ไม่รู้ก็เป็นเรา


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพระคุณเลย ก็มีแต่เพียงชื่อว่าท่านเป็นใคร มีพระมารดา พระบิดาอย่างไร แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นมีพระคุณต่อเราอย่างไร ถ้าเราไม่ศึกษา

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ ที่พูดกันว่า ทุกข์มีอยู่ แต่ผู้เป็นทุกข์ไม่มี จากที่สนทนาก็ทราบว่า ที่ไม่มีผู้เป็นทุกข์ก็เพราะมีแต่จิตกับเจตสิก ทีนี้ลักษณะของที่ความไม่ชอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางใจ พอจะน้อมเข้ามาพิจารณาได้ว่า ไม่ใช่เป็นเรา แต่เวลาที่เป็นทุกข์ทางกาย ทำอย่างไรมันก็เราเจ็บปวดอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ

    ผู้ฟัง ลักษณะของทุกขเวทนาก็เป็นธรรมะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกอย่างไม่เว้น เดี๋ยวนี้มีไหม ทุกขเวทนานั้น

    ผู้ฟัง ตรงนี้อาจจะอิ่ม ทุกขเวทนา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม ทุกขเวทนาอย่างที่ว่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ทางกาย

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เหมือนอันเก่าไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ทุกข์นี้จะคงอยู่ตลอดไปไหมคะ

    ผู้ฟัง โอโห ท่านอาจารย์ อย่างนี้ต้องเข้าใจถึงลักษณะที่เขาเกิดเดี๋ยวเขาก็ไม่เกิด ต้องมาลงตรงนี้

    ท่านอาจารย์ คืออย่างไรก็ตามไม่ลืมคำแรกที่ได้ฟัง แล้วก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้แต่คำว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ ระดับไหนที่เราเข้าใจ ระดับฟังเข้าใจ แล้วก็พูดตาม แต่เวลาที่สภาพธรรมะอะไรเกิดขึ้น ทำไมไม่เห็นว่า เป็นธรรมะ จะนอนไม่หลับ ทำไมไม่เห็นว่า เป็นธรรมะ ขณะนั้นเห็นอะไรหรือเปล่า คิดนึกอะไรหรือเปล่า แม้แต่ความคิดของแต่ละคนก็บังคับไม่ได้ว่า วันนี้ เดี๋ยวนี้จะให้คิดอะไร ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เหลือวิสัยที่ใครจะไปทำอะไรได้ แล้วไปนั่งพยายามควบคุม ไปนั่งพยายามทำอะไร แทนที่จะสภาพธรรมะใดเกิดขึ้นก็รู้ลักษณะ มีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ตลอดเวลามา แล้วก็เป็นธรรมะแต่ละอย่าง แล้วขณะนี้ก็เป็นธรรมะแต่ละอย่าง ต่อไปข้างหน้าก็มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมะที่เกิดจึงปรากฏให้รู้ลักษณะที่ต่างกัน แต่พอไม่รู้ก็เป็นเรา ก็มีอยู่เท่านี้ ไม่รู้ก็เป็นเรา ถ้ารู้จริงๆ ก็เป็นธรรมะแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ที่ได้มาสนทนาธรรมที่นี้ ก็เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎ ก็มีคนเข้ามาก็เจ็บไข้กันเยอะแยะที่มองเห็นก็อดที่จะหวั่นไหวไม่ได้ว่า ถ้าเราไม่เป็นลมตายเสียก่อน ก็ต้องอาจจะต้องมาเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาล

    ท่านอาจารย์ ค่ะ มีใครคิดอย่างคุณบุษบงรำไพบ้างไหมคะ คำพูดที่ได้ยินทั้งหมดเมื่อกี้นี้ มีใครคิดอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เห็นไหมคะ ขณะที่คุณบุษบงรำไพคิดอย่างนี้ คนอื่นคิดอย่างอื่น ทำไมไม่คิดเหมือนกันเพราะเหตุว่าประสบการณ์ หรือความรู้สึกต่างๆ ต่างกันตามการสะสม แม้แต่ความคิดก็ไม่เหมือนกัน ในคนหนึ่งๆ วันหนึ่งๆ ก็คิดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็คิดเรื่องนั้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ ตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ ค่อยๆ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงหมายความว่า ปัญญาของเรายังไม่พอที่จะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ เพราะว่าเดี๋ยวก็เป็นเรา เดี๋ยวก็เป็นเรา วันนี้ได้ยินคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะกี่ครั้ง แต่ว่าความเป็นเรากี่ครั้ง

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้เลยว่า ความรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะขั้นฟังเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับที่จะทำให้เราหมดความสงสัย แล้วก็ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญอีกมาก แต่ไม่ใช่เรื่องท้อถอยเลย เป็นเรื่องที่มีโอกาส แล้วที่ได้ยินได้ฟัง เพราะว่าจะได้ยินได้ฟังไปอีกนานเท่าไร ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ พรุ่งนี้อาจจะไม่ได้ยินได้ฟังอีกเลยก็ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ว่าเมื่อได้ยินได้ฟัง ก็อย่าผ่านไป เผินๆ แต่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า นั่นเป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม แล้วใครไม่สามารถที่จะช่วยให้เรามีความเห็นถูกอย่างนี้ได้ ถ้าเราไม่มีการฟังพระธรรมบ่อยขึ้น แล้วก็พิจารณาให้ละเอียดขึ้น ซึ่งขณะนั้นๆ ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าเป็นการไปทำอย่างอื่น แล้วปัญญาจะเกิด แต่ว่าเมื่อมีการฟัง มีการเข้าใจขึ้น ปัญญาก็จะปรุงแต่ง เป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ วันหนึ่งก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้

    นี่ก็เป็นหนทางซึ่งยังไม่ได้ถูกปิดบัง ถ้าตราบใดที่ยังมีความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้ามีความเห็นผิดเกิดขึ้น พ้นจากทางนี้เมื่อไร นั่นคือทางกั้นที่จะไม่ให้รู้สภาพธรรมะในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ เพราะจากที่ดิฉันกลังว่าจะต้องมานอนในโรงพยาบาล ดิฉันต้องทุกข์ทรมานมาก ก็ได้ข้อคิดจากท่านอาจารย์ที่ว่า ธรรมะเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทีละขณะ ก็ค่อยเบาใจขึ้น กราบขอบพระคุณ


    หมายเลข 10396
    16 ส.ค. 2567