ปฏิบัติคืออย่างไร
ปฏิบัติ หรือปฏิปัตติ แปลว่าถึงเฉพาะ คือรู้ตรงตามลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่าง ตามที่ได้เข้าใจจากขั้นการฟังพระธรรม
ผู้ฟัง ปฏิปัตติ แปลว่า ถึงเฉพาะ จะถามว่าถึงอะไรครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟังธรรมเลยไม่เข้าใจแน่นอนใช่ไหม ถึงเฉพาะอะไร แต่ถ้ารู้ว่าเดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่มีจริงๆ แน่นอน ถูกต้องไหม แล้วเข้าใจสิ่งนั้นหรือไม่ว่าคืออะไร เป็นอะไร หรือไม่เข้าใจเลย อย่างเห็นขณะนี้ มี เป็นเราเห็น หรือว่าไม่ใช่เรา แต่มีปัจจัยที่จะทำให้ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป ถูกไหม เพราะว่าถ้าธาตุชนิดนี้ไม่เกิด จะไม่มีการยึดถือว่าเราเห็น แต่เพราะไม่รู้ เมื่อมีธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นเห็น ก็เข้าใจว่าเราเห็น อะไรถูกอะไรผิด เราเห็นถูก หรือว่าเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเห็น เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็น เข้าใจอย่างนี้ใช่ไหม รู้จักธาตุเห็น หรือยัง แค่ได้ยิน ได้ฟัง ใช่ไหม เริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้เห็นไม่ใช่เราเป็นธาตุ แต่ยังไม่ถึงเฉพาะด้วยความเห็นถูก ในความเป็นธาตุ ซึ่งไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน จะไม่เข้าใจคำว่าถึงเฉพาะ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่มีจริงจากขั้นการฟัง จนกระทั่งมั่นคงเป็นสัจจญาณ เป็นการรอบรู้ แม้แต่คำว่าธรรม ถ้ารู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง จะไม่สงสัยในเสียง ในกลิ่น ในรส เป็นสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งเกิดปรากฏตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นๆ ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นี่ขั้นเข้าใจ แต่ยังไม่ถึงเฉพาะลักษณะของธรรม ซึ่งเป็นธาตุนั้นๆ เช่นเสียง ขณะนี้ไม่มีเสียง แล้วก็มีเสียง แล้วก็หามีไม่ เพราะยังไม่มีเสียง แล้วเสียงก็เกิดขึ้น แล้วเสียงก็ดับไป นี่คือความเข้าใจ แต่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งในธาตุเสียง ขณะนี้ยังคงเป็นเสียงหนึ่งเสียงใด แต่ว่าถ้าตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีธาตุรู้ คือได้ยิน เสียงปรากฏได้ไหม ไม่ได้
เพราะฉะนั้นธาตุรู้ เป็นสภาพธรรมที่กำลังได้ยินเสียง ถึงเฉพาะอะไร ถึงเฉพาะความจริงของธาตุรู้ หรือว่าถึงเฉพาะความจริงของเสียง ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมซึ่งต่างกัน นี้คือความหมายของถึงเฉพาะ ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาในขั้นการฟังเลย ปฏิปัตติเกิดไม่ได้เลย เพราะปฏิปัตติ ไม่ใช่เรา แต่เป็นสติที่ใช้คำว่าสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าไม่ใช่สติขั้นฟัง ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบ แต่เป็นขั้นที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ฟังว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นก็ถึงเฉพาะความจริงของแต่ละอย่างที่ได้ฟัง ซึ่งถ้าไม่มีการฟัง จะไม่มีการถึงเฉพาะได้
ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวว่า ถึงสภาวธรรม ถูกไหมครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าเราเข้าใจ ธรรมต้องสอดคล้องกัน ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามชื่อ แม้แต่คำว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุรู้ ก็ไม่พ้นจากความจริงใช่ไหม และก็ไม่พ้นจากความเป็นธาตุ ไม่ต้องสงสัยว่า แล้วเป็นสภาวธรรมไหม แล้วเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไหม นั้นคือความคิด สภาวะหมายความว่าอะไรคะ คุณคำปั่น
อ. คำปั่น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นเสียง เห็นเป็นเห็น ยังสงสัยไหมว่า ธรรมต้องมีภาวะ มีสภาวะของตน ไม่ใช่ของสภาพธรรมอื่น แต่ละหนึ่งๆ ก็มีภาวะของตนๆ เพราะฉะนั้นเราไปติดที่คำ เราได้ยินคำว่า คำ บางคนก็บอกว่าพูดสภาพธรรมไม่ได้ ต้องพูดสภาวธรรม พูดอะไรก็ได้ ขอให้เข้าใจเถอะ แม้แต่ข้อความในพระไตรปิฏก พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้ว่า ให้เข้าใจในภาษาของตน ไม่ใช่ติเตียนภาษาชาวบ้าน เขาใช้คำอะไร ให้เป็นที่เข้าใจกัน ก็ใช้คำนั้นให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นเราใช้ภาษาไทย และก็มาจากคำในภาษาบาลี แม้แต่คำว่าธรรม สภาวะ เพราะฉะนั้น ว (วอ) กับ พ (พอ) ก็เปลี่ยนใช้แทนกันได้ บางแห่งก็พูดว่าสภาวะ แต่เราจะใช้คำว่าสภาพธรรมก็ไม่เห็นต่าง
ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจความจริง เริ่มสงสัย นี่ใช่ไหม นั่นใช่ไหม นี่เป็นนั่นรึเปล่า นั่นเป็นนี่รึเปล่า แต่ความจริงก็คือ ถ้าเข้าใจธรรมแล้วก็ไม่มีข้อสงสัย เช่นจิตกับวิญญาณ วิญญาณเป็นจิตหรือเปล่า เพราะอะไร วิญญาณเป็นธาตุรู้ แต่ว่าหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นก็ทรงบัญญัติคำต่างๆ เพื่อให้รู้ความต่างของธาตุชนิดนั้น ก็คือว่าถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง พระธรรมทั้งหมด ต้องสอดคล้องกัน เพราะเหตุว่าเป็นความจริงถึงที่สุด ถ้าไม่พูดคำว่าเป็นธรรม บอกว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะพูดคำไหนก็ได้ เห็นมีจริง เป็นสิ่งที่มีจริง เห็นเป็นธรรม ความหมายเหมือนกัน ไม่ต้องไปคิดว่า แล้วธรรมกับมีจริงนี่ เหมือนกันหรือไม่ ใช่ไหม เพราะเหตุว่าหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ใช้ภาษาอะไรก็ได้ สภาพสิ่งที่มีจริง เปลี่ยนได้ไหม ให้ไม่มี ให้ไม่จริง ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นพูดถึงสิ่งที่มีจริง คนละภาษา ที่แคว้นมคธถ้าบอกว่าสิ่งที่ไม่จริง เขาไม่รู้เรื่อง เขารู้แต่คำที่เขาใช้เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ในภาษานั้น กับชาวเมืองที่พูดภาษานั้น ภาษาไทยเราก็บอกว่าสิ่งที่มีจริง ถ้าคนที่ไม่รู้จักว่า สิ่งที่มีจริงคือสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วพอได้ยินคำว่า ธรรม เขาคิดว่าอย่างไร ไม่รู้เลย ถามว่าแล้ว ธรรมคืออะไร ใช่ไหม แล้วก็ไปแสวงหาธรรม เพราะไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร ไปปฏิบัติธรรม เพราะไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร แต่ถ้ารู้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ถูกต้องไหม ถ้าสิ่งนั้นไม่มี จะตรัสรู้อะไร เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง ต้องเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ซึ่งทุกคนก็มีสิ่งที่มีจริงตั้งแต่เกิด แต่ไม่เข้าใจ เข้าใจว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็คือ สิ่งที่มีจริง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีจริงนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และสิ่งที่มีจริงเหมือนกัน หรือต่างกัน มีหลากหลายมากเลย และสิ่งที่มีจริง ที่มีจริงทั้งหมด ต่างกันหรือเหมือนกัน สิ่งที่มีจริงมีหลายอย่าง ใช่ไหม แต่ละอย่างนั้น เหมือนกันหรือว่าต่างกัน
ผู้ฟัง ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ต่างกัน จึงต้องแสดงความจริงของสิ่งที่ต่าง ว่าต่างกันอย่างไร ต่างกันคือ อย่างหนึ่งเกิดขึ้น แต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้ได้ เสียงเกิดแล้ว แต่เสียงไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ปวด ไม่ได้จำ ไม่ได้คิดอะไรเลยทั้งสิ้น เสียงเกิดขึ้นเป็นเสียง แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเสียง กลิ่นก็มี รสก็มี แข็งก็มี สภาพที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่ง คือประเภทซึ่งไม่รู้อะไร นี่คือภาษาไทย แต่ถ้าเป็นภาษามคธี ภาษามคธ ภาษาบาลี ก็ใช้คำว่ารูปธรรม เราก็เรียกสั้นๆ ว่า รูปธรรม มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ที่ตัว มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ นอกตัว มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธรรม ใช่ไหม เห็นก็มี ได้ยินก็มี คิดก็มี จำก็มี ทั้งหมดนี้เป็นธาตุรู้ ซึ่งหลากหลาย แต่ในบรรดาธาตุรู้ ซึ่งหลากหลาย ธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ หมายความว่าต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถูกรู้ ปรากฏเพราะถูกรู้ เพราะฉะนั้นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน เช่น เดี๋ยวนี้ เห็นไหม
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ ได้ยินไหม
ผู้ฟัง ได้ยิน
ท่านอาจารย์ ก็กล่าวถึงสภาพที่รู้แจ้ง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เป็นอื่นเลย ทางหู รู้แจ้งเฉพาะเสียงที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เสียงอื่น รู้แจ้งในเสียงนั้น นี่เป็นสภาพธรรม ซึ่งบัญญัติใช้คำว่า จิตหรือจิตตะ ในภาษาบาลี ไม่ใช่เรา ทำไมใช้คำนี้ ให้รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่ไม่ใช่มีแต่เห็น ไม่ใช่มีแต่ได้ยิน ยังมีชอบ มีไม่ชอบ มีสภาพธรรมอื่น เช่นจำ เช่นเจ็บ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ธาตุ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้น ก็มีสภาพของนามธรรมที่อาศัยจิตเกิดขึ้น ใช้คำว่าเจตสิก เห็นนี่ชอบไหม
ผู้ฟัง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง
ท่านอาจารย์ ชอบไม่ใช่เห็น ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นชอบ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก คือสิ่งที่มีจริงในโลกนี้ทั้งหมด ในจักรวาลที่ไหนก็ตาม ที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ของสิ่งนั้นๆ โดยประการทั้งปวงโดยสิ้นเชิง ที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะเหตุว่าเพียงมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย ชาติก่อนเป็นใคร เห็นอะไร ชาตินี้ก็จำไม่ได้เลย เป็นคนใหม่ เรื่องใหม่ เมื่อวานนี้ก็ไม่ใช่วันนี้ เเล้วก็ไม่ใช่พรุ่งนี้ และก็ไม่ใช่ขณะต่อไป ไม่ใช่ชาติต่อไปด้วย นี่ก็คือให้เข้าใจความจริง ซึ่งมีจริงๆ ทุกกาลสมัย