เพ่งโทษโพนทะนาหรือชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์
ผู้ฟัง คำโบราณว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ซึ่งสอนกันมานานมากแล้ว ผมก็ปฏิบัติมา คือ คล้ายๆ ว่าเห็นอะไรเราก็อย่าไปยุ่ง แต่เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ คิดว่าไม่น่าใช่แล้ว ความหมายของคำนี้อาจจะเป็นสิ่งที่คนโบราณสอนเรา ซึ่งมีความลึกซึ้งมากกว่าที่เราไปคิดเอง สิ่งที่เราคิดเองก็คือเราปกป้องตัวเองว่าเราอย่าเข้าไปใกล้ เราอย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง เดี๋ยวจะบาป เดี๋ยวอกุศลจะเกิด เรื่องนี้ก็เลยไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการที่เราเห็นพระภิกษุทำอะไรไม่เหมาะควร เห็นพระภิกษุเดินบิณฑบาตรเกือบทุกวัน แล้วประพฤติไม่เหมาะควร ผมเข้าใจว่าจิตใจของผมเป็นอกุศล คือเห็นแล้วรู้สึกว่าเราไม่สบายใจเสียเอง ก็เลยไม่เข้าใจว่าจริงๆ เราควรจะคิดอย่างไร หรือว่าเราควรจะหลีกเลี่ยงเสีย หรือเราควรจะหาวิธีที่จะเข้าไปบริหารจัดการอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เข้าที่เข้าทาง ก็เลยตัดสินใจไม่ถูก เรียนถามท่านอาจารย์ และท่านวิทยากรว่าเราควรจะตัดสินใจอย่างไร อย่างที่โบราณสอนไว้ว่าเรื่องแบบนี้อย่าเข้าไปยุ่งเลย เพราะอาจจะเปลืองตัวหรือผิดบาปได้ หรือว่าหน้าที่ของชาวพุทธที่เราเข้าใจเรื่องของคำสอนบ้างแล้ว เราควรทำอะไรหรือไม่
ท่านอาจารย์ ที่จริง ความเป็นผู้ตรงก็คือ ตรงต่อความถูกต้อง การที่เราทำ เป็นสิ่งที่ดี เพราะเหตุว่า เราไม่ได้ทำเพื่อทำลายพระศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความเข้าใจจากการได้ฟัง และได้ศึกษาพิจารณาธรรม ไตร่ตรองจนเข้าใจได้พอสมควร ที่ถูกจริงๆ ไม่ใช่งูๆ ปลาๆ ผิดบ้าง ถูกบ้าง ซึ่งจะทำให้เข้าใจผิด ถ้าได้ศึกษาโดยรอบคอบแล้ว มีจิตกุศลที่ใคร่จะให้คนอื่นเขาได้รู้ความจริงอย่างถูกต้องด้วยหรือเปล่า นี่คือใจของเราที่ศึกษาธรรม เราเข้าใจแล้ว และเราเห็นคนหลายคนมากมายที่ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาอย่างละเอียด ไตร่ตรอง สนทนาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจ สมควรหรือไม่ที่เราจะอนุเคราะห์ให้เขาได้มีความเข้าใจด้วย นี่คือจิตที่เป็นกุศล ไม่ใช่จิตที่เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ไม่ได้คำนึงถึงตัวเราว่าจะทุกข์ จะยาก จะเดือดร้อน จะลำบาก คนจะว่า หรือคนจะติ จะชม ประการใดทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่ และให้โทษหรือเปล่า ถ้าเราจะกล่าวถึงพระธรรมวินัยตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง ตามความถูกต้อง เพื่อให้คนอื่นได้รู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงแสดงพระธรรม มีผู้ที่ได้สะสมมาที่จะศึกษาดำเนินรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเพศบรรพชิต แต่ว่า ถ้าเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว ที่จะให้เป็นความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่มีอะไรที่บริสุทธิ์เท่ากับพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว แม้แต่การบัญญัติพระวินัย ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ซึ้งถึงเหตุผลที่จะเกิดขึ้นที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความอยู่เป็นสุขของสงฆ์ที่อยู่รวมกัน ต้องสุขแน่ ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย
เพราะฉะนั้น ถ้าได้ศึกษา และเห็นประโยชน์ที่จะดำรงพระศาสนา ว่าการที่จะรักษาสิ่งที่ประเสริฐที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ก็โดยการที่ให้คนอื่นได้มีโอกาสได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง ได้พิจารณา ได้เข้าใจด้วย ในชีวิตของคนที่จะเกิดมาทำความดี เมื่อดีอื่นดีแล้ว แต่ว่าทางธรรมดีขึ้นอีกได้หรือไม่ ที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ดีเพียงปล่อยเขาไป ให้เขาดีแค่ที่จะดีได้ แต่ว่าถ้าสามารถที่จะทำให้เขาได้เข้าใจถูก และได้เข้าใจพระธรรมด้วย ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะชาตินี้ แต่เป็นประโยชน์ต่อๆ ไปทุกชาติในสังสารวัฎที่มีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม เขาก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่า พระธรรมทั้งหมดเดี๋ยวนี้ซึ่งเป็นธรรมทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่ายเลย ไม่ว่าจะฟังกี่ชาติ ถ้าอ่านประวัติของพระสาวกแต่ละชาติ กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม กี่กัปป์ นานมาแล้วด้วย เพราะว่าธรรมไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน
สิ่งที่มีขณะนี้ต้องเกิด ไม่เกิดก็ไม่มี และเกิดเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ต้องเกิดตามปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นอย่างนี้ เมื่อเกิดเป็นอย่างนี้ ช่วงเวลาที่แสนสั้น แล้วก็ดับไป ไม่เหลือเลย เมื่อไรจิตจะน้อมไปเห็นประโยชน์ที่รู้ว่าเคยติดข้องมามากมายในสังสารวัฏ จากชาตินี้ก็เป็นชาติอื่น จากชาตินี้ก็จะเป็นใครต่อใครอีกก็ไม่รู้ มากมายนับไม่ถ้วน ไม่มีทางที่จะออกจากความไม่รู้เลย และประโยชน์ที่คนนั้นเริ่มที่จะได้เข้าใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยาก สมควรหรือไม่ ถ้าเราทำสิ่งที่ดี เรากลัวอะไร กลัวคนอื่นติเตียน เรื่องของเขา กลัวคนอื่นไม่ชอบ ก็เรื่องของเขา กลัวคนอื่นจะคิดอย่างไร เรื่องของเขา แต่ว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเป็นประโยชน์ควรทำหรือไม่
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะได้ยินคำโบราณ หรือคำสมัยใหม่ หรือใครจะพูดอย่างไรก็ตาม พิจารณาในเหตุผลแล้วทำสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ ก็ควรทำ
ผู้ฟัง ได้ยินคำอาจารย์บอกว่าหงส์ในฝูงกาก็รู้สึกสบายใจขึ้น เพราะจริงๆ มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องห่วง กาก็กา ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องไปเป็นกาด้วย เป็นหงส์ก็เป็นหงส์
ผู้ฟัง สังคมเห็นเขาเป็นกา เขาก็ถูกบีบคั้นทางสังคม
ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้าเราเข้าใจถูก เราเกิดคนเดียว แล้วจริงๆ ก็ไม่ใช่เราด้วย ลึกลงไปอีกก็คือ ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมซึ่งยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้เลย ใครจะไม่ให้สิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดเดี๋ยวนี้ไม่ให้เกิด ไม่ได้ ไม่มีใครทำได้เลย ก็เริ่มเข้าใจว่าเกิดคนเดียวไม่มีใครสักคนใช่หรือไม่ขณะที่เกิด แล้วก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีการคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นคนต่างๆ เดือดร้อนเพราะเขาจะรัก จะชัง แต่ความจริงก็คือว่า เป็นแต่เพียงธาตุ แต่ละธาตุ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ประโยชน์สูงกว่าที่เราคิดว่าเราจะทำ หรือไม่ทำ คือว่าให้คนอื่นได้มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ที่สุด
ผู้ฟัง คำว่าเพ่งโทษ คือ เป็นบวกหรือเป็นลบ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า เราเข้าใจในภาษาไทย แต่โทษเป็นโทษใช่หรือไม่ แต่คนไม่รู้ว่าเป็นโทษใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อโทษเป็นโทษแต่คนไม่รู้ ก็ชี้โทษ นั่นคือเพ่งให้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเราจะไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นโทษ โลภะ รักเป็นโทษหรือไม่ โทสะ ชัง เป็นโทษหรือไม่ โมหะ ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมีตามความเป็นจริง เป็นโทษหรือไม่ ก็ไม่รู้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ดีต้องไม่ดี ไม่ว่าใครทั้งสิ้นเพราะว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้ ตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ หรืออะไรทั้งสิ้น ยศศักดิ์นั้น ยศศักดิ์นี้ก็ไม่ใช่ เป็นธาตุทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าธาตุไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ดี จะให้คนอื่นรู้หรือไม่ จะเปิดเผยหรือไม่ ว่านั่นเป็นโทษ นี่คือเพ่งโทษ ให้รู้ว่าเป็นโทษอย่างนั้นๆ ด้วยประการอย่างนั้นๆ เมื่อเพ่งโทษ และติเตียนด้วย ควรทำหรือไม่ อย่างที่เราจะชั่วช่างดีช่างสงฆ์ ควรจะเป็นอย่างนั้นต่อไปหรือไม่ หรือว่าถ้าสามารถจะทำได้เท่าที่จะมีชีวิตอยู่ จะมีโอกาสที่จะทำได้มากน้อยเท่าไร ดีกว่าไม่ทำใช่หรือไม่ ถ้าดีกว่าไม่ทำก็ทำเสียเลย ไม่ต้องรออะไร เท่าที่จะทำได้ นั่นก็คือนอกจากเพ่งโทษ ติเตียนการกระทำที่ไม่ถูกต้องแล้ว ในพระไตรปิฎกใช้คำว่าโพนทะนา ประกาศให้รู้ทั่วกัน ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ผู้ที่ทำอย่างนั้นไม่ได้ผิดอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นประโยชน์ ต่อพระศาสนาด้วย
ผู้ฟัง แสดงว่า ความเข้าใจของผมแต่เดิม กลายเป็นเรื่องของคำว่าเพ่งโทษ รู้สึกว่าถูกเขาขู่นิดๆ ว่าอย่าไปเพ่งโทษพระ เดี๋ยวจะบาป เหมือนกับเรื่องเปรตที่เรียนถามอาจารย์เมื่อช่วงเช้า คือเราก็จำอย่างนั้นมา พอมาได้ฟังท่านอาจารย์มาเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่เราจดจำมาเมื่อสมัยเราอายุยังน้อยอยู่ จนถึงปัจจุบัน เราก็เพิ่งจะเข้าใจแต่ละคำๆ ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจคำศัพท์ได้อย่างละเอียด ก็จะเกิดประโยชน์กับตนเอง แล้วก็เกิดประโยชน์กับพุทธศาสนาด้วย จากการฟัง ก็ทำให้เกิดความอาจหาญร่าเริง รู้สึกว่ากล้าที่จะทำอะไรหลายอย่างมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่อะไรก็มีตัวตนที่จะต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะกลัวบาป กลัวกรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นจริง กลัวบาปก็ไม่ทำบาป ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะไตร่ตรองว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้ และปัญญานำไปในกิจคือกุศลทั้งปวงได้ ไม่มีอะไรที่ไม่ดีเลย ในเมื่อเป็นปัญญาต้องนำไปในทางที่ดี ไม่ได้ทำผิดอะไร พูดความจริง พูดสิ่งที่ถูกต้อง พูดคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการที่มีความหวังดีที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจถูก เพราะว่า เปรตนี่น่ากลัว ที่เป็นเปรตเพราะเข้าใจผิดในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น
ผู้ฟัง เรื่องเปรตก็ทำให้ผมพูดน้อยลง เพราะเขาบอกว่าถ้าพูดคำไม่ดี ปากจะเหม็นมากหรือว่ามีหนอน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญานำไปในกุศลกิจทั้งปวง