ภิกษุผิดพระวินัยคฤหัสถ์ควรทำอย่างไร
การรักษาพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้งหมด ดังนั้นหากคฤหัสถ์ ทราบว่าภิกษุใดประพฤติผิดพระวินัย ก็ควรจะกล่าวควรจะแสดงความถูกต้อง ตามพระธรรมวินัยให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน เพื่อเป็นการรักษาพระศาสนาให้ ดำรงต่อไป
ท่านอาจารย์ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ฟังธรรมแล้วก็นับถือพระพุทธศาสนารู้แจ้งอริยสัจธรรมมีแต่บรรพชิตเท่านั้นหรือ หรือว่ามีคฤหัสถ์ด้วย
อ. อรรณพ คฤหัสถ์เป็นอนาคามีก็มีครับ เป็นสกทาคามีก็มี เป็นโสดาบันก็มีเป็นกัลยาปุถุชนก็มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความต่างระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิตหรือพระภิกษุก็คือว่า ใครสามารถที่จะมีพระธรรมแล้วก็ศึกษาปฏิบัติได้มากกว่ากัน ในเพศของคฤหัสถ์กับบรรพชิต กิจของคฤหัสถ์กับกิจของบรรพชิตต่างกันไหม
อ. อรรณพ ต่างกัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กิจของคฤหัสถ์นี้ไม่ใช่กิจของบรรพชิตเลย ต้องทำมาหากินต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง และจะดำรงพระศาสนาไว้ได้อย่างเพศบรรพชิตหรือ เพราะฉะนั้นในครั้งนั้น ไม่มีความเข้าใจผิด การต่างกันของผู้ที่เป็นบรรพชิตกับคฤหัสถ์ก็โดยอัธยาศัยที่สะสมมา แต่ความรู้ความเข้าใจสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ด้วยเหตุนี้คฤหัสถ์ในครั้งโน้นรู้ว่าบรรพชิตเป็นใคร และตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติตามลำดับขั้น เมื่อมีการประพฤติที่ไม่ถูกต้องไม่สมควร ไม่ใช่ว่าคฤหัสถ์ไม่รู้ว่าบรรพชิตมีความประพฤติอย่างไร เพียงเห็นเพศที่ต่างกันก็รู้แล้ว และข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิตรูปใดที่ไม่ถูกต้อง คฤหัสถ์โพนทะนา และพระภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบจึงทรงบัญญัติพระวินัยท่ามกลางความเห็นชอบของสงฆ์
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าคฤหัสถ์นั้นเป็นผู้รู้ว่าเพศบรรพชิตไม่ใช่เพศคฤหัสถ์ เวลาที่กราบไหว้ลุกรับแม้แต่ท่านจิตตคฤหบดี ท่านก็รู้ว่าพระภิกษุท่านจะต้องกราบไหว้ แม้ว่าท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล โดยความเคารพในเพศซึ่งเพศนั้นมีโอกาส มีเวลา มีชีวิตที่จะดำรงรักษาพระศาสนาได้มากกว่า เพราะเหตุว่าไม่มีกิจของคฤหัสถ์ มีแต่กิจของพระภิกษุฝ่ายเดียว
เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์เองต้องเข้าใจว่าบรรพชิตทั้งหลายสมควรประพฤติอย่างไร มิเช่นนั้นก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นผิดไม่สมควร แต่เพียงการประพฤติผิดคฤหัสถ์ก็รู้ว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะไม่ควร เพราะฉะนั้นถ้าคฤหัสถ์นั้นเพิกเฉย ไม่โพนทะนา ความจะรู้ถึงพระผู้มีพระภาคไหม ที่จริงพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทุกอย่างไม่ต้องมีใครมาบอกก็ได้ แต่จะอาศัยเหตุที่พระองค์รู้เอง แล้วมาบัญญัติสิกขาบทก็เป็นที่ไม่ถูกต้อง ต้องให้มีกรณีเกิดขึ้น มีผู้เห็นว่าไม่สมควรมีการโพนทะนาตำหนิได้ว่าการกระทำนั้นไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นเมื่อมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม จึงสมควรที่จะบัญญัติพระวินัยท่ามกลางสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ประชุมภิกษุทุกครั้งที่จะบัญญัติพระวินัยเพื่อให้สงฆ์ซึ่งเป็นภิกษุ เห็นชอบ ไม่คัดค้านทุกคนยอมรับว่า ข้อประพฤตินั้นถูกสมควรที่จะประพฤติต่อไป ไม่ใช่ว่าคนนี้ไม่เห็นด้วย คนนั้นไม่เห็นด้วย แต่เมื่อยินยอมเห็นว่า เป็นสิ่งที่สมควรแก่บรรพชิตจึงทรงบัญญัติพระวินัยด้วยพระองค์เอง ให้เป็นที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะคำใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแล้วใครจะเปลี่ยน
เพราะฉะนั้นถ้าคฤหัสถ์รู้ว่าพระภิกษุรูปใดประพฤติไม่ถูกต้องตามพระวินัย ถ้าในสมัยโน้นกราบเรียนท่านพระอานนท์ไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค แต่สมัยนี้ไม่มีท่านพระอานนท์ ไม่มีพระผู้มีพระภาค แต่มีพระธรรมวินัย ซึ่งคฤหัสถ์สามารถที่จะกล่าวถึงอ้างได้ว่านี้คือวินัยของบรรพชิตคนที่เป็นพิสูจน์ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ไม่ใช่คฤหัสถ์นั้นเองเห็นดีเห็นชอบด้วยตัวเอง แต่จะต้องให้พระภิกษุประพฤติตามพระวินัย สามารถศึกษา สามารถชี้แจง สามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทด้วยกันคือพุทธบริษัท เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานก็ต่อเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ พร้อมเพรียงกันทั้งในเรื่องของธรรม และวินัย