ไม่สละความเป็นเรา


        จิตเป็นสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ส่วนเจตสิกเป็นธาตุรู้ที่เกิดกับจิต โลภะ เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง ที่เป็นความติดข้อง ความไม่พอ ความไม่สละ โดยเฉพาะ ความไม่สละความเป็นเรา


        อ.สงบ ความติดข้อง ความเพลิดเพลินอยู่ที่ลูก อยู่ที่โค อยู่ที่ทรัพย์สมบัติ หรืออยู่ที่ไหน

        ท่านอาจารย์ อยู่ที่จิตแน่นอนค่ะ เพราะว่าดอกไม้ ต้นไม้ ไม่ได้ติดข้องอะไร เก้าอี้ไม่ได้ติดข้องอะไร แต่เมื่อมีธาตุรู้ซึ่งหลากหลายมากมีทั้งธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำว่าจิตต มโนก็ได้ วิญญาณก็ได้ ใช้คำที่แสดงให้รู้ว่ามีธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้น เมื่อธาตุนั้นเกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นที่โลกจะปรากฎได้ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุที่กำลังรู้สิ่งที่มีในโลก จึงกล่าวว่ามีโลก มีต้นไม้ มีอะไรก็แล้วแต่ เดี๋ยวนี้มีคน ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุที่เกิดขึ้น และรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าธาตุรู้นี้ก็มีทั้งธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง คือเห็น ได้ยิน เป็นต้น แต่ก็มีธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่ธาตุที่รู้แจ้ง แต่เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นธาตุที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทรงบัญญัติใช้คำว่าจิตต คนไทยก็เรียกสั้นๆ ว่าจิต แต่ก็มีสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดพร้อมกัน ซึ่งไม่ใช่จิต ใช้คำว่าเจตสิกในภาษาไทย แต่ภาษาบาลีก็ออกเสียงว่าเจตสิกะ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดก็ต้องมีสิ่งที่อาศัยกัน และกันปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน แต่จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกก็ไม่ใช่จิต เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน แต่ว่าเจตสิกมีมากต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เจตสิกแต่ละหนึ่งก็จะเป็นเจตสิกอื่นไม่ได้เลย ฟังธรรมต้องละเอียดจริงๆ ค่ะ ไม่เปลี่ยนคำตามความคิดเดิมๆ เก่าๆ ซึ่งกว่าจะเปลี่ยน เปลี่ยนยากเพราะอะไรคะ คุ้นเคย แต่ปัญญาที่เข้าใจถูก จะเริ่มเปลี่ยนจากคำที่เคยพูดไม่ถูกต้องเป็นคำที่ตรง และถูกต้องขึ้น

        เพราะฉะนั้นขณะนี้ เป็นธรรมะทั้งหมด แล้วเมื่อไม่รู้ก็ยึดถือธรรมที่เป็นธาตุรู้ ว่าเป็นเรา ขณะนี้ที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ให้รู้ว่าสิ่งนี้มีจริงๆ เมื่อไหร่ เมื่อมีธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็น ซึ่งต้องเป็นธาตุรู้ ถ้าไม่รู้ก็จะมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้ไม่ได้

        เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะไม่ใช่ฟังวันเดียว สภาพธรรมมีมากมาย แต่ก็ฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟังด้วย แต่ความเข้าใจที่เข้าใจขึ้นก็จะค่อยๆ ปรุงแต่งปัญญาที่สามารถเริ่มเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทีละอย่างตรงตามความเป็นจริง จนกระทั่งประจักษ์ว่าทุกคำที่ได้ยินเป็นความจริงแม้แต่การเกิดขึ้น และดับไปของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ต้องเป็นอย่างนี้ ความติดข้องมีจริงๆ เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม เกิดแล้วดับไป เป็นเราหรือเปล่า

        เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฟังธรรมคือไม่ลืมว่า ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกว่าไม่มีเราทุกอย่างที่มีมีจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ฟังเพื่อเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย แล้วถ้าเป็นความจริงแล้วควรรู้ไหมตามความเป็นจริงหรือว่าไม่ควรรู้เหมือนเดิม หลงเหมือนเดิม ค้านกับความจริงเหมือนเดิม มีเราเป็นสุขไหมคะ

        อ.อรรณพ จะพอเมื่อไม่มีเรา หมายความว่าอย่างไร

        ท่านอาจารย์ เวลาที่มีเราไม่พอใช่ไหม เท่าไหร่ก็ไม่พอ

        อ.อรรณพ ก็ดูเหมือนว่าพอ ว่าเรามีทรัพย์สินเงินทองพอแล้ว เพราะฉะนั้นก็บริจาคให้คนยากคนจนบ้างอะไรบ้าง

        ท่านอาจารย์ บริจาคความเห็นผิดได้ไหม สละความเห็นผิดได้ไหม หวงไว้จะได้มีเรา ตลอดไปกี่ภพกี่ชาติก็มีเราอย่างนั้นหรือคะ พอแล้วที่เป็นเรา หยุดได้หรือยังที่เคยเป็นเรา หยุดได้หรือยัง สละได้หรือยัง เป็นเรามานานแสนนาน พอแล้วหรือยัง ไมต้องเป็นเราอีกต่อไป ยอมสละไหม สละความเป็นเรา สละเห็น สละได้ยิน สละคิด คือไม่เกิดอีกเลย

        อ.อรรณพ การสละความเป็นเรานี้ก็มีหลายขั้น

        ท่านอาจารย์ ด้วยมานะ ด้วยทิฐิ ด้วยตัณหา ต้องสละความเป็นเราด้วยทิฐิก่อน


    หมายเลข 10510
    12 ก.พ. 2567