ระลึกรู้ ไม่ใช่ระลึกเรื่อง


    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ครับ เมื่อวานเย็น รายการวิทยุ ๖ โมงเย็นท่านอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องสติปัฏฐาน แล้วท่านอาจารย์กล่าวในเทปวิทยุ ๖ โมงเย็น ว่า ในขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏขึ้น แล้วถ้าเรามีความเข้าใจในขณะนั้นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา คือเป็นรูป แล้วก็การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นนามธรรม อย่างนี้ก็คือ ขณะนั้นสติปัฏฐาน กำลังเกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจชื่อ หรือไม่เข้าใจเรื่อง หรือไม่เข้าใจอะไรคะ

    ผู้ฟัง คือไม่มั่นใจที่ได้ยินว่า ที่ผมพูดตรงกับที่ได้ยินหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าโดยมากพอคนได้ยินเรื่องของสติปัฏฐาน ก็อยากจะให้สติปัฏฐานเกิด ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่า สติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่มีความเข้าใจจริงๆ ว่า สติปัฏฐานต่างกับสติระดับอื่นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจถูกต้องขึ้นว่า สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกฝ่ายดี โสภณเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นจิตฝ่ายดีทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ก่อนที่จะได้ฟังธรรมก็เป็นเราที่ให้ แต่เวลาที่ฟังธรรม แล้ว เป็นจิต และเจตสิกที่ดีเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในการจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น

    นี่คือไม่ว่าจะฟังธรรมเรื่องใดตอนใดก็ต้องน้อมมาสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป มิฉะนั้นเราก็จะลืมขั้นต้นที่เราได้ยินได้ฟังว่า เป็นธรรม แล้วธรรมก็หลากหลาย ธรรมก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมก็เป็นจิต เจตสิก

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีการระลึกได้ เราก็สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ว่าความเข้าใจของเราจะไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริง คือ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมได้ทันที แต่ว่าเป็นการที่เริ่มที่จะรู้ว่า ปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม สัจธรรม คือ ความจริงของธรรมทุกอย่างที่เกิดต้องดับ ก็จะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญามาก โดยการที่คลายความเป็นเรา ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นจะเป็นอะไร เช่น ขณะที่กำลังเห็น อย่างที่คุณณรงค์ได้ยินมา ขณะที่ได้ยิน เราทุกคนก็ได้ยิน ถ้าศึกษาว่า เป็นธรรม แล้วเราก็เอาไปใส่ว่า กำลังเห็นเป็นธรรม แล้วธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม เราก็เอาไปใส่อีกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาชื่อรูป เป็นรูป เรียกว่ารูป ส่วนที่กำลังเห็น แม้ว่าปัญญาไม่เกิดเลย แต่เราก็เอาไปใส่ว่านี่เป็นนาม เป็นจิต เป็นเจตสิก ไม่ใช่เป็นเรา เป็นขั้นคิด แต่ไม่ใช่การที่จะรู้ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องมีความเข้าใจว่า แม้แต่สติปัฏฐาน หรือสติขั้นใดก็ตาม เช่นขั้นทาน ก็ไม่ได้เกิดเพราะความที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถที่จะจงใจตั้งใจให้เกิดได้ เพราะเหตุว่าขณะที่จงใจตั้งใจเป็นเจตนาเจตสิก เกิด แล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่าสิ่งที่จะเกิดต่อ เกิดเพราะอะไรเป็นปัจจัยต่อไป ถ้าศึกษาเรื่องความเป็นปัจจัยโดยละเอียด จะไม่มีความเป็นเราเลยทุกขณะ แต่ถ้าเรายังมีความเป็นเราอยู่ เวลานี้เป็นเราที่จงใจ เวลานั้นพยายามที่จะทำอย่างอื่น เหมือนกับจะให้จิตหมดกิเลส หรือว่าให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ความจริงก็คือยังเป็นเรานั่นแหละที่คิดอย่างนั้น หรือทำอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมอย่าผิวเผิน แล้วอย่าคิดว่า เพียงฟังแค่นี้ก็ไม่อยากมี โลภะ โทสะ โมหะ อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แค่นี้ไม่พอ แล้วก็ไม่ใช่หนทางที่จะรู้ได้เลย เพราะว่าการรู้แจ้งต้องเป็นปัญญา อย่าลืมสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเห็นถูก เข้าใจถูก ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่ฟังวันนี้ปัญญาก็เจริญเลย รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่จากการฟัง ฟัง แล้วฟังอีก แม้ขณะนี้ก็มีเห็น ให้ได้ยินได้ฟังซ้ำอีกว่า ไม่ใช่เรา แล้วก็มีสภาพธรรม ๒ อย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นจิตไม่ได้ เพราะว่ามีลักษณะที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท แล้วปรากฏ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าส่วนนามธรรมซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลย มองก็ไม่เห็น สัมผัสก็ไม่ได้ แต่ว่าสามารถที่จะเกิดขึ้นเห็น สามารถที่จะคิดนึก สามารถที่จะทรงจำได้

    เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องขณะที่เห็นในขณะนี้ ให้เข้าใจขึ้น ขณะนี้กำลังรู้ลักษณะของเห็น ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น หรือว่าเป็นเพียงฟังเรื่องเห็น แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้มีเห็นซึ่งไม่ใช่เรา นี่เป็นระดับที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจระดับของปัญญาด้วยว่า ระดับใดซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ว่าเห็น ลักษณะที่เห็นขณะนี้เอง เป็นสภาพรู้เป็นนามธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าขณะนั้นไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ใครจะเรียกว่าสติปัฏฐาน ก็ แล้วแต่ ใคร แต่ว่าลักษณะจริงๆ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติปัฏฐาน แล้วต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิด แล้วดับ แต่ขณะนั้นปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ แต่ว่าเพียงขั้นที่จะรู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมี แล้วกำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะที่กำลังเห็น ถ้าเป็นความรู้ที่ค่อยๆ เข้าใจ ในขณะที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน โดยที่ไม่ต้องมีความสงสัยเลย ใครจะบอกว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน หมายความว่าคนนั้นไม่เข้าใจ สติปัฏฐาน คือ ขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็สติ ที่แปลกันก็คือ สภาพธรรมที่ระลึกรู้ โดยศัพท์ แต่ความจริงพอใช้คำว่า ระลึก เราเคยชินกับการคิดเรื่อง จะระลึกเรื่องอะไรก็ต้องเป็นยาวมาก ระลึกว่าวันนั้นทำอะไร วันนั้นไปไหน มีอะไรเกิดขึ้น นั่นเป็นการระลึกเรื่อง แต่สติปัฏฐานไม่ใช่ระลึกเรื่อง แต่ระลึกรู้ รู้อะไร รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ขณะที่สติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นไม่ใช่เราไปสร้างหรือไปทำขึ้น เลือกไม่ได้ให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด

    เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นนั้นก็คือรู้ว่าการเริ่มต้นของการที่จะรู้ความต่างของขณะที่สติปัฏฐานเกิดกับขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะมีลักษณะจริงๆ ที่สติมีอาการไม่เลอะเลือนในสิ่งที่กำลังปรากฏ คือตามรู้ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสติก็ดับเร็วมาก เหมือนกับสภาพธรรมทุกอย่าง จิต ไม่ว่าจะเกิดภพไหนภูมิไหน เป็นจิตประเภทไหน จิตจะมีอายุเพียงขณะย่อยๆ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะที่เกิด แล้วก็ฐิติขณะ คือ ขณะที่ยังไม่ดับ แล้วก็ภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ สภาพธรรมเกิดดับ ขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ และขณะที่ยังไม่ดับ ขณะนั้นก็เป็นขณะที่ตั้งอยู่ ซึ่งจะบ่ายหน้าไปสู่การดับ

    พูดอย่างนี้ช้ามาก แต่ว่าเพียงจิตเกิดดับเร็วมาก ฉันใด สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดดับด้วยเร็วมาก แต่ผู้นั้นก็ยังสามารถจะรู้ความต่างว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ แต่ปัญญาจะต้องอบรมรู้ลักษณะที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น จนสามารถที่ปัญญานั้นถึงกาละที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นธาตุทางมโนทวารปรากฏ หมดความสงสัยในลักษณะของนามธาตุนั้น รูปธาตุนั้น แต่ต้องมีความรู้ความต่างของสติซึ่งเป็นสติปัฏฐาน กับสติขั้นที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน


    หมายเลข 10418
    22 ส.ค. 2567