จิตสั่ง


    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อจิตไม่อยาก แล้วมันก็คงไม่ยืน ไม่นั่ง เหมือนเราเดินเข้าส้วม เห็นกลิ่นเหม็น เราวิ่งหนีทันที มันก็เป็นจิตสั่งให้เราวิ่งอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น ยิ่งพูดไปผมก็ยิ่งเลอะไปใหญ่ เพราะว่ามันต่อเนื่องกันหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องเป็นผู้ที่ตรงตั้งแต่แรก เช่น ถ้ารู้ เข้าใจถูกต้อง ว่าจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีความมั่นคง ว่าจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ อารัมพนะ หมายความ ถึงอารมณ์ เพราะฉะนั้นจะทิ้งคำนี้ไม่ได้เลย

    จริงอยู่ มีรูป ซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แน่นอน เพราะว่าที่ร่างกาย มีรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานส่วนหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง แต่ละกลุ่ม ถ้ากลุ่มไหนเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน กลุ่มนั้นก็มีกรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้รูปนั้นเกิด ส่วนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ก็มีจิตเป็นสมุฏฐานได้ ถ้ารูปใดเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือสมุฏฐานอื่น

    เพราะฉะนั้นแต่ละกลุ่มของรูป ก็มีสมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด เช่น จักขุปสาทที่เกิด เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลย ว่าทำไมรูปนี้เกิดขึ้น เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ในเมื่อรูปอื่น ไม่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เช่น โสตปสาทรูป ไม่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่สามารถกระทบเสียง

    เพราะฉะนั้นแต่ละรูป ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับ จิตตชรูป เกิดพร้อมจิต จะใช้คำว่าจิตสั่งไม่ได้เลย เพราะว่าทันทีที่จิตเกิด ขณะที่จิตเกิดนั่นเอง เป็นปัจจัยให้รูปเกิดด้วย แล้วแต่ว่าจิตนั้น เป็นจิตประเภทใด ก็แล้วแต่ แต่ก็จะทันสั่งไหม พร้อมกัน เกิดพร้อมกัน แล้วจิตก็เป็นสภาพรู้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น เฉพาะจักขุวิญญาณ ไม่มีจิตตชรูปเกิด จักขุวิญญาณไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดได้ เพราะว่าเป็นการประจวบกันของรูป คือ จักขุปสาท และสิ่งที่ปรากฏ ทำให้ทำกิจเห็นเกิดขึ้น แต่ว่าหลังจากที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อ เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด โดยที่ว่า ใครไปนึกอะไรทันในขณะนั้น ในขณะที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์ ไม่ได้สั่งอะไรเลย

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องตรงตัวตามความจริง ของสภาพธรรมนั้นว่า เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ เปลี่ยนไม่ได้เลย จะต้องรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้นการที่เราฟังธรรม แล้วเราจะคิดตามเผินๆ จะทำให้เราเข้าใจผิด แต่ถ้าเราคิดละเอียด และก็ประกอบกับส่วนอื่นๆ ของพระไตรปิฎก กับสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะทำให้เราเข้าใจขึ้น เช่น ในขณะที่หลับสนิท กายของเรา ที่เรายึดถือว่าเป็นกาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าปรากฏหรือเปล่า กายของเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตอนยังไม่หลับ เป็นกายของเราทั้งตัวเลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ทันทีที่หลับ กายที่ว่าเป็นของเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท กายของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจะมีกาย ปรากฏเมื่อไร ต้องมีทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะมีการรู้ได้ ใช่ไหม ขณะนอนหลับสนิท มีตาจริง มีหูจริง มีจมูกจริง มีลิ้น มีกาย กายปสาทซึมซาบอยู่ แต่ขณะที่หลับสนิท ไม่ได้รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหูใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นการที่จิตจะเกิดขึ้น สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ สามารถเห็นได้ ต้องอาศัยทวาร คือ ทาง ได้แก่ รูป เช่น ถ้าปราศจากจักขุปสาท จิตเห็นจะเกิดไม่ได้ แม้ว่าตื่น ก็ไม่เห็น ถ้าปราศจากโสตปสาทรูป แม้ว่าไม่หลับก็ไม่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่ามีเรา หรือรูป รู้ตามความเป็นจริงของรูป ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา ถ้าไม่มีกายปสาท จะกระทบ จะรู้รูปที่ตัวได้ไหม ว่าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่า เราสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่เราเคยยึดถือ ว่าเป็นรูปของเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็ต่อเมื่อกระทบ และความทรงจำของเรา ก็สามารถที่จะทรงจำว่า เรากระทบศีรษะ ทั้งๆ ที่ศีรษะก็แข็ง หรือเรากระทบข้อสอบ ทั้งๆ ที่ข้อสอบก็แข็ง ลักษณะที่มีจริงๆ ก็คือ ลักษณะที่แข็ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่เรายึดถือรูปที่แข็ง ที่อ่อน ที่ร้อน ที่เย็น ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นการที่จะละการยึดถือว่ามีเรา หรือว่ามีรูปที่นั่ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก็คือ โดยการรู้ความจริงว่า รูปจริงๆ ที่คิดว่ามี หรือหลงว่าเป็นเรา ปรากฏเมื่อมีการกระทบกาย เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน เท่านั้นจริงๆ ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังกระทบ ที่อ่อนหรือแข็ง ที่กาย ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน หรือว่ารูป ที่เราคิดว่าเป็นเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าหลับ ก็ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้ากำลังมีแข็งปรากฎ ที่ส่วนหนึ่งส่วนใด เฉพาะส่วนนั้น จะปรากฏทั่วตัวทันทีไม่ได้เลย เวลานี้แข็งปรากฏทั่วตัวทันทีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ หรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในเมื่อส่วนที่ปรากฏ เคยยึดถือตรงนั้นว่าเป็นเรา แต่ลักษณะที่แท้จริง ก็คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เท่านั้น นั่นก็คือ สามารถจะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริง รูป ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็เป็นเพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เท่านั้นเอง จึงจะละการเป็นเรา หรือการยึดถือรูปนั้น ว่าเป็นเราได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงเอาเรื่องนี้มาพูด ในมหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฐาน หรืออิริยาบถบรรพ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ถ้าแตกย่อยเป็นรูปกลาปเล็กๆ ที่สุด มีอากาศธาตุแทรกอยู่ เป็นผมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ จะเป็นผม ได้ไหม เล็กที่สุด ที่ผมเราจะตัดให้สั้น ให้ละเอียดอย่างไรก็ได้ ใช่ไหม พอแยกย่อยออกมา เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ส่วนที่เล็กเหลือเกิน จนกระทั่งแยกอีกไม่ได้แล้ว ยังจะเป็นผมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปมารวมกัน และก็มีสัณฐาน สีสันต่างๆ เราก็มีความทรงจำ แม้แต่เพียงสีดำ สีขาวในหน้าของเรา ก็จำเป็นคิ้ว จำเป็นตา จำเป็นจมูก จำเป็นปาก แต่ความจริง เป็นความทรงจำ ในรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏทางตา แต่ถ้ากระทบสัมผัส ก็คือ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว

    ถ้าพิจารณาความจริง ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทั้งตัว ละเอียดยิบ เหมือนกับกองฝุ่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้น จึงต้องพิจารณาว่า เมื่อรวมกันแล้ว ก็จะเกิดการยึดถือทั้งตัวว่านั่ง หรือว่ายึดถือบางส่วนเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ไม่พ้นจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และก็ขณะนั้น ถ้าศึกษาต่อไป ก็จะรู้ว่าที่ใดมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่นั่นก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รวมอยู่ด้วย ตั้งแต่ปริมาณที่เล็กน้อยที่สุด จนถึงรวมแล้วก็เป็นเนื้อชิ้นโตๆ หรือว่าเป็นอาหารเป็นคำๆ ส่งกลิ่น มีรสต่างๆ ได้ นี่ก็คือ เราจะต้องเข้าใจความจริงว่า การที่จะละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือของเรา แม้แต่รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก็ด้วยการรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าเป็นเพียงอ่อนหรือแข็ง ก็ต้องมีทวาร คือ ทางกาย ทางตามองอย่างไร ก็ไม่อ่อน ไม่แข็ง ทางหูจะได้ยินอ่อนแข็งที่กายก็ไม่ได้ ทางจมูกก็ได้กลิ่น แต่ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งได้ เพราะว่าต้องอาศัยทางเฉพาะแต่ละทางเท่านั้น ที่รูปต่างๆ เหล่านั้นจะปรากฏ และจะปรากฏเมื่อเกิดด้วย

    เพราะฉะนั้นชีวิตแต่ละขณะ หรือรูปธรรม นามธรรม เล็กน้อย สั้นแค่ไหน ที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ก็ต่อเมื่อรู้ความจริง ไม่ใช่ไปจำไว้ว่ามี แต่ความจริงไม่ได้ปรากฏ


    หมายเลข 10432
    31 ส.ค. 2567