แช่มชื่นแบบไหน


    แช่มชื่นด้วยโลภะ กับ แช่มชื่นด้วยปัญญาต่างกันอย่างไร


    ท่านอาจารย์ อ่านแล้ว ฟังแล้ว ได้ยินแล้วบ่อยๆ สำคัญที่ไหน สำคัญที่ความเข้าใจของแต่ละคน ซึ่งฟังหรืออ่านก็ตามแต่

    อ. อรรณพ ความแช่มชื่น ๒ อย่างก็คือความแช่มชื่นด้วยโลภะ วันๆ เราก็อาจจะพอใจได้ วันนี้มีความแช่มชื่นใจ

    ท่านอาจารย์ ใครแช่มชื่น

    อ. อรรณพ เรา

    ท่านอาจารย์ ใครอีก

    อ. อรรณพ โลภะ

    ท่านอาจารย์ ไปไหนไปด้วย อยู่ไหนอยู่ด้วย ไม่เห็นด้วย

    อ. อรรณพ แล้วความแช่มชื่น ในทางสงบหรือในทางสมณะ ครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ วันนี้ดอกไม้สวย แช่มชื่นไหม ฟังธรรมเข้าใจ แช่มชื่นไหม อย่างไหนเป็นความแช่มชื่นของสมณะ อย่างไหนไม่ใช่ สงบจากโลภะ สงบจากอกุศล ต่างกับขณะที่แช่มชื่นด้วยอกุศล แล้วใครรู้

    อ. อรรณพ ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้

    อ. อรรณพ ไม่รู้ก็หลง

    ท่านอาจารย์ เน่า อกุศลอื่นยังพอเห็นโทสะ มานะ แต่สำหรับโลภะ ใครเห็นบ้าง ถึงเห็นก็ชอบ แปลว่าชอบเน่า จนกว่าปัญญาจะรู้ และเห็นโทษ แล้วปัญญานี่มาจากไหน คิดดู คิดเองได้ไหม สภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย กำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา อาการที่ปรากฏไม่เคยแสดงให้รู้เลยว่า ขณะนั้นเน่า เห็นแต่สิ่งสวยๆ งามๆ อากาศดีๆ น่าพอใจทุกอย่าง ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเน่า แล้วใครจะบอก ต้องเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริง เพราะฉะนั้นผู้ที่มั่นคงในความจริง แม้ขณะนี้สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ การเกิดดับซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ ก็รู้ว่าเปลี่ยนไม่ได้ แล้วก็จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นเอง

    หนทางเดียว คือฟังพระธรรม และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงว่า เข้าใจแค่ไหน แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า ต้องเป็นผู้ที่ตรงอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าปัญญาตรง ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่ได้ลวง หรือว่าทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้เลย ความต่างของปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับคนที่ไม่มีปัญญา ต่างกันระดับไหน แล้วปัญญามีเท่าไร แล้วอวิชชากับโลภะกับกิเลสอื่นมีเท่าไร เพราะฉะนั้นยากแสนยาก แต่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เมื่อมีการอบรมค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    อ. อรรณพ แล้วพระองค์ท่านทรงแสดงต่อไปว่า ถ้าไม่ได้อย่างที่ติดข้องก็เกิดโทสะ

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดหรือว่าภิกษุนั้นไม่เคยฟังธรรมมาเลย คิดหรือว่าภิกษุนั้น ไม่ได้เคยอบรมเจริญปัญญา ที่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ยังไม่ถึงกาล ที่ปัญญาสมบูรณ์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่าไม่ว่าขณะไหน สภาพธรรมที่ปรากฏ ก็มีปัจจัยเกิด ทำให้เกิดขึ้น และก็ดับอยู่ตลอดเวลา แต่ชาติไหน ขณะไหนสภาพธรรมใด ที่ถึงพร้อมที่จะทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงได้ โดยที่ว่าภิกษุนั้นเกิดมา ก็ไม่ได้หวัง เพราะว่ายังคงพอใจในสิ่งซึ่งดี โดยที่ว่าสะสมมาแล้วมากเท่าไร แต่ตราบใดที่กิเลสยังไม่ดับ ก็ยังให้เกิดความยินดีพอใจในสิ่งนั้น จนกว่าได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นชีวิตของแต่ละคน ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีทั้งอกุศล ซึ่งมีปัจจัยเกิด แล้วก็มีการฟังพระธรรม ที่จะเข้าใจธรรม แล้วก็รู้ว่าถ้าขณะไหน ไม่ได้ทำสิ่งที่ดี ขณะนั้นอกุศลก็เกิดแล้วมาก เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะให้อกุศลเกิดน้อยลง ก็คือทำดี เข้าใจธรรม โดยที่ไม่หวัง และเมื่อไร ก็ไม่รู้ ใช้คำว่าก็ไม่รู้จริงๆ เพราะเหตุว่าแม้ขณะต่อไปก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่สะสมมา และอกุศลที่สะสมมา ก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โลภะก็ยังเกิดได้ แต่เมื่อสะสมปัญญามามากพอ โดยที่ไม่ได้หวัง แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้สามารถถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้

    เพราะฉะนั้นสำคัญที่เหตุ ไม่ใช่หวัง ความเข้าใจต้องตรง เข้าใจขึ้นหรือไม่ มากหรือน้อย เข้าใจอะไร เข้าใจขั้นฟัง หรือว่าขณะใดก็ตาม มีปัญญาอีกระดับหนึ่ง เริ่มเกิด นี่ก็เห็นความต่างกันแล้วของปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวธ ทั้งหมดให้ทราบว่าเป็นไปเพื่อการละ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่หวังเมื่อไร จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้จิตสงบ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าทุกคำเป็นไปเพื่อละความติดข้อง

    ถ้าไม่มีการละในขั้นการฟัง ก็ไม่สามารถที่จะมีปัจจัย ที่จะทำให้ละการติดข้องในขณะที่กำลังเห็น เดี๋ยวนี้เองใครชนะ อกุศลหรือปัญญา ธรรมใดที่ไม่หวัง ปัญญาไม่ติดข้อง แต่โลภะติดข้อง สองอย่างนี้ตรงกันข้ามกัน ความไม่รู้ทำให้ติดข้อง แต่ปัญญา ความรู้ว่า เป็นอย่างนี้แล้วติดข้องอะไร ติดข้องในสิ่งที่ไม่มี แต่จำว่ามี แช่มชื่นหรือโศกเศร้า ฟังอย่างนี้ไม่มีอะไรเหลือ ไม่เหลือจริงๆ หนึ่งขณะจิตเกิดแล้วดับ และไม่กลับมาอีกเลย จะเป็นคน จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นปัญญา กล้าหาญไหม แช่มชื่นที่ไม่ติดข้องอีกแล้ว สุขแค่ไหน ไม่ต้องเป็นทาสของความติดข้อง อิสระ พ้นจากความติดข้อง เป็นทาสของอะไรหรือเปล่าเดี๋ยวนี้ เป็นทาสของกำลังเห็น แล้วชอบ


    หมายเลข 10501
    15 พ.ค. 2567