กล้าจะรู้ความจริงไหม
ปัญญาเป็นสภาพที่กล้าจะรู้ความจริง ไม่หวั่นไหวกับสภาพความจริงที่กำลังปรากฏ แม้มีอกุศล เช่นโลภะเกิดขึ้น ก็ไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจถูกว่าเป็นเพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่งที่เกิดตามเหตุปัจจัย ปัญญากล้าที่จะทิ้งสิ่งที่ผิด และแสดงสิ่งที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ใครเป็นผู้กล้าบ้าง
อ.ธิดารัตน์ กล้าแบบไหนคะ
ท่านอาจารย์ กล้าที่จะรู้ความจริง เพราะฉะนั้นเวลาที่โลภะเกิด ไม่อยากมีโลภะ เพราะความเป็นเรา กล้าหรือเปล่า แต่ว่าโลภะเกิด และก็ได้ฟังด้วยความเข้าใจมาก่อนว่า ไม่ใช่เรา และถ้าโลภะไม่เกิด จะรู้ได้อย่างไร ว่านั่นไม่ใช่เรา เมื่อไรๆ ที่โลภะเกิด ก็คือไม่ใช่เรา กล้าที่จะรู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง โกรธโลภะไหม ไม่ชอบโลภะไหม ยังมีความเป็นเรา ที่ไม่ชอบ แต่ถ้าเข้าใจตามความเป็นจริงว่า โลภะไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีจริง และเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ใครทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นกล้าไหม หรือยังไม่กล้า นักรบยิงไวยิงไกล
อ. วิชัย ก็กำลังสะสมความกล้าอยู่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จนกว่าขณะใดที่โลภะเกิด ขณะนั้นเริ่มเข้าใจ เริ่มเป็นคนกล้า เริ่มเป็นความกล้า อาจหาญ ร่าเริง เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่เป็นอื่น เพราะเกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้ว แล้วก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ ด้วย ซึ่งไม่มีใครไปสามารถที่จะบังคับไม่ให้เกิด หรือเกิดแล้วไม่ให้ดับก็ไม่ได้ การกล้าก็คือ สามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการรู้ความจริง ดับแล้วไม่เหลือ กล้าไหม ทุกขณะด้วย ทุกอย่างด้วย ไม่เว้น
อ. อรรณพ ถ้ายังหวั่นไหว ไม่อยากให้อกุศลเกิด หรือว่ายังหวั่นไหวที่อยากจะให้ปัญญาหรือกุศลเกิด ก็คือยังไม่ใช่กล้า
ท่านอาจารย์ แน่นอน ยังขลาด ยังเป็นเราที่เขลาด้วย ทั้งขลาด ทั้งเขลา ซับซ้อนหลายอย่าง ซึ่งจะต้องมีปัญญาที่สามารถที่จะเข้าถึง ลักษณะของความจริงในขณะนี้ ซึ่งเป็นปกติ แต่ปกติไม่รู้ ว่าขณะนี้มีโลภะ กำลังติดข้อง ในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏ จะมีโลภะ ติดข้องในสิ่งนั้นไหม เพราะไม่ปรากฏ แต่เมื่อใดที่อะไรก็ตามปรากฏ รู้หรือไม่ว่าติดข้อง ตั้งแต่อย่างบางเบาจนกระทั่งมากมาย ทั้งหมดบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เรา เดือดร้อนอะไรก็เป็นธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีปัจจัยก็ต้องเกิดจนกว่าปัญญามีกำลัง ที่จะเห็นโทษ ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ตามลำดับ
เพราะฉะนั้นใครที่คิดจะละโลภะ โดยปัญญาไม่เกิด ไม่มีทาง เพราะโลภะฉลาด แต่ไม่ใช่ปัญญา ฉลาดในการล่อเป็นอามิส อยากไม่มีโลภะก็ได้ ทำไปเถอะ แต่ก็ต้องมี เพราะขณะนั้นคืออยากไม่มี เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้อง กล้าที่จะเผชิญความจริง ถ้าผิดก็ทิ้งไป ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนอะไร จะเก็บสิ่งผิดๆ ไว้ทำไม แต่โลภะเป็นอย่างนั้น คือว่ายึดถือไว้ ไม่ปล่อย
ผู้ที่ต้องการความจริง และความถูกต้อง ต้องเป็นผู้ที่รับฟัง แล้วก็พูดเพื่อคนอื่นจะฟังด้วย แล้วก็ต้องพิจารณา ว่าสิ่งใดถูกต้อง ก็รับเฉพาะสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ผิดก็ทิ้งไป ก็ไม่มีอะไร จะเก็บไว้ทำไมต่อไป แต่ก็ไม่มีผู้กล้า ไม่กล้าที่จะพบ ไม่กล้าที่จะฟัง ไม่กล้าที่จะไตร่ตรอง ไม่กล้าที่จะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด เปลี่ยนได้ไหม ถ้าเปลี่ยนได้ พวกเดียรถีย์ในครั้งพุทธกาล ก็เปลี่ยน ในขณะที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นยุคนี้ สมัยนี้ ก็กล้าที่จะพูดความจริง
อ. อรรณพ แต่จะมีผู้ที่กล้าจะฟังความจริงหรือเปล่า ก็แล้วแต่เขา
ท่านอาจารย์ ไม่เดือดร้อน ฟังก็ฟัง ไม่ฟังก็ไม่ฟัง