พระเจ้าปุกกุสาติ (ธาตุวิภังคสูตร) ๒
ปุกกุสาติกุลบุตรคิดว่า บัดนี้ไม่ใช่กาล เราไม่อาจกลับไปพระนครสาวัตถี วันนี้เราพักอยู่ในที่นี้ก่อน พรุ่งนี้จึงจะไปสู่สำนักพระศาสดา
ซึ่งต้องเดินทางอีก ๔๕ โยชน์
และท่านได้ถามชาวบ้านว่า พวกบรรพชิตที่มาถึงในยามวิกาลนั้นพากันพัก ณ ที่ไหน ชาวบ้านก็ตอบว่า พัก ณ ศาลานายช่างหม้อนี้
ลำดับนั้น กุลบุตรนั้นขอพักกับนายช่างหม้อนั้นแล้ว เข้าไปนั่งเพื่อประโยชน์แก่การพักอาศัยในศาลาของนายช่างหม้อนั้น
ลักษณะการพบกันของท่านปุกกุสาติกับพระผู้มีพระภาค คล้ายกับการพบกันของกามนิต และพระผู้มีพระภาคในนิยายอิงธรรม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง
ในเวลาใกล้รุ่งของวันนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นกุลบุตร ปุกกุสาติ ทรงพระดำริว่า กุลบุตรนี้อ่านเพียงสาส์นที่พระสหายส่งไป ละราชสมบัติใหญ่ บวชอุทิศเจาะจงเรา เดินทางสิ้น ๑๙๒ โยชน์ถึงกรุงราชคฤห์ ก็เมื่อเราไม่ไป จักไม่แทงตลอดสามัญญผล ๓ (คือ จะไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล) จะทำกาลกิริยาไร้ที่พึ่ง โดยการพักเพียงคืนเดียว แต่ครั้นเมื่อเราไปแล้วจักแทงตลอดสามัญญผล ๓ ก็เราบำเพ็ญพระบารมีทั้งสิ้น สี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ชนเท่านั้น เราจักทำการสงเคราะห์แก่กุลบุตรปุกกุสาติ ดังนี้
ทรงทำการปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าตรู่ มีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ภายหลังภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงระงับความลำบากในการเดินทางครู่หนึ่ง ไม่ตรัสอะไรในพระเถระทั้งหลาย มีท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น พระองค์เองทรงถือบาตร และจีวรเสด็จออกไปเพียงพระองค์เดียว และเมื่อเสด็จไปก็ไม่ได้ทรงเหาะไป ไม่ทรง ย่นแผ่นดิน ทรงพระดำริอีกว่า กุลบุตรละอายต่อเราไม่นั่งแม้ในยานหนึ่ง ในบรรดาช้าง ม้า รถ และวอทองเป็นต้น โดยที่สุดไม่สวมรองเท้าชั้นเดียว ไม่กางร่มออกไป แม้เราก็ควรไปด้วยเท้าเท่านั้น ดังนี้ จึงเสด็จไปด้วยพระบาท พระองค์ทรงปกปิด พระพุทธสิรินี้ คือ อนุพยัญชนะ ๘๐ รัศมี ๑ วา และมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เสด็จไปด้วยเพศของภิกษุรูปหนึ่ง ดุจพระจันทร์วันเพ็ญที่หมอกเมฆปกปิดไว้ฉะนั้น โดยปัจจาภัตเดียวเท่านั้นก็เสด็จไปได้ ๔๕ โยชน์ ในเวลาพระอาทิตย์ตกก็เสด็จถึงศาลาของนายช่างหม้อนั้น
ก็พระผู้มีพระภาคครั้นเสด็จไปอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ทรงข่มขู่ว่า เราเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปยังศาลาของนายช่างหม้อ ประทับยืนที่ประตูนั้นแล เมื่อจะให้กุลบุตรทำโอกาส จึงตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงนี้สักคืนหนึ่งเถิด
ท่านปุกกุสาติตอบว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด
ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า
พระโลกนาถผู้ทรงสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ทรงละพระคันธกุฎีเป็นเช่นกับเทพวิมาน ทรงปูลาดสันถัตคือหญ้าในศาลาช่างหม้อ ซึ่งมีขี้เถ้าเรี่ยราดไปทั่ว สกปรกด้วย ภาชนะแตก หญ้าแห้ง เป็นต้น เป็นเช่นกับที่ทิ้งขยะ ทรงปูปังสุกุลจีวรประทับนั่ง ดุจเสด็จเข้าพระมหาคันธกุฎี อันมีกลิ่นทิพย์เช่นกับเทพวิมานแล้วประทับนั่งฉะนั้น
ถ้าท่านผู้ฟังที่ต้องการเจริญขันติบารมี ไม่ควรลืมที่จะสะสมขันติ ความอดทนทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะในที่นั่ง ที่นอน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม
ข้อความต่อไปมีว่า
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติในพระมหาสัมมตวงศ์อันไม่เจือปน แม้กุลบุตรก็เจริญแล้วในขัตติยครรภ์ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงถึงพร้อมด้วย พระอภินิหาร แม้กุลบุตรก็ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร พระผู้มีพระภาคก็ดี กุลบุตรก็ดี ต่างก็ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช แม้พระผู้มีพระภาคทรงมีพระวัณณะดุจทอง แม้กุลบุตรก็มีวัณณะดุจทอง พระผู้มีพระภาคก็ดี กุลบุตรก็ดี ทรงมีลาภคือสมาบัติ ทั้งสองก็ทรงเป็นกษัตริย์ ทั้งสองก็ทรงถึงพร้อมด้วยพระอภินิหาร ทั้งสองก็ทรงผนวชจากราชตระกูล ทั้งสองทรงมีพระวัณณะดุจทอง ทั้งสองทรงมีลาภคือสมาบัติ เสด็จเข้าสู่ศาลาของนายช่างหม้อแล้วประทับนั่ง ด้วยปราการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น ศาลาช่างหม้อจึงงดงามอย่างยิ่ง
ไม่ใช่งดงามด้วยอย่างอื่น แต่งดงามด้วยพระผู้มีพระภาค และกุลบุตรปุกกุสาติ ซึ่งจะได้บรรลุถึงความเป็นพระอนาคามี หลังจากที่ได้บำเพ็ญบารมีมามากพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ก็ในบุคคลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงยังแม้พระหฤทัยให้เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้สุขุมาล เดินทางมาสิ้น ๔๕ โยชน์ โดยเวลาหลังภัตเดียว ควรสำเร็จสีหไสยาสักครู่ก่อนให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง ดังนี้ พระองค์ประทับนั่งเข้าพลสมาบัติเทียว
ฝ่ายกุลบุตรก็ไม่ยังจิตให้เกิดขึ้นว่า เราเดินทางมาสิ้น ๑๙๒ โยชน์ ควรนอนพักบรรเทาความเหนื่อยในการเดินทางสักครู่ก่อน ก็นั่งเข้าอานาปานจตุตถฌานนั้นแล
ถามว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาด้วยพระดำริว่า จักแสดงธรรมแก่กุลบุตร มิใช่หรือ เพราะเหตุไรจึงไม่ทรงแสดงเล่า
ตอบว่า ไม่ทรงแสดงเพราะเหตุว่า กุลบุตรมีความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ยังไม่สงบระงับ จักมิอาจเพื่อรับพระธรรมเทศนาได้ ขอให้ความเหน็ดเหนื่อยใน การเดินทางนั้นของกุลบุตรสงบระงับก่อน
อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ธรรมดานครราชคฤห์เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์ ไม่สงัดจากเสียง ๑๐ อย่าง เสียงนั้นจะสงบประมาณสองยามครึ่ง พระองค์ทรงรอ การสงบเสียงนั้นจึงไม่ทรงแสดง แต่นั่นไม่ใช่การณ์ (คือ ไม่ใช่เหตุ) เพราะ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถเพื่อยังเสียงแม้ประมาณพรหมโลกให้สงบระงับได้ ด้วย พระอานุภาพของพระองค์ พระองค์ทรงรอความสงบระงับจากความเหน็ดเหนื่อย ในการเดินทางก่อน จึงไม่ทรงแสดง
บางท่านก็รีบๆ ร้อนๆ อยากจะฟังพระธรรม ลืมคิดว่า ร่างกาย และจิตใจ ในขณะนั้นสงบพอที่จะฟัง และพิจารณาเหตุผลของพระธรรมไหม คือ ควรจะพัก สักชั่วครู่พอให้สงบก่อน จะได้พิจารณาพระธรรมด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่ง แต่บางท่าน ก็อาจจะรีบร้อน
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคทรงออกจากพลสมาบัติแล้ว ทรงเห็นกุลบุตรปราศจาก การคะนองมือ การคะนองเท้า และการสั่นศีรษะ นั่งเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังไว้อย่าง ดีแล้ว เหมือนรูปทองไม่หวั่นไหว
นี่คือผลของกรรมที่ได้ทำมาในอดีตเป็นเหตุให้มีความน่าดู มีความงามอย่างนั้น
กุลบุตรย่อมเป็นไปด้วยอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส อิริยาบถเป็นกิริยาที่น่าเลื่อมใส โดยประการใด ก็ย่อมเป็นไปโดยประการนั้น ในอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าง อิริยาบถ ๓ อย่างย่อมไม่งาม
ทราบไหมอิริยาบถไหน เป็นอิริยาบถที่ไม่งามในอิริยาบถ ๔
ในอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าง อิริยาบถ ๓ อย่างย่อมไม่งาม คือ ขณะเดิน มือย่อมแกว่ง เท้าทั้งหลายย่อมเคลื่อนไป ศีรษะย่อมสั่น ขณะยืน กายย่อมแข็งกระด้าง อิริยาบถนอน ก็ย่อมไม่น่าพอใจ แต่เมื่อภิกษุปัดกวาดที่พักกลางวันในปัจฉาภัต ปูแผ่นหนัง มีมือ และเท้าที่ชำระล้างดีแล้ว นั่งขัดสมาธิอันประกอบด้วยสนธิสี่ นั่นเทียว อิริยาบถย่อมงาม ก็กุลบุตรนี้นั่งขัดสมาธิเข้าอานาปานจตุตถฌาน ด้วยประการฉะนี้แล
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรจะถาม็ดูบ้าง ต่อนั้นพระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุ ท่านบวชอุทิศใครเล่า หรือว่าใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร
ท่านปุกกุสาติตอบว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว ก็พระโคดมผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแลมีกิตติศัพท์งามฟุ้งไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ ดำเนินไปดี ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถี ผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ ทรงเป็นครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้ทรงจำแนกพระธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน
ท่านปุกกุสาติทูลตอบว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถีอยู่ในชนบททางทิศเหนือ เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้นประทับอยู่ที่นั่น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่านเห็นแล้วจะรู้จักไหม
ท่านปุกกุสาติทูลว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา แต่นั้นพระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า
ดูกร ภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก กล่าวต่อไป
ท่านปุกกุสาติทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ
ข้อความในพระสูตรนี้ยาวมาก ซึ่งได้เคยกล่าวถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ท่านปุกกุสาติแล้ว เพราะฉะนั้น ขอผ่านข้อความนั้นไป
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ท่านปุกกุสาติแล้ว ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดา พระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบ พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้าแล้วผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มีพระภาคด้วยวาทะว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ
ดูกร ภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย
ท่านปุกกุสาติกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาคเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ
ท่านปุกกุสาติทูลว่า
ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ตถาคตทั้งหลายจะให้กุลบุตรผู้มีบาตร และจีวรยังไม่ครบ อุปสมบทไม่ได้เลย
ลำดับนั้นท่านปุกกุสาติยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ หลีกไปหาบาตรจีวรทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติผู้กำลังเที่ยวหาบาตรจีวรอยู่
ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วย พระโอวาทย่อๆ ผู้นั้นทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติอย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควร แก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสัญโญชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ธาตุวิภังคสูตรที่ ๑๐
ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า
ก็ในบุคคล ๔ จำพวกมีอุคฆฏิตัญญูเป็นต้น ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นวิปัญจิตัญญู
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านใด ก็จะเป็นวิปัญจิตัญญูได้ ไม่ใช่วันนี้ก็วันหนึ่ง เมื่อได้อบรมเจริญกุศลพร้อมที่จะบรรลุได้
ข้อความต่อไป
มีคำถามว่า เพราะเหตุไรบาตร และจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์จึงไม่เกิดแก่ ท่านปุกกุสาติ
ตอบว่า เพราะความที่บริขาร ๘ อย่าง อันกุลบุตรไม่เคยให้ทานแล้วในกาลก่อน
นี่สำหรับคนทั่วไป
แต่ว่ากุลบุตรนี้ มีทานเคยถวายแล้ว มีอภินิหารได้กระทำแล้ว จึงไม่ควรกล่าวว่า เพราะความที่ทานไม่เคยให้แล้ว ก็บาตร และจีวรอันสำเร็จแต่ฤทธิ์ ย่อมเกิดแก่สาวกทั้งหลายผู้มีภพสุดท้ายเท่านั้น ส่วนกุลบุตรนี้ยังมีปฏิสนธิอีก
คือ ต้องบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ แต่ท่านปุกกุสาติบรรลุคุณธรรมเป็น พระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์
และอีกประการหนึ่ง ก็เพราะว่าอายุของกุลบุตรนี้สิ้นแล้ว
คือ ถึงเวลาที่ท่านจะต้องสิ้นชีวิต เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านไม่ได้บาตร และจีวรอันสำเร็จแต่ฤทธิ์ แต่จริงๆ แล้วการที่บาตร และจีวรจะสำเร็จแต่ฤทธิ์นั้น ย่อมมีแก่สาวกทั้งหลายผู้มีภพสุดท้ายคือเป็นพระอรหันต์เท่านั้น
มหาพรหมผู้อนาคามีชั้นสุทธาวาส ก็เป็นราวกะมาสู่ศาลาช่างหม้อแล้วนั่งอยู่
คือ ต่อจากนั้นไม่นานเลย ท่านก็จะปฏิสนธิเป็นพรหมในชั้นอวิหาภูมิ ซึ่งเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส
สำหรับพรหมในชั้นสุทธาวาส ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอนาคามี และได้ปัญจมฌานเท่านั้น ถ้าไม่ได้ปัญจมฌาน ไม่สามารถปฏิสนธิ ในสุทธาวาสภูมิได้ เพราะฉะนั้น ท่านปุกกุสาติก่อนจะสิ้นชีวิต ใกล้ต่อการจะเป็น รูปพรหมในสุทธาวาสภูมิ จึงมีข้อความในอรรถกถาว่า มหาพรหมผู้อนาคามี ชั้นสุทธาวาส ก็เป็นราวกะมาสู่ศาลาช่างหม้อแล้วนั่งอยู่ คือ อีกไม่นานก็จะเปลี่ยนสภาพจากท่านปุกกุสาติเป็นรูปพรหมชั้นสุทธาวาสภูมิ
ข้อความในอรรถกถากล่าวย้อนไปถึงขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระธรรมเทศนาจบ มีข้อความว่า
ได้ยินว่า การจบพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค การขึ้นแห่งอรุณ และการเปล่งพระรัศมี ได้มีในขณะเดียวกัน นัยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระเทศนาแล้ว ทรงเปล่งพระรัศมี มีสี ๖ ประการ นิเวศน์แห่งช่างหม้อทั้งสิ้นก็โชติช่วงเป็น อันเดียวกัน พระฉัพพรรณรังสีแผ่ไปเป็นกลุ่มๆ ทำทิศทางทั้งปวงให้เป็นดุจปกคลุมด้วยแผ่นทองคำ และดุจรุ่งเรืองด้วยดอกคำ และรัตนะอันประเสริฐซึ่งมีสีต่างๆ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่า ขอให้ชาวพระนครทั้งหลายจงเห็นเรา ดังนี้
ชาวพระนครทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคแล้วต่างก็บอกต่อๆ กันว่า ได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จมาแล้ว นัยว่าประทับนั่ง ณ ศาลาช่างหม้อ แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระเจ้าพิมพิสาร
พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปถวายบังคมพระศาสดาแล้วตรัสถามว่า พระองค์เสด็จมาแล้วเมื่อไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเวลาพระอาทิตย์ตกวานนี้ มหาบพิตร
พระเจ้าพิมพิสารทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาด้วยกรรมอะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระเจ้าปุกกุสาติ พระสหายของพระองค์ทรงฟังพระราชสาส์นที่มหาบพิตรส่งไปแล้ว เสด็จออกบวช เสด็จมาเจาะจงตถาคต ล่วงเลยกรุงสาวัตถี เสด็จมาสิ้น ๔๕ โยชน์ เสด็จเข้าสู่ศาลาช่างหม้อนี้แล้วประทับนั่ง ตถาคตจึงมาเพื่อสงเคราะห์ พระสหายของมหาบพิตร ได้แสดงธรรมกถา กุลบุตรทรงแทงตลอดผล ๓
พระราชาทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้พระเจ้าปุกกุสาติประทับอยู่ที่ไหน พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
พระเจ้าปุกกุสาติกุลบุตรทรงขออุปสมบทแล้ว เสด็จไปเพื่อทรงแสวงหาบาตร และจีวร เพราะบาตร และจีวรยังไม่ครบบริบูรณ์
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบดังนั้น ก็ได้เสด็จไปทางทิศทางที่กุลบุตรนั้น เสด็จไป ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเสด็จไปปรากฏ ณ พระคันธกุฎีในพระเชตวันนั้นแล
ฝ่ายกุลบุตรปุกกุสาติเมื่อแสวงหาบาตร และจีวร ก็ไม่ได้ไปสู่สำนักของ พระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นสหาย หรือแม้สำนักของพวกพ่อค้าเดินเท้าชาวเมืองตักกศิลา เพราะคิดว่า การที่จะเลือกแสวงหาบาตร และจีวรที่พอใจ และไม่พอใจใน สำนักนั้นๆ แลไม่สมควรแก่เรา จำเราจักแสวงหาที่ท่าน้ำ ป่าช้า กองขยะ และ ตามตรอก ดังนี้ กุลบุตรปรารภเพื่อแสวงหาเศษผ้าที่กองขยะในตรอกก่อน
เป็นความอดทนอย่างยิ่งที่จะประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติของพระอนาคามีบุคคล
ข้อความต่อไปมีว่า
แม่โคลูกอ่อนหมุนไปวิ่งมา ขวิดกุลบุตรนั้น ผู้กำลังแลดูเศษผ้าในกองขยะ แห่งหนึ่งให้ถึงความตาย กุลบุตรผู้ถูกความหิวครอบงำ ถึงความสิ้นอายุในอากาศ นั่นเทียว ตกลงมานอนคว่ำหน้าในที่กองขยะ เป็นเหมือนรูปทองคำฉะนั้น ก็แล ทำกาละแล้วไปเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหา พอเกิดแล้วก็บรรลุพระอรหันต์
ได้ยินว่า ชนที่เมื่อเกิดแล้วในอวิหาพรหมโลกได้บรรลุพระอรหันต์นั้น มี ๗ คน
ตามข้อความที่แสดงไว้ว่า
ภิกษุ ๗ รูป เข้าถึงอวิหาพรหมโลกแล้วหลุดพ้น มีราคะ และโทสะสิ้นแล้ว ข้ามตัณหาในโลก และท่านเหล่านั้นข้ามเปลือกตม บ่วงมัจจุราช ซึ่งข้ามได้แสนยาก ท่านเหล่านั้นละโยคะของมนุษย์แล้ว เข้าถึงโยคะอันเป็นทิพย์
ท่านเหล่านั้น คือ อุปกะ ๑ ปลคัณฑะ ๑ ปุกกุสาติ ๑ รวม ๓ ภัททิยะ ๑ ขันฑเทวะ ๑ พาหุทัตติ ๑ ปิงคิยะ ๑ ท่านเหล่านั้นละโยคะของมนุษย์แล้ว เข้าถึงโยคะอันเป็นทิพย์ ดังนี้
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารทรงพระราชดำริว่า พระสหายของเราได้อ่านสักว่าสาส์น ที่เราส่งไป ทรงสละราชสมบัติที่อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ เสด็จมาทางไกลประมาณเท่านี้ กิจที่ทำได้ยากอันกุลบุตรได้ทำแล้ว เราจักสักการะท่านด้วยเครื่องสักการะของบรรพชิต ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า พวกท่านจงไปตามหาพระสหายของเรา ดังนี้
ราชบริวารทั้งหลายที่ถูกส่งไปในที่นั้นๆ ได้เห็นกุลบุตรนั้น เห็นเขาล้มลง ที่กองขยะ กลับมาทูลแด่พระราชา พระราชาเสด็จไปทรงเห็นกุลบุตรแล้ว ทรงคร่ำครวญว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราไม่ได้เพื่อทำสักการะแก่พระสหายหนอ พระสหายของเราไม่มีที่พึ่งแล้ว
ตรัสสั่งให้นำกุลบุตรไปด้วยเตียง และทรงตั้งไว้ในโอกาสอันสมควร ตรัสสั่งให้ทำสักการะแก่กุลบุตรผู้ยังไม่ได้อุปสมบท ทรงให้อาบพระเศียรของกุลบุตร ทรงให้ตกแต่งเพศของพระราชา ทรงยกขึ้นสู่วอทอง ทรงให้ทำการบูชาด้วยวัตถุทั้งหลาย มีดนตรีของหอม และมาลาทุกอย่างเป็นต้น ทรงนำออกจากพระนคร ทรงให้ทำ มหาจิตกาธานด้วยไม้หอมเป็นอันมาก ครั้นทรงทำสรีรกิจของกุลบุตรแล้ว ทรงนำเอาพระธาตุมาประดิษฐ์ไว้ในพระเจดีย์
จบ อรรถกถาธาตุวิภังคสูตรที่ ๑๐
เป็นเหตุการณ์ที่น่าใจหายมากสำหรับพระเจ้าพิมพิสาร เพราะว่าเป็นสหาย ที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เป็นสหายด้วยคุณความดีที่มีความเมตตา มีความหวังดี มีความเคารพในคุณธรรมของกัน และกันโดยไม่เห็นหน้ากันเลย ซึ่งสำหรับ พระเจ้าพิมพิสารแม้เป็นพระโสดาบันแล้ว แต่เหตุการณ์ก็น่าใจหายที่ว่า เมื่อคิดถึง พระสหายที่เสด็จมาถึงพระนครของพระองค์คือพระนครราชคฤห์ ก็ใคร่ที่จะได้พบ และยิ่งได้ทราบข่าวว่า ท่านบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามี ก็ใคร่ที่จะ ได้สักการะด้วย แต่ปรากฏว่า ได้เห็นกันเป็นครั้งแรกในพระนครราชคฤห์ ก็ในสภาพที่สหายของท่านสิ้นชีวิตแล้ว
แต่เป็นการจากไปด้วยดี เพราะเป็นการจากไปสู่พรหมโลก ซึ่งถ้าจะมีใครที่ จากไป และได้ทราบว่าจากไปดีอย่างนี้ โดยบรรลุความเป็นพระอนาคามีบุคคลได้ไปสู่สุทธาวาสภูมิ ก็เป็นสิ่งซึ่งควรสักการะ
และทันทีที่เกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นอวิหา ก็ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ในพรหมโลกนั่นเอง หมดเรื่องที่จะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์