ตรงจึงจะได้สาระ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็เพื่อความรู้ของผู้ฟัง ซึ่งต้องมีความตรง ตามธรรมด้วยปัญญา จึงจะไม่เข้าใจผิด และปฏิบัติผิด
คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ไม่ว่าคำไหน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้ไปคิดกันเอาเอง ฟังแล้วก็ไปคิดกันเอาเอง แต่ฟังแล้วก็คือว่า มีความเข้าใจในความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่ตรง ไม่ได้สาระจากการฟังเลย เพราะฉะนั้นต้องพิจารณา และก็เป็นเหตุ เป็นผล ตามความเป็นจริง คือรู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อที่จะเข้าใจ และรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ จึงจะชื่อว่าตรัสรู้
เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เห็นมีจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้หรือไม่ แล้วรู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้ ไม่ทรงแสดง มีประโยชน์อะไร ถ้าแสดงแล้วตามความเป็นจริง แต่คนอื่นรู้ไม่ได้ แต่เพราะรู้ได้จากการที่ทรงพระมหากรุณา แสดงความจริงโดยนัยประการต่างๆ สำหรับให้ผู้ที่ได้ฟัง เข้าใจขึ้นๆ ๆ ขณะที่เข้าใจก็ละความไม่รู้ ละหนทางผิด เพราะว่าถ้าไม่รู้ ก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นขณะที่เข้าใจถูก กว่าจะหมดสิ้นความเป็นตัวตน ที่เคยยึดถือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ต้องนาน เพราะว่าความไม่รู้ มีนานมาก แล้วก็การยึดถือสภาพธรรมก็นานมาก ถ้ารู้แล้วจะไปไหน เพราะว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น สามารถเริ่มเข้าใจ ขั้นปริยัติ จนกระทั่งมีความมั่นคง เพราะเข้าใจอย่างนี้ จึงเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เริ่มรู้โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีใครไปบังคับเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้น เช่น สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิด บุคคลนั้นจะไม่รู้หรือ ว่านี้ต่างกับขณะที่เพียงฟังเรื่องของเห็น ซึ่งฟังมานานแล้วแต่ก็ยังไม่ได้เริ่มเข้าใจลักษณะของเห็นจริงๆ จนกระทั่งเมื่อไรที่มีสติสัมปชัญญะเริ่มรู้ แล้วก็เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ผู้นั้นก็เห็นความต่าง และก็เห็นความเป็นอนัตตาด้วย แล้วก็เห็นความลึกซึ้งด้วย ว่าไม่สามารถที่จะไปทำให้สติสัมปชัญญะเกิดได้ แต่ต้องมีเหตุปัจจัยคือ ละความต้องการ และก็มีความเข้าใจ เห็นความเป็นอนัตตา
แล้วใครรู้ว่าตรง ไม่ใช่ใครเลย ปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่ตรง ปัญญาต้องรู้ว่าไม่ตรง จึงละความไม่ตรง รู้ความจริง ตรงตามความเป็นจริง ได้ยินคำว่าสีลัพพตปรามาส เป็นธรรมใช่ไหม ประเภทไหน ต้องเป็นอวิชาความไม่รู้ และความติดข้อง และการยึดถือเป็นความเห็นผิด สีลัพพตปรามาสดับได้ ด้วยโสตาปัตติมรรค หมายความว่าก่อนโสตาปัตติมรรคจะเกิด ก็ยังคงมีสีลัพพตปรามาส แสดงให้เห็นความละเอียด ความลึกซึ้งของสภาพธรรม ซึ่งเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน ว่าสามารถที่จะเกิดขึ้น ถ้าปัญญาไม่รู้ ก็สามารถที่จะเกิดไปๆ โดยที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า นั่นคือสภาพธรรมที่เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเหตุว่าถ้ามีความคิดที่จะมีสติ ผิดหรือถูก แค่นี้ ไม่สบายเพราะผิดปกติ
เพราะฉะนั้นปัญญาจึงรู้ จึงละได้ มิฉะนั้นจะไปละเมื่อไร ก็ต้องละเมื่อมีการจงใจ มีความต้องการ มีการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่หยาบๆ สามารถที่จะเห็นได้ แต่ถ้ายิ่งละเอียดขึ้น จนถึงการที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องมานาน แล้วก็มีปัจจัยเกิดขึ้นให้รู้ ความต่างกันของกิเลส ตั้งแต่อาสวะที่ละเอียด จนกระทั่งกิเลสซึ่งแล้วแต่ขณะนั้น ไม่มีใครรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งหมดปัญญาต้องเกิดขึ้นรู้ จึงละได้