พระเจ้าปุกกุสาติ (ธาตุวิภังคสูตร) ๑


    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร มีข้อความว่า

    ข้อ ๖๗๓

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อภัคควะยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร นายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด

    คือ โรงของช่างหม้อ

    นายภัคควะทูลว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ในโรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตามสบายเถิด

    เห็นถึงความอดทนที่พระผู้มีพระภาคทรงจาริกไปเพื่อประโยชน์ คือ การที่จะแสดงธรรมอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลซึ่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อ ไม่ได้ไปยังที่อยู่ ที่สะดวกสบายที่สำราญเลย แต่เข้าไปหานายช่างหม้อ และขอพักอยู่ในโรงหม้อนั้น สักคืนหนึ่ง

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    สำหรับนายภัคควะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมมีอัธยาศัยต่างกัน คนหนึ่งชอบหมู่คณะ คนหนึ่งชอบอยู่คนเดียว ถ้าคนที่อยู่ก่อนแล้วเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียวก็จะกล่าวว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ท่านอย่าเข้ามา ข้าพเจ้าได้ศาลาแล้ว ให้บุคคลที่มาทีหลังออกไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะทำให้ทั้งสองท่าน ทะเลาะกัน ธรรมดาสิ่งที่ให้แล้วก็ควรเป็นอันให้แล้วเทียว สิ่งที่ทำแล้วก็ควรเป็นอัน ทำแล้วแล เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ในโรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพัก ตามสบายเถิด

    ข้อ ๖๗๔

    ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศพระผู้มีพระภาคด้วยศรัทธา ปุกกุสาติกุลบุตรนั้นเข้าไปพักอยู่ในโรงของนาย ช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด

    ท่านปุกกุสาติตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พระเจ้าปุกกุสาติเสวยราชสมบัติในพระนครตักกสิลา พระเจ้าพิมพิสารเสวยราชสมบัติในพระนครราชคฤห์ ทรงมีวัยเท่ากัน และทรงเป็นมิตรกันอย่างแน่นแฟ้น ในคุณธรรม แม้ไม่เคยเห็นกันเลย แต่ก็เจริญพระราชไมตรีต่อกันโดยพวกพ่อค้า ของทั้ง ๒ พระนครเดินทางไปค้าขาย

    พระเจ้าพิมพิสารทรงได้รับผ้ากัมพลอันหาค่ามิได้ ๘ ผืนจากพระเจ้าปุกกุสาติ ทรงถวาย ๔ ผืนแด่พระผู้มีพระภาค ทรงไว้ใช้ ๔ ผืนในพระราชวังของพระองค์ แต่นั้นทรงพระราชดำริว่า การที่เราเมื่อจะส่งภายหลัง ก็ควรส่งบรรณาการดีกว่าบรรณาการของพระเจ้าปุกกุสาติที่ส่งแล้วก่อน ก็พระสหายได้ส่งบรรณาการอัน หาค่ามิได้แก่เรา เราจะส่งอะไรดีหนอ

    ก็ในกรุงราชคฤห์ไม่มีวัตถุที่ดียิ่งกว่านั้นหรือ ไม่มีหามิได้ พระราชาทรงมี บุญมาก ก็อีกประการหนึ่ง จำเดิมแต่กาลที่พระองค์ทรงเป็นพระโสดาบันแล้ว เว้นจากพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีสิ่งใดอื่นที่ชื่อว่าสามารถเพื่อยังพระโสมนัสให้เกิดขึ้นได้ พระองค์จึงทรงปรารภเพื่อทรงเลือกรัตนะ ที่จะถวายเป็นพระราชบรรณาการแก่ พระเจ้าปุกกุสาติ

    ธรรมดารัตนะมี ๒ อย่าง คือ มีวิญญาณ ไม่มีวิญญาณ ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น รัตนะที่ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ ทอง และเงินเป็นต้น ที่มีวิญญาณ ได้แก่ สิ่งที่เนื่องกับอินทรีย์ รัตนะที่ไม่มีวิญญาณเป็นเครื่องใช้ด้วยสามารถแห่งเครื่องประดับ เป็นต้นของรัตนะที่มีวิญญาณนั่นเทียว ในรัตนะ ๒ อย่างนี้ รัตนะที่มีวิญญาณประเสริฐที่สุด

    รัตนะแม้มีวิญญาณมี ๒ อย่าง คือ ดิรัจฉานรัตนะ มนุษยรัตนะ ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น ดิรัจฉานรัตนะ ได้แก่ ช้างแก้ว และม้าแก้ว ดิรัจฉานรัตนะแม้นั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องใช้ของมนุษย์ทั้งหลายนั่นเทียว ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น มนุษยรัตนะประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    แม้มนุษยรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ อิตถีรัตนะ ปุริสรัตนะ ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น แม้อิตถีรัตนะซึ่งเกิดแก่พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเป็นอุปโภคของบุรุษแล ในรัตนะ ๒ อย่างนี้ ปุริสรัตนะนั่นเทียวประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    แม้ปุริสรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ อาคาริกรัตนะ ๑ อนาคาริกรัตนะ ๑ แม้ใน อาคาริกรัตนะนั้น พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนมัสการสามเณรที่บวชในวันนี้ด้วย พระเบญจางคประดิษฐ์ ในรัตนะทั้ง ๒ อย่างแม้นี้ อนาคาริกรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุด

    แม้อนาคาริกรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ เสกขรัตนะ ๑ อเสกขรัตนะ ๑ ใน อนาคาริกรัตนะ ๒ อย่างนั้น พระเสกขะตั้งแสนย่อมไม่ถึงส่วนแห่งพระอเสกขะ ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ อเสกขรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุด

    พระอเสกขะ คือ ผู้ที่ไม่ต้องศึกษาเพื่อประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสอีก เพราะดับกิเลสหมดแล้ว เพราะฉะนั้น พระอเสกขะ ได้แก่ พระอรหันต์

    อเสกขรัตนะแม้นั้นก็มี ๒ อย่าง คือ พุทธรัตนะ สาวกรัตนะ ในอเสกขรัตนะนั้น สาวกรัตนะแม้ตั้งแสนก็ไม่ถึงส่วนของพุทธรัตนะ ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ พุทธรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    แม้พุทธรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ ปัจเจกพุทธรัตนะ สัพพัญญูพุทธรัตนะ ในพุทธรัตนะนั้น ปัจเจกพุทธรัตนะแม้ตั้งแสนก็ไม่ถึงส่วนของสัพพัญญูพุทธเจ้า ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ สัพพัญญูพุทธรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    ก็ขึ้นชื่อว่ารัตนะที่เสมอด้วยพุทธรัตนะ ย่อมไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เพราะฉะนั้น พระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วทรงพระราชดำริว่า ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะมีค่ายิ่งกว่าพระรัตนตรัย จึงได้ตรัสถามพวกพ่อค้าชาวพระนคร ตักสิลาว่า รัตนะ ๓ อย่างนี้ คือ พุทธะ ธรรม สังฆะ ย่อมปรากฏในชนบทของพวกท่านหรือ

    พวกพ่อค้าชาวพระนครตักสิลากราบทูลว่า

    ข้าแต่มหาราช แม้เสียงก็ไม่มีในชนบทนั้น ก็การเห็นจักมีแต่ที่ไหนเล่า

    แสดงให้เห็นว่า บางแห่ง บางประเทศ บางสถานที่ ไม่มีแม้แต่เสียงที่กล่าวว่า พุทธะ ธรรม สังฆะ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีโอกาสเกิดในประเทศซึ่งกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัยทำให้โสตวิญญาณได้ยินเสียงที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็แสดงว่า ต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่เป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นปัจจัยทำให้มีโอกาสได้ยินเสียงอย่างนี้ เพราะว่าเสียงก็มีหลายเสียง แต่เสียงอื่น ไม่เป็นปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นพิจารณาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมหรือผลของกรรมในชีวิตประจำวัน เวลา ที่กุศลญาณสัมปยุตต์เกิด ไม่ใช่ในขณะอื่น แต่ในขณะที่พิจารณาสภาพที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าขณะใดเป็นกรรม ขณะใดเป็นผลของกรรม ซึ่งถ้าไม่ได้สะสมการพิจารณา การใส่ใจ การศึกษาเข้าใจธรรมมาก่อนในอดีต แม้มีโอกาสได้ยินเสียง ซึ่งเป็นโอกาส ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เพราะไม่ได้สะสมความเข้าใจธรรมมาพอ ก็ทำให้ผ่านเสียงนั้นไปโดยที่ไม่สนใจ แต่สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาแล้ว เมื่อได้ฟังก็มีความสนใจ มีการพิจารณาศึกษาจนกระทั่งสามารถเข้าใจในเหตุในผล ในลักษณะของสภาพธรรมได้

    ด้วยเหตุนี้

    พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้ทำแผ่นทองคำยาว ๔ ศอก กว้างประมาณ ๑ คืบ หนาพอควร ไม่บางนัก ไม่หนานัก ทรงสนานพระเศียรแต่เช้าตรู่ ทรงอธิษฐาน องค์อุโบสถ ทรงเสวยพระกระยาหารเช้า แล้วทรงลิขิตพระอักษรลงในแผ่นทองคำ ทรงลิขิตพระพุทธคุณ และการทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ทรงลิขิตพระธรรมคุณ ทรงลิขิตโพธิปักขิยธรรม ๓๗ สติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ทรงลิขิตพระสังฆคุณ และอานาปานสติ

    สำหรับพระสังฆรัตนะในยุคนั้นสมัยนั้น เป็นพระอริยบุคคลที่ยินดีสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ สามารถละนิวรณ์ บรรลุฌาน และถึงอภิญญา เป็นมหาบุรุษ เพราะฉะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระราชดำริที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด คือ พระคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งได้จารึกลงในแผ่นทองคำ

    ทรงลิขิตว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว เป็นศาสนานำสัตว์ออกจากทุกข์ ถ้าพระสหายของเราจักอาจไซร้ ขอได้เสด็จออกทรงผนวชเถิด ดังนี้

    ไม่สามารถออกทรงผนวชด้วยพระองค์เอง แต่หวังว่า ผู้ที่มีอุปนิสัยปัจจัยมา ถ้าอาจสามารถก็ขอได้เสด็จออกทรงผนวชเถิด

    ทรงม้วนแผ่นทองคำ พันด้วยผ้ากัมพลเนื้อละเอียด ทรงใส่ในหีบอันแข็งแรง ทรงวางหีบนั้นในหีบทองคำ ทรงวางหีบทองคำลงในหีบเงิน ทรงวางหีบเงินลงใน หีบแก้วมณี ทรงวางหีบแก้วมณีลงในหีบแก้วประพาฬ ทรงวางหีบแก้วประพาฬลงในหีบทับทิม ทรงวางหีบทับทิมลงในหีบแก้วมรกต ทรงวางหีบแก้วมรกตลงใน หีบแก้วผลึก ทรงวางหีบแก้วผลึกลงในหีบงา ทรงวางหีบงาลงในหีบรัตนะทุกอย่าง ทรงวางหีบรัตนะทุกอย่างลงในหีบเสื่อลำแพน ทรงวางหีบเสื่อลำแพนลงใน ผอบแข็งแรง

    ทรงวางผอบแข็งแรงลงในผอบทองอีก ทรงนำไปโดยนัยก่อนนั่นเทียว ทรงวางผอบที่ทำด้วยรัตนะทุกอย่างลงในผอบที่ทำด้วยเสื่อลำแพน แต่นั้นทรงวางผอบที่ทำด้วยเสื่อลำแพนลงในหีบที่ทำด้วยไม้แก่น ทรงนำไปโดยนัยกล่าวแล้วอีกนั่นเทียว

    ทรงวางหีบที่ทำด้วยรัตนะทุกชนิดลงในหีบที่ทำด้วยเสื่อลำแพน ข้างนอกทรงพันด้วยผ้าประทับตราพระราชลัญจกร ตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า ให้ประดับ ช้างมงคล และจัดบัลลังก์บนช้างนั้น ให้ยกเศวตฉัตร ทำถนนพระนครให้สวยงาม ประดับประดาอย่างดีด้วยธงปฏากอันงดงาม และให้บูชาด้วยของหอม ธูป และดอกไม้ เป็นต้น ตามทางที่จะนำเครื่องบรรณาการนั้นไป ส่วนพระองค์เองทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ทรงแวดล้อมด้วยกองกำลังพร้อมดนตรีทุกชนิด ทรงพระราชดำริจะเสด็จไปส่งราชบรรณาการจนสุดพระอาณาเขตของพระองค์ และได้พระราชทานพระราชสาส์นสำคัญให้แก่อำมาตย์ไปถวายพระเจ้าปุกกุสาติว่า เมื่อจะทรงรับบรรณาการนี้ อย่ารับในท่ามกลางตำหนักนางสนมกำนัล จงเสด็จขึ้นพระราชปราสาทแล้วทรงรับเถิด

    ครั้นพระราชทานพระราชสาส์นนี้แล้ว ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดาเสด็จไปสู่ปัจจันตประเทศ ทรงนมัสการด้วยพระเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเสด็จกลับ

    อะไรมีค่า พวกหีบเครื่องเพชรนิลจินดา หรือว่าพระรัตนตรัย แต่การที่จะ นำพระรัตนตรัยเป็นเครื่องราชบรรณาการ ก็ต้องกระทำด้วยศรัทธาอย่างมาก เพื่อให้เห็นคุณค่าของพระรัตนตรัย

    ท่านผู้ฟังคงจะมีของขวัญที่จะให้บุคคลอื่นในโอกาสต่างๆ ไม่ทราบท่านผู้ฟัง คิดว่าจะให้อะไรซึ่งเป็นประโยชน์ที่สุด ก็คงจะมีหลายอย่าง แต่ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าพระรัตนตรัย ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นสามารถมีโอกาสศึกษา พิจารณา และ เกิดปัญญาของตนเองสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เห็นประโยชน์ของกุศลเพื่อที่จะ ละคลายอกุศล จนกว่าสามารถดับอกุศลได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ของขวัญที่ประเสริฐที่สุด คือ พระรัตนตรัย

    การที่ทุกท่านเกิดมาพบกันแต่ละชาติในสังสารวัฏฏ์โดยสถานต่างๆ นั้น บางชาติอาจเป็นเพื่อนฝูงมิตรสหาย บางชาติอาจเป็นศัตรู หรือบางชาติอาจเป็นมารดาบิดา เป็นญาติพี่น้อง แต่การพบกันในชาติที่ได้เกื้อกูลเป็นมิตรกันในพระธรรม หรือมีส่วนร่วมกันเผยแพร่พระธรรม ชาตินั้นต้องเป็นชาติที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ที่เกิดมาโดยสถานอื่น

    สำหรับในการที่จะรับเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้าพิมพิสาร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ฝ่ายพระเจ้าปุกกุสาติ ทรงตบแต่งทางโดยทำนองนั้น ตั้งแต่รัฐสีมาของพระองค์ ทรงให้ประดับประดาพระนคร ได้ทรงกระทำการต้อนรับพระราชบรรณาการ พระราชบรรณาการเมื่อถึงพระนครตักสิลา ได้ถึงในวันอุโบสถ

    ฝ่ายอำมาตย์ผู้รับพระราชบรรณาการไปทูลบอกพระราชสาส์นที่กล่าวแก่พระราชา พระราชาทรงสดับพระราชสาส์นนั้นแล้ว ทรงพิจารณากิจควรทำ แก่อำมาตย์ทั้งหลายผู้มาพร้อมกับพระราชบรรณาการ ทรงถือพระราชบรรณาการเสด็จขึ้นสู่พระปราสาท และตรัสว่า ใครๆ อย่าเข้ามาในที่นี้ ทรงให้ทำการรักษาที่ พระทวาร ทรงเปิดพระสีหบัญชร ทรงวางพระราชบรรณาการบนที่พระบรรทมสูง ส่วนพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะต่ำ ทรงทำลายรอยประทับ เมื่อทรงเปิดโดยลำดับจำเดิมแต่หีบเสื่อลำแพน ทรงพระราชดำริว่า ชื่อว่ามหาบริวารนี้จะไม่มีแก่รัตนะอื่น รัตนะที่ควรฟังได้เกิดขึ้นแล้วในมัชฌิมประเทศแน่แท้

    ลำดับนั้น ทรงเปิดหีบนั้นแล้ว ทรงทำลายรอยประทับพระราชลัญจนะ ทรงเปิดผ้ากัมพลอันละเอียดทั้ง ๒ ข้าง ทรงเห็นแผ่นทองคำ พระองค์ทรงคลี่ แผ่นทองคำนั้นออก ทรงพระราชดำริว่า พระอักษรทั้งหลายน่าพอใจจริงหนอ มีหัวเท่ากัน มีระเบียบเรียบร้อย มีมุมสี่ ทรงปรารภเพื่อจะทรงอ่านจำเดิมแต่ต้น

    พระโสมนัสอันมีกำลังได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ที่ทรงอ่านแล้วอ่านอีกซึ่ง พระพุทธคุณทั้งหลายว่า พระตถาคตทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ ขุมพระโลมาเก้าหมื่นเก้าพันขุม ก็มีปลายพระโลมาชูชันขึ้น พระองค์ไม่ทรงทราบถึงความที่พระองค์ประทับยืนหรือประทับนั่ง (ด้วยความปีติโสมนัสอย่างยิ่งในขณะนั้น)

    ลำดับนั้นพระปีติอันมีกำลังอย่างยิ่งได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า เราได้ฟัง พระศาสนาที่หาได้โดยยากนี้ แม้โดยแสนโกฏิกัปป์ เพราะอาศัยพระสหาย พระองค์เมื่อไม่อาจเพื่อทรงอ่านต่อไป ก็ประทับนั่งจนกว่ากำลังปีติสงบระงับ แล้วทรงปรารภ พระธรรมคุณทั้งหลายต่อไปว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ดังนี้ พระองค์ก็ทรงมีพระปีติอย่างนั้นแม้ในพระธรรมคุณนั้นเทียว พระองค์ประทับนั่งอีก จนกว่ากำลังปีติสงบระงับ ทรงปรารภพระสังฆคุณทั้งหลายต่อไปว่า พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดี ในพระสังฆคุณแม้นั้น พระองค์ก็ทรงมีพระปีติอย่างนั้นเหมือนกัน

    ลำดับนั้น ทรงอ่านอานาปานสติกัมมัฏฐาน ในลำดับสุดท้าย ทรงยังฌานหมวดสี่ และหมวดห้าให้เกิดขึ้น พระองค์ทรงยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุข ในฌานนั้นแหละ ใครอื่นย่อมไม่ได้เพื่อเห็น (คือ ไม่ได้ออกไปให้คนอื่นเห็นเลย) มหาดเล็กประจำพระองค์คนเดียวเท่านั้นย่อมเข้าไปได้ ทรงยังเวลาประมาณกึ่งเดือนให้ผ่านไปด้วยประการฉะนี้

    ชาวพระนครทั้งหลายประชุมกันในพระลานหลวง ได้ทำการโห่ร้องตะโกนว่า ตั้งแต่วันที่พระราชาทรงรับพระราชบรรณาการแล้ว ไม่มีการทอดพระเนตรพระนคร หรือการทอดพระเนตรดูนางฟ้อนรำ ไม่มีการพระราชทานวินิจฉัย พระราชาจงทรง พระราชทานพระราชบรรณาการที่พระสหายส่งมาให้แก่ผู้รับไปเถิด

    หมายความว่า ขอให้ส่งราชบรรณาการนั้นคืนไป เพราะทำให้พระราชาไม่ได้ทอดพระเนตรพระนคร ไม่ได้ทอดพระเนตรดูนางฟ้อนรำ และไม่มีการพระราชทานวินิจฉัย และมีความคิดต่อไปว่า

    ธรรมดาพระราชาทั้งหลาย ย่อมทรงพยายามเพื่อหลอกลวงแม้ด้วยเครื่องบรรณาการ ยึดพระราชสมบัติของพระราชาบางพระองค์ให้แก่ตน พระราชาของพวกเราทรงทำอะไรหนอ ดังนี้

    ใน ๑๕ วันนั้น สงสัยมากว่า พระราชาทรงทำอะไร

    พระราชาทรงสดับเสียงโห่ร้องแล้วทรงพระราชดำริว่า เราจักธำรงไว้ ซึ่งราชสมบัติ หรือพระศาสนา

    ลำดับนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เราจักธำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของ พระศาสดา ดังนี้ ทรงจับพระแสงดาบที่ทรงวางไว้บนพระที่บรรทม ตัดพระเกศาแล้ว ทรงส่งมหาดเล็กประจำพระองค์ให้นำผ้ากาสาวพัสตร์สองผืน และบาตรดินจาก ในตลาด ทรงอุทิศต่อพระศาสดาว่า พระอรหันต์เหล่าใดในโลก เราบวชอุทิศ พระอรหันต์เหล่านั้น ดังนี้ แล้วทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงสะพายบาตร เสด็จลงจากพระปราสาท

    ก็ประชาชนทั้งหลายเห็นนางฟ้อนผู้ยืนที่ประตูทั้งสามเป็นต้น แต่จำพระราชานั้นซึ่งเสด็จลงมาไม่ได้ พวกเขาคิดว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาเพื่อแสดงธรรมกถาแก่พระราชา

    ท่านผู้ฟังจะเห็นขันติ ความอดทนอย่างยิ่งของพระเจ้าปุกกุสาติซึ่งออกจากปราสาทราชวังสู่เพศบรรพชิต ไม่มีสมบัติอะไรเลย ความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่จะต้องมีมากสักแค่ไหน จนกว่าจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยสะสมขันติ ความอดทนมาอย่างมาก ย่อมไม่สามารถกระทำได้อย่างพระเจ้าปุกกุสาติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ได้ยินว่า กุลบุตรนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

    ข้อความในอรรถกถาเมื่อเปลี่ยนจากพระราชาสู่เพศสมณะ จึงใช้คำว่า กุลบุตร

    พระศาสดาของเราเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบรรพชาพระองค์เดียว เสด็จไปพระองค์เดียว เราละอายต่อพระศาสดา ได้ยินว่า พระศาสดาของเรา ทรงบรรพชาแล้ว ไม่เสด็จขึ้นยาน และไม่ทรงสวมฉลองพระบาทโดยที่สุดแม้ชั้นเดียว ไม่ทรงกั้นร่มกระดาษ

    ทุกท่านมีรองเท้าหลายคู่ และไปไหนโดยยาน แต่พระเจ้าปุกกุสาติมีความคิดที่ละอายต่อพระศาสดา ใคร่ที่จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาท คือ เมื่อทรงบรรพชาแล้วไม่เสด็จขึ้นยาน ไม่ทรงสวมฉลองพระบาทโดยที่สุดแม้ชั้นเดียว ไม่ทรงกั้นร่ม

    กุลบุตรนั้นคิดว่า เราเดินทางไกล ไม่อาจเพื่อจะไปเองคนเดียว จึงเสด็จติดตามพ่อค้าพวกหนึ่ง เมื่อกุลบุตรผู้สุขุมาลชาติไปในแผ่นดินที่ร้อนระอุ พื้นพระบาททั้งสองข้างก็กลัดหนองแตกเป็นแผล ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้น

    ยากที่ใครจะทำได้จริงๆ แต่ถ้าได้สะสมขันติคือความอดทนอย่างมากมาแล้วเป็นอุปนิสสยปัจจัยจึงจะทำได้ และได้ทำแล้วตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสม โดย สภาพความเป็นอนัตตา ใครจะทำได้หรือทำไม่ได้อย่างไร ก็รู้อุปนิสสยปัจจัยที่ แต่ละบุคคลได้สะสมมาตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นเมื่อพวกพ่อค้าตั้งค่ายพักนั่งแล้ว กุลบุตรก็ลงจากทาง นั่ง ณ โคนต้นไม้ ต้นหนึ่ง ชื่อว่าผู้ทำบริกรรมเท้า หรือนวดหลังในที่นั่ง ไม่มี กุลบุตรนั้นเข้า อานาปานจตุตถฌาน ข่มความลำบากในทางความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อน ยังเวลาให้ผ่านไปด้วยความยินดีในฌาน

    ในวันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ทำการปฏิบัติสรีระ เดินติดตามพวกพ่อค้าอีก ในเวลาอาหารเช้า พวกพ่อค้ารับบาตรของกุลบุตรแล้วใส่ขาทนียะ และโภชนียะลงในบาตรถวาย ขาทนียะ และโภชนียะนั้นเป็นข้าวสารดิบบ้าง เศร้าหมองบ้าง แข็งเสมอกับก้อนกรวดบ้าง จืด และเค็มจัดบ้าง

    กุลบุตรพิจารณาสถานที่พัก บริโภคขาทนียะ และโภชนียะนั้นดุจอมฤต โดยทำนองนั้น

    คือ เปี่ยมด้วยความศรัทธาจริงๆ ที่จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ด้วยการบริโภคอาหารในบาตร

    ท่านเดินทางไกลสิ้นทาง ๑๙๒ โยชน์ แม้จะเดินไปใกล้ซุ้มประตูพระเชตวัน ก็ตาม แต่ก็ไม่ถามว่า พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน

    บางท่านก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อท่านตั้งใจที่จะไปที่หนึ่งที่ใด แม้ไม่รู้จักสถานที่นั้น แต่ก็เชื่อว่า ที่นั้นอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องถามใคร เพราะฉะนั้น ท่านปุกกุสาติ ก็ไม่ได้ถามว่าพระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ถาม

    เพราะเคารพในพระศาสดา และเพราะอำนาจแห่งพระราชสาส์นที่พระราชาส่งไป ก็พระราชาทรงพระราชสาส์นไป ทรงทำดุจพระศาสดาทรงอุบัติในกรุงราชคฤห์ว่า พระตถาคตทรงอุบัติในโลกนี้

    คือ ทำให้เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระนครราชคฤห์ เพราะฉะนั้น แม้เดินไปใกล้ซุ้มประตูพระเชตวันก็ผ่านไป อุตส่าห์เดินต่อไปจนกระทั่งถึงกรุงราชคฤห์

    เพราะฉะนั้น จึงไม่ถาม เดินทางไปสิ้น ๔๕ โยชน์ ในเวลาพระอาทิตย์ตก กุลบุตรนั้นไปถึงกรุงราชคฤห์ จึงได้ถามว่า พระศาสดาประทับ ณ ที่ไหน

    เมื่อชาวบ้านทราบว่าท่านมาจากอุตตรประเทศ ก็ได้เรียนท่านว่า ท่านผ่าน พระนครสาวัตถีมา ๔๕ โยชน์ จนถึงพระนครราชคฤห์แล้ว และพระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีนั้น

    ปุกกุสาติกุลบุตรคิดว่า บัดนี้ไม่ใช่กาล เราไม่อาจกลับไปพระนครสาวัตถี วันนี้เราพักอยู่ในที่นี้ก่อน พรุ่งนี้จึงจะไปสู่สำนักพระศาสดา

    ซึ่งต้องเดินทางอีก ๔๕ โยชน์


    หมายเลข 1049
    3 ส.ค. 2567