รู้แข็ง ละอะไรได้
ท่านอาจารย์ แม้แต่เราจะได้ยินอย่างนี้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม อย่าเพิ่งคิดว่าเรารู้จริงๆ อย่างนั้น แต่จะรู้จริงๆ ได้โดยการที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญาที่ค่อยๆ อบรมจนกระทั่ง สามารถรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็ปัญญารู้แข็ง แล้วจะลดละคลายอะไร กิเลสอะไรได้บ้าง ครับ
ท่านอาจารย์ แข็งเป็นเราหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ถ้าเป็นปัญญา ตอนนี้ผมก็ต้องตอบว่า เป็นปัญญาครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จนกว่าจะไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง จนกว่าจะไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ จนกว่าแข็งจะเป็นเพียงธรรม ซึ่งเกิด แล้วดับ
ผู้ฟัง แล้วจะลดละอะไรครับ
ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เกิดดับไงคะ ขณะนี้กำลังไม่รู้เลยว่า ธรรมเกิด แล้วดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่ประจักษ์ว่าเป็นธรรมที่ประจักษ์การเกิดดับ ก็ละความไม่รู้ ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่า ธรรมนั้นเกิดดับ
ผู้ฟัง อย่างเช่นว่าความโกรธ โทสะ เราจะรู้ รู้ได้ง่าย อย่างเช่นว่า กายคตาสติ รู้แข็ง รู้เคลื่อนไหว แล้วผมก็ยังไม่เข้าใจ รู้เพื่อจะลด ละ กิเลสตรงไหน
ท่านอาจารย์ ขณะที่แข็งปรากฏ มีตัวคุณสุกิจไหมคะ หรือว่ามีแต่แข็ง กับสภาพรู้แข็ง
ผู้ฟัง ตามความเป็นจริง ตามปริยัติก็ต้องบอกว่า
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงของคุณสุกิจ
ผู้ฟัง ครับเราต้องโยนิโส หรือพิจารณาไตร่ตรองว่า มันไม่มี
ท่านอาจารย์ นั่นคิด ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่า แข็งเป็นธรรม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่แข็งปรากฏ เยื่อใยความเป็นเราที่แข็งว่า แข็งเป็นเรามีไหม
ผู้ฟัง ตรงนี้จะลดตัวตน ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะไม่มีเลย เวลานี้ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่ได้ยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าอะไรปรากฏก็เป็นเราไปหมดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ก็คือรู้ลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะนั้นจริงๆ ว่า เป็นธรรมที่เกิดดับ แข็งเป็นอายตนะหรือเปล่า เป็น ถ้าศึกษาต่อไป เป็นธาตุหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าตามปริยัติก็ไม่ใช่ บางครั้งก็
ท่านอาจารย์ จนกว่าไม่ใช่เพียงปริยัติ แต่ถึงขั้นประจักษ์แจ้ง ปฏิเวธ เพราะฉะนั้น ปริยัตินำไปสู่การปฏิบัติ คือ ปฏิปัตติ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง สติถึงลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่างจนกระทั่งปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะประจักษ์อริยสัจจะ ทุกขลักษณะ สภาพธรรมใดเกิดสภาพธรรมนั้นดับ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง อาจารย์ยังไม่ได้ขยาย คำ “ปกติ”
ท่านอาจารย์ “ปกติ” คือเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ก็คือสภาพธรรมเกิด แล้วเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เห็น เห็นเป็นปกติหรือเปล่าคะ ใครทำให้เห็นเกิด ทำได้ไหม ไม่ได้ เป็นปกติ เมื่อมีปัจจัยก็เห็น ได้ยินในขณะนี้เป็นปกติ ต้องไปทำอะไรหรือเปล่า ขณะนี้นั่งเป็นปกติ ต้องมาทำอะไรอีกหรือเปล่า คือ ขณะใดที่เป็นปกติจริงๆ ขณะนั้นก็คือสามารถรู้ความจริงว่าทุกอย่างที่มีในขณะนั้นเป็นธรรมที่เกิด แล้วเพราะเหตุปัจจัย เป็นสังขตธรรม เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เกิด แล้วก็ดับด้วย ก็เป็นปกติ ไม่ต้องทำอะไรเลย ใครจะทำอะไรได้ ลองคิดถึงสิคะ ทำจิตได้ไหม ทำเจตสิกได้ไหม ทำรูปได้ไหม แต่เป็นความเข้าใจผิดว่าทำ หรือเราทำ เพราะขณะนั้นไม่รู้ว่า เป็นธรรมที่เกิดเมื่อมีปัจจัยตามปกติ
อ.นิภัทร ท่านเปรียบเทียบไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร การทำลายตัวตน โดยนัยยะของพระสูตร ท่านอุปมาไว้ว่า คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโค เมื่อจับโคมาได้ก็บอกว่าโค จูงไปสู่ที่จะฆ่า ก็โค จูงไปจนถึงที่ฆ่า แล้ว ก็เป็นโคอีก ฆ่าโคตาย แล้ว ก็ยังเป็นโคอยู่ สัญญา ความจำ ความคิดนึก มันยังอยู่ มันยังเป็นโคอยู่ พอแล่หนังออก เอาเนื้อออกเป็นชิ้นๆ กระดูกก็ตัดเป็นชิ้นๆ ความรู้สึกของคนธรรมดา รู้สึกว่าไม่มีโค ใครก็เห็นว่าโคไม่มี ถามว่าเนื้อเป็นชิ้นๆ โคหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ใช่โค หนังที่เป็นแผ่นที่ลอกออกมา แล้ว โคหรือเปล่า ความรู้สึกเขาก็บอกว่าไม่ใช่โค ความรู้สึกที่เราเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงก็ต้องอย่างนี้ ต้องให้รู้สึกว่า ธรรมที่ปรากฏที่เราระลึกรู้ มันเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา เหมือนไม่มีโค กระจายออกไป แล้ว มันไม่มีโค มีแต่ชิ้นเนื้อ เป็นชิ้นๆ มีกระดูกเป็นท่อนๆ อะไรต่ออะไรไปอย่างนี้ นี่ท่านอุปมาให้ฟัง การเข้าใจธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงก็อย่างนี้ ถ้าเข้าใจก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ แล้ว ความรู้สึกว่าเป็นอัตตาตัวตน มันจะหมด มันจะไม่มี มันจะทำลายไป โดยที่ความเข้าใจ มันจะเกิดว่า อย่างนี้ จริงอย่างนี้ มันเป็นจริงอย่างนี้