ค้ายาพิษ


    ผู้ฟัง อยากจะพูดถึงตอนเช้าที่มีผู้ร่วมสนทนามากล่าวถึงว่า เหมือนกับว่า ไม่เชื่อเรื่องต่างๆ บางเรื่อง ที่พระพุทธองค์ท่านตรัสในพระสูตร มันก็มาตรงกับดิฉันเหมือนกันที่ฟังอยู่บอกว่า พระพุทธองค์ห้ามที่จะค้าขายมีอยู่ ๕ อย่าง เช่น มนุษย์ สัตว์ สุรา อาวุธ ยาพิษ ตรงยาพิษ ดิฉันติดอยู่นานเลยว่าอะไร คนจะมาค้ายาพิษได้อย่างไร พอมาถึงสมัยนี้ มันรู้สึกว่า พวกที่เป็นยาบ้า ยาม้า อันนี้มันจะเป็นลักษณะของยาพิษได้หรือเปล่า เรียนถามท่านอาจารย์เผชิญ

    อ.ประเชิญ ยาพิษในสมัยก่อน เขาก็จะมีใช้ในลักษณะต่างๆ อาจจะเอาไปทำร้ายคนหรือว่า ต้องการที่จะเอาไปทำร้ายสัตว์ นั่นคือการใช้ของยาพิษในยุคนั้น แต่ในยุคนี้ การที่จะขายยาพิษที่จะมีการใช้ลักษณะที่กว้างขวางต่างกัน ซึ่ง การขาย ยาม้า ยาบ้าที่เป็นของมึนเมา อาจจะเข้าในลักษณะของสุราที่เป็น มัชฌะ ก็ได้ เพราะตรงนั้นจะทำให้ คนมึนเมา ทำให้เสียสติสัมปชัญญะ อันนี้ผมเข้าใจว่า ยาพิษกับมัชฌะ ต้องต่างกัน

    คุณอดิศักดิ์ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็ยาฆ่าหนู

    ท่านอาจารย์ ขอย้อนมาที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่แข็งที่กาย เพราะว่าทางกาย สภาพธรรมะที่จะปรากฏจะพ้นจาก เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวไม่ได้ ทุกส่วนที่กระทบสัมผัส ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถ้ากระทบสัมผัส ลักษณะที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีสิ่งที่อ่อน นุ่มปรากฏทางกาย ต้องบอกไหมคะว่า เนื้อ หรือต้องบอกไหมคะว่าหนัง ในขณะที่สภาพธรรมะนั้นจริงๆ กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าทางที่จะรู้อารมณ์ สำหรับสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏในขณะนี้ ทางตาก็ต้องอาศัยตา สิ่งนี้จึงจะปรากฏได้ ถึงแม้ว่าสีสันวัณณะต่างๆ มีจริง แต่ก็ต้องอาศัยจักขุปสาท จึงสามารถที่จะปรากฏได้ หรือเสียงก็เป็นสิ่งที่มีจริง ต้องอาศัยโสตปสาท จึงจะปรากฏได้ กลิ่นก็ต้องอาศัยฆานปสาท จึงจะปรากฏได้ รสก็ต้องอาศัยชิวหาปสาท จึงจะปรากฏได้ สำหรับกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ที่จะปรากฏว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็ต้องอาศัยกายปสาทจึงจะปรากฏได้

    แต่เมื่อปรากฏ แล้วก็เป็นเรื่องราวทรงจำไว้มากมายทางใจ แต่ให้แยกรู้ว่า ขณะที่กำลังทรงจำเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นความคิดนึกทางใจ ซึ่งไม่ใช่ขณะที่มีปรมัตถธรรมจริงๆ เป็นอารมณ์ แต่เวลาที่ขณะเป็นปรมัตถธรรมจริงๆ ที่จะปรากฏเป็นอารมณ์ทางกาย ไม่พ้นจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แล้วเราจะต้องมานึกไหม พอแข็งที่เล็บก็ต้องมานึกว่าเล็บๆ ๆ ๆ ๆ หรือเปล่า หรือว่าลักษณะที่แข็งปรากฏให้รู้ว่า ขณะนั้นไม่มีเรา ไม่มีเล็บ แต่มีสภาพธรรมะที่แข็ง ความจำว่าเล็บเป็นแต่เพียงเมื่อนึกถึงรูปร่างสัณฐานจึงจำ แต่ว่าลักษณะจริงๆ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นปรมัตถธรรม ก็คือเมื่อมีลักษณะที่เป็น ปรมัตถธรรมปรากฏให้รู้ เมื่อไรที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ไม่ต้องไปคิดว่า ผม หรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนัง ไม่ต้องเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นขณะที่ไม่หลงลืมสติ จึงมีลักษณะที่แข็งปรากฏให้รู้ว่า ลักษณะแข็งมีจริง แล้วก็ปรากฏทางกาย ไม่ใช่ปรากฏทางตา ทางหู

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเป็นทุกข์ทางกาย ลักษณะทุกข์ทางกาย

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นทุกข์คะ รูปรู้สึกเป็นทุกข์ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นอะไรคะ ความรู้สึกชนิดหนึ่ง ความรู้สึกนั้นเป็นจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกชื่อ ถ้ารู้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ ซึ่งต่างจากเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่เจตสิก ขณะที่เป็นความรู้สึกเจ็บที่กาย ใช่ไหมคะ ขณะนั้นความรู้สึกที่เจ็บเป็นรูปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปไม่ได้เลย รูปเจ็บไม่ได้ รูปคันไม่ได้ รูปไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความรู้สึกต่างๆ ก็คือสภาพธรรมะที่มีจริง ที่ปรากฏกับกายปสาท เวลาที่เจ็บ ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมที่อาศัยกายปสาทเกิดขึ้น ถ้าไม่มีกายปสาท จะเจ็บไหมคะ ตรงที่ไม่มีกายปสาทก็ไม่เจ็บ แต่เจ็บจะเกิดต่อเมื่อตรงนั้นมีกายปสาท แต่กายปสาทไม่ใช่ความรู้สึกเจ็บ รูปที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่เจ็บ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเจ็บสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้นได้ ซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่ลักษณะของรูปแข็งหรือร้อน

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ คือเมื่อกี้ ขอสนทนาต่อตอนที่อาจารย์อดิศักดิ์ ยกตัวอย่างว่า ยาฆ่าหนู ประเภทนั้น ดิฉันก็ดูทีวี มันจะมียาฆ่ายุง ก็เขาบอกเลยว่าให้ฉีดตรงยุงเลย มันผิดศีล ๕ แล้วก็ไม่ทราบว่า พุทธศาสนาสอนอย่างไรกัน ให้ออกมาตรงนั้นได้อย่างไรคะ ฆ่าสัตว์อย่างตรงๆ ตัวเลย

    คุณอดิศักดิ์ พระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ให้ไปฉีดตรงตัวยุง นี่มันชาวบ้านพูด

    ผู้ฟัง มองดู แล้วก็รู้สึกขัดตาทุกที กราบขอบพระคุณ


    หมายเลข 10409
    22 ส.ค. 2567