โคจรในชีวิตจริง
โคจรหรืออารมณ์ ที่เป็นประโยชน์ซึ่งควรใส่ใจมี ๓ อย่างคือ พระธรรมคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ให้สะสมอุปนิสัยความเข้าใจธรรมะ หรือ เป็นอุปนิสยโคจร ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลที่อารักขาจิตจากอกุศล หรือ เป็นอารักขโคจร และเมื่อมีความมั่นคงพอ ก็จะถึงการที่จิตใส่ใจผูกพันในอารมณ์ที่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือ เป็นอุปนิพันธโคจร
ก่อนจบเรื่องโคจร ๓ ขอทบทวนเล็กๆ น้อยๆ ชื่อไม่สำคัญเลย แต่ชีวิตจริงๆ สำคัญกว่า เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงสติปัฏฐาน อริยสัจธรรม ต้องไม่ประมาทในความละเอียดของความจริงซึ่งเป็นธรรมะ
ชีวิตจริงในห้องหนึ่งก็มีทั้งเสียงโทรทัศน์ และเสียงธรรมะ เป็นไปได้ไหมคะ คนหนึ่งเปิดวิทยุฟังธรรมะ อีกคนหนึ่งเปิดโทรทัศน์ ๒ เสียง คนที่ไม่ฟังธรรมะเพราะคิดว่า เป็นเรื่องเดิมๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีอะไร แล้วเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราฟังคำเดิมจริง สิ่งที่มีจริงเดิมๆ แต่ความรู้เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้นหรือเปล่า
นี่คือผู้เห็นประโยชน์จริงๆ ของการฟัง แต่ผู้ประมาทเปิดโทรทัศน์ เพราะคิดว่า ฟังแล้วทั้งนั้นเลย ไม่ต้องฟังก็ได้ ไว้ฟังวันอื่น แต่จะมีวันนั้นไหม ประมาทอีกแล้ว อาจจะไม่มีวันนั้นเลยก็ได้
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำที่ว่า “อุปนิสยโคจร” คำดูยาก แต่ความจริงคืออารมณ์ซึ่งคุ้นเคยบ่อยๆ จนเป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง ที่ทำให้ไม่ข้าม ไม่พราก ไม่ละเลยต่ออารมณ์นั้น
เพราะฉะนั้น คนที่มีกำลังสะสมมาฟังธรรมะ แล้วโกรธคนที่ไม่ฟัง ไม่ได้อารักขาเลย ความละเอียดความลึกซึ้งว่า แม้จะมีอุปนิสัยที่เห็นประโยชน์ก็จริง แต่ถ้าขณะนั้นอกุศลจิตเกิด พระธรรมที่ฟังมาแล้วทั้งหมดไม่ได้อารักขา เพราะเหตุว่าอกุศลจิตเกิดไปโกรธเขาที่ไม่ฟังธรรมะ ทั้งๆ ที่ธรรมะก็มีประโยชน์มาก
นี่คือชีวิตจริง จากการได้ฟังกว่าจะเป็นอุปนิสัย แต่ยังไม่อารักขาก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอุปนิสัยถึงกับอารักขา บุคคลนั้นก็เห็นประโยชน์แล้วว่า ฟังธรรมะเพื่อเข้าใจว่า เป็นธรรมะ ฟังธรรมะเพื่อละความไม่รู้ ฟังธรรมะเพื่อเข้าใจว่า เวลาโกรธเกิดขึ้นไม่รู้ความจริงขณะนั้นจึงโกรธ เป็นสัตว์ บุคคลแล้ว ไม่ฟังแล้ว ก็ไม่ถึงการอารักขา
เพราะฉะนั้น ธรรมะละเอียดจนกว่าจะอารักขา ชั่วขณะที่ระลึกได้ว่า บุคคลแต่ละหนึ่งก็ต่างอัธยาศัย เป็นธาตุจริงๆ แข็งก็เป็นแข็ง จะให้แข็งเปลี่ยนเป็นเปรี้ยว เป็นหวาน เป็นเสียงก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ใครที่ไม่มีอัธยาศัยฟังธรรมะ จะไปขอร้อง จะไปเชิญชวน จะทำอย่างไร เขาก็ไม่มีอัธยาศัยที่จะฟัง ไปโกรธเขาทำไม ขณะโกรธนั้นแสดงว่า ธรรมะที่ได้ฟังไม่ได้เป็นประโยชน์กับตัวเลย คือฟังเข้าใจแต่ยังไม่อารักขา แต่ถึงอย่างนั้นที่สะสมมาเพิ่มขึ้นจนอารักขาได้ เพียงแค่ไม่โกรธ แต่ก็ยังไม่เข้าถึงความเป็นธรรมะ ซึ่งได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราว แค่ได้ยิน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่เหลือแล้ว
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างแสนสั้นจริงๆ กว่าจะรู้อย่างนี้จริงๆ ฟังไป เข้าใจไปจนกระทั่งจิตผูกพันกับคำจริง สะสมความเข้าใจจากการฟังทีละเล็กทีละน้อยโดยเป็นอนัตตา ไม่ใช่โดยเราอยากจะพากเพียรให้มีสติ ให้เข้าใจมากๆ ให้หมดกิเลสเร็วๆ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ก็จะทำแล้ว อย่างนั้นไม่ได้ฟังพระธรรมแน่นอน เพราะเหตุว่าฟังด้วยความเป็นเรา ถ้าฟังด้วยความเป็นเราตั้งแต่ต้น ไม่มีโอกาสรู้ว่าเป็นธรรมะ แต่ถ้าฟังว่า เป็นธรรมะ แล้วรู้ด้วยว่า กำลังเป็นเราก็เป็นธรรมะ กว่าทั้งชีวิตจะไม่เหลือเลย จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้โดยละความสงสัยว่า ไม่ใช่เราแน่นอน หรือคิดว่า นี่เป็นอะไร ก็จะไม่มี เพราะแม้คิดว่า นี่อะไรก็เป็นธรรมะ
เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมดเลย การฟังทั้งหมดนอกจากอารักขา ก็ยังค่อยๆ เป็นอุปนิพันธะ ผูกไว้กับสิ่งที่ได้ฟังแล้วด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น