้ามาเทียบ เพียงแต่จะไต่ถามอย่างเดียว หรือสนทนาอย่างเดียวนี่ จะไม่เพียงพอ หมายความว่า ต้องรู้จักการศึกษาจากการขวนขวายในพระไตรปิฎกด้วยตัวเองด้วยอย่างนั้นหรือเปล่าคะ
ส. คือโดยมากพอพูดถึงคำว่าปริยัติ ทุกคนก็คิดถึงตำรา แต่จริงๆ แล้ว ตำรากล่าวถึงอะไร เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า ปริยัติก็คือการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมะที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ศึกษาชื่อ หรือศึกษาเรื่อง แต่ว่าศึกษาให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมะที่มีจริงๆ อย่างคำว่า ธรรมะ มีอยู่ในหนังสือ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า ธรรมะไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย เป็นเรื่องราวของธรรมะเท่านั้นในหนังสือ แต่ว่าตัวธรรมะจริงๆ คือ ขณะนี้ทั้งหมด ถ้ามีการฟัง มีการพิจาณา มีการอ่าน มีการศึกษา แล้วไตร่ตรอง แล้วก็เข้าใจว่า ทุกอย่างในขณะนี้เป็นธรรมะที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา แล้วสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน กำลังปรากฏทีละอย่างให้รู้จริงๆ นี่คือการศึกษาปริยัติ ซึ่งจะทำให้มีปัญญาเพิ่มขึ้นถึงระดับที่รู้ว่า ขณะใดที่มีสติสัมปชัญญะ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ซึ่งสืบต่อกันตลอดเวลา ขณะนี้ก็มีเห็นแล้วก็มีการได้ยินสืบต่อ มีการคิดนึกสืบต่อ
เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเข้าใจความเป็นธรรมะของธรรมะทุกอย่างซึ่งเกิดสืบต่อกันก็จะถึงกาลที่สามารถที่จะคลายความเป็นเรา จากลักษณะของสภาพธรรมะที่สติสัมปชัญญะได้ระลึกบ่อยๆ จนชิน จนเข้าใจขึ้น จนคลายความเป็นเรา เมื่อนั้นสภาพธรรมะก็จะปรากฏตามความเป็นจริง คือ การเกิดขึ้นแล้วดับไป ซึ่งขณะนี้เป็นอย่างนี้ การศึกษาธรรมต้องมีจุดประสงค์ เพื่ออะไร ถ้าเพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่รู้มาก เข้าใจมาก ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการศึกษาที่ถูกต้อง ก็คือศึกษาเริ่มจากไม่รู้จึงศึกษา
เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมดก็จะละคลายความไม่รู้ และก็ละคลายอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะนอกจากละชั่ว แล้วก็บำเพ็ญความดี ก็ยังชำระจิตให้บริสุทธิ์จากการยึดถือสภาพธรรมะว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ พูดถึงว่า ปริยัติ หรือพระไตรปิฎก เป็นการแสดงของท่านผู้รู้ ซึ่งการศึกษาเราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ว่าจากการศึกษาสภาพธรรมที่เข้าใจขึ้น การที่จะเข้าไปอ่านพระไตรปิฎกก็เข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย เพราะทั้ง ๒ อย่างต้องเทียบเคียงกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่อ่านพระไตรปิฎกไม่ได้
ส. ถ้าทราบว่าพระไตรปิฎก เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็สังคายนาสืบต่อมา จนกระทั่งถึงเราทุกวันนี้ในรูปแบบของพระไตรปิฎก ก็จะรู้ได้เลยว่าปัญญาของเรากับปัญญาของท่านผู้รู้ต่างกันระดับไหน เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียด ด้วยความสุขุม ด้วยความรอบคอบ ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมะถูกต้อง แล้วก็รู้กำลังปัญญาของเราว่า เราสามารถจะรู้ถึงระดับของท่านได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ถ้าเผื่อว่า ขณะที่ศึกษาสภาพธรรมก็สับสน แล้วในความที่ศึกษาสภาพธรรมนั้นไปเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ก็ยังสับสนก็ต้องวางไว้ก่อน ทิ้งไว้ก่อน
ส. เราเข้าใจอะไรได้แค่ไหน เวลาที่ศึกษาพระไตรปิฎก ต้องเริ่มเป็นปัญญาของเราเอง แล้วเราถึงจะรู้ได้ว่า แม้พระไตรปิฎกจะกล่าวไว้อย่างนี้ แต่ปัญญาของเราเพียงเข้าใจ หรือสามารถที่จะประจักษ์แจ้ง อย่างที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด
ผู้ฟัง แต่ก็ต้องขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
ส. ค่ะ ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา