จะเริ่มอย่างไร


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามคุณน้า คือวันนี้ได้ชวนคนที่เขามาฟังธรรมะใหม่เอี่ยมเลย เมื่อกี้ไปรับประทานอาหารร่วมกัน เขาบอกว่าช่วยถามหน่อยว่า เขาจะเริ่มต้นศึกษาธรรมะ เขาจะเริ่มอย่างไรก่อนดีคะ

    อ.ธนิต เริ่มต้นจากว่า ธรรมะคือสภาวธรรม เป็นธาตุ เป็นธาตุ เป็นสภาวะ จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือนามธาตุกับรูปธาตุ แล้วก็ศึกษาว่า รูปธาตุกับนามธาตุ แยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ ให้รู้จักเรื่องที่รู้ สะสมไว้เพื่อเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่จะได้เข้าใจว่า มันเป็นธรรมะ มันเป็นสภาวะ เป็นรูปธาตุ เป็นนามธาตุ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ส่วนใหญ่ แล้วใจร้อน อยากรู้ อยากเข้าใจ ก็พยายามที่จะบอกให้ว่า ฟังต่อไปเรื่อยๆ แล้วตรงที่ฟัง สงสัย แล้วถามทันที จะได้ค่อยๆ อธิบายให้ฟังว่า เรื่องที่รู้มันเป็นเรื่อง แต่จริงๆ ของเรื่องนี้มี ก็ต้องทีละอย่างๆ ต้องเริ่มต้น

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาเพิ่มเติมคำถามเมื่อกี้นี้ คือที่ถามว่า จะเริ่มต้นอย่างไร จะเริ่มต้นเมื่อไร โดยมากมักจะเป็นคำถาม แต่ว่าดิฉันอยากจะถามให้ตอบมากกว่าที่วิทยากรจะช่วยกันตอบ เพราะเหตุว่าจะได้เป็นความรู้ความเข้าใจของท่านผู้ถาม

    ถ้าเดี๋ยวนี้จะถามว่า ขณะนี้ท่านที่กำลังฟัง กำลังเริ่มต้นหรือเปล่า ตอบได้ใช่ไหมคะ ว่ากำลังเริ่มต้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฟังธรรมะ คือ การเริ่มต้น โดยที่ว่า รู้จักว่าธรรมะคืออะไร ถ้าไม่รู้จักว่า ธรรมะคืออะไร แล้วเราจะศึกษาธรรมะได้ไหมคะ ถ้าเราไม่รู้เลยว่า ธรรมะคืออะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่ได้ฟังคำว่า “ธรรมะ” แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ธรรมะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้ ตั้งแต่เกิดจนตายมีธรรมะทั้งนั้นเลย เพราะเหตุว่ามีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้เกิดขึ้น แต่ว่ามีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด ถ้าวันนี้มีผู้ที่มีความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธที่กำลังเกิดเป็นไปในขณะนั้น เตรียมตัวมาก่อนหรือเปล่าว่า จะให้เป็นความโกรธในลักษณะอย่างนี้ๆ ในเรื่องนี้ๆ หรือว่าไม่มีการเตรียมเนื้อเตรียมตัวเลย พอเห็น พอได้ยิน หรือพอคิดนึกก็เกิดโกรธอย่างนั้นขึ้นมา ซึ่งความโกรธระดับนั้น เรื่องนั้นเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

    นี่คือความจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อเห็น แล้ว นานาจิตตัง ตามการสะสม ใครจะคิดอย่างไร ใครจะรู้สึกอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะทั้งหมด แค่นี้ คือ ฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่จะต้องศึกษาที่ใช้คำว่า “ศึกษาธรรมะ” ก็ศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะปรากฏให้ศึกษาทุกขณะที่ได้ยินได้ฟัง ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของสภาพที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่า ใครกำลังศึกษา ใครไม่ศึกษา คนโน้นถามกันว่า ศึกษาหรือเปล่า คนนี้ตอบว่าไม่ได้ศึกษา หรือคนโน้นศึกษา ก็ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ศึกษาธรรมะแท้จริง ก็คือศึกษาลักษณะของสภาพที่มีจริงจึงจะเป็นธรรมะ ถ้าไม่มีลักษณะนั้นจริงๆ ให้ศึกษา จะไปศึกษาอะไร จะเข้าใจอะไร แล้วธรรมะนั้นจะอยู่ที่ไหน แต่ถ้ารู้ว่า ธรรมะจริงๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ มีลักษณะเฉพาะอย่าง ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดธรรมะเลย เราก็จะเข้าใจว่า เรากำลังศึกษาอะไร ศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริง โดยการฟัง แล้วฟังอีก บางท่านก็บอกว่า ก็เป็นเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ววันไหนใครไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นานแสนนานมา แล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อไปข้างหน้าก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะไปศึกษาอะไรอื่นที่ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    นี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะ แล้วก็ยังไม่รู้จริงๆ ก็หวังหรือคิดจะศึกษาอื่น แล้วเข้าใจว่า อื่นนั้นคือธรรมะ แต่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เมื่อเริ่มฟังเมื่อไรก็คือเริ่มศึกษา เริ่มเข้าใจธรรมะเมื่อนั้น แล้วแต่ว่าจะมีโอกาสฟังได้มากหรือน้อย ฟัง แล้วจะคิดจะพิจารณา จะเข้าใจถึงความเป็นธรรมะจริงๆ ของสภาพธรรมะซึ่งเป็นธรรมะ แต่ความที่ยังไม่เข้าใจจริง ก็ยังไม่เห็นว่า เป็นธรรมะ หรือว่าบางครั้งอาจจะเขาใจนิดหนึ่งว่าธรรมะ แต่ว่าเพราะการฟังน้อย การพิจารณาน้อย ก็เลยเวลาที่สภาพธรรมะปรากฏหรือเกิดขึ้น ก็ยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมะ

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความเข้าใจธรรมะ จึงเริ่มเห็นว่า เป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วเป็นสิ่งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ที่ความเป็นตัวตนจะไปพยายามเข้าใจธรรมะก็ไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ความเข้าใจวันนี้ ขณะนี้ เกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากการฟัง เกิดจากการอ่าน เกิดจากการคิด เกิดจากการพิจารณา ก็ต้องรู้ว่า ฟังอะไร คิดอะไร พิจารณาอะไร จึงจะเป็นการศึกษาธรรมะ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ผู้นั้นก็จะศึกษาธรรมะไปตลอด ไปเรื่อยๆ ไม่เดือดร้อน จะมีความเป็นตัวตนรีบร้อนไปศึกษาอะไรที่ไหน ในเมื่อสภาพธรรมะก็กำลังมีปรากฏ ให้ศึกษา ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ความเข้าใจอันนี้ก็จะไม่หันเหไปทางอื่น แล้วก็รู้ว่า การศึกษาธรรมะ ก็คือการฟังเรื่องธรรมะ แล้วก็เมื่อไรที่ได้ฟัง เมื่อนั้นก็คือศึกษา


    Tag  ธนิต  
    หมายเลข 10397
    16 ส.ค. 2567