ฟังปริยัติ
ถึงตอนเย็น อุบาสก อุบาสิกาก็ไปฟังธรรมอีก หลังจากนั้นพระภิกษุก็มาฟัง ถามปัญหาอีก ต่อจากนั้นก็ถึงคราวของเทวดามาอีก มีใครบ้างที่จะกระทำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนอื่นถึงขั้นนี้ได้ นอกจากผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ๔๕ พรรษา กี่คำ และคำนั้นเป็นคำที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย แต่คนยุคนี้คิดว่าแค่ฟัง เดี๋ยวก็เข้าใจแล้ว เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็ถึงอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะปฏิบัติ และเดี๋ยวก็จะได้เกิดปัญญาแล้ว เดี๋ยวก็จะดับกิเลสได้แล้ว คิดอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่เข้าใจแต่ละคำ ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้ว ทุกคำสอดคล้องกันทั้งหมด สอดคล้องกันก็คือว่าปริยัติ ฟังอะไร ศึกษาอะไร เล่าเรียนอะไร พระพุทธพจน์ไม่ใช่คำของคนอื่น ถ้าคนอื่นบอกว่าอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่าอย่างนี้ นักจิตวิทยาบอกว่าอย่างนั้น หมอประเภทนั้น วิศวกรประเภทนี้ กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ ในเรื่องโลก ในเรื่องจักรวาล ในเรื่องดินฟ้าอากาศ ในเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาวต่างๆ ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ปริยัติ ฟังศึกษาไป ทุกคนที่ใช้คำว่าฟังหรือศึกษา คือเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เน้นไปด้วย กำลังฟัง คือ ไม่ใช่ไปเข้าใจเรื่องอื่น ไม่ใช่ฟังเรื่องได้ยินก็คิดว่าเกิดจากอะไรมากระทบกับเสียงเมื่อใด แล้วก็มีธาตุอะไรอยู่ที่นั่น ทำให้ได้ยินเกิดขึ้น มีปฏิกิริยาอย่างไร นั่นคือไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นก็จะรู้ความต่าง ของคำของคนอื่น ไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำจริง วาจาสัจจทั้งหมด ทุกกาลสมัย เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะว่าทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด โดยประการทั้งปวงทั้งหมด แล้วก็ถึงที่สุดเปลี่ยนอีกไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว หรือพระธรรมที่ได้ตรัสแล้วด้วยพระปัญญาคุณ ที่ไม่มีผู้อื่น ผู้ใด สามารถที่จะรู้ได้ว่าพระปัญญาของพระองค์มากสักแค่ไหน แต่พอเริ่มฟัง จากไม่รู้ รู้ เริ่มเห็นแล้ว นี่เพียงไม่กี่คำ
เพราะฉะนั้น การฟังไม่ว่าฟังวิชาไหนทั้งหมด เพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ฟังเรื่องทำอาหาร จะเข้าใจเรื่องอื่นได้หรือไม่ จะไปเข้าใจเรื่องปลูกต้นไม้ได้หรือไม่ กำลังฟังเรื่องปลูกต้นไม้จะไปเข้าใจเรื่องทำอาหารได้หรือไม่ ไม่ได้
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือเข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ ด้วยเหตุนี้ ปริยัติไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น อย่าเอาอะไรมาแทรกเลย ไม่ว่าใครจะว่าอะไรทั้งสิ้น คำนั้นๆ ไม่ใช่ปริยัติ คือไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งมาก สามารถเข้าใจได้ถ่องแท้ทันทีหรือไม่ ใครเป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำว่าปฏิเวธในปริยัติ
คำภาษาบาลีเป็นคำที่ใช้กันอยู่ในกลุ่มบุคคลพวกหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง ภาคหนึ่ง ประเทศหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภาษามคธีก็เป็นภาษาที่ชาวมคธในแคว้นมคธ รัฐหนึ่งของประเทศอินเดีย ใช้ในยุคสมัยพุทธกาล เพราะฉะนั้น เป็นคำธรรมดา เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำบาลี เราตื่นเต้นแล้ว คำนี้อะไร คำนี้แปลว่าอะไร แต่ความจริงก็คือคำธรรมดา ถ้าเราบอกว่าปฏิเวธคือการแทงตลอด เราก็สงสัยว่าแค่ไหน ขั้นไหน แต่ฟังธรรมเข้าใจหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ใช่ปริยัติ เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง จึงเป็นปริยัติ แต่ว่าฟังแล้วรู้ทั่วถึงโดยตลอดทันทีหรือไม่ ฟังแล้วจิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าใด รูปมีเท่าใด ปฏิจจสมุทปาทมีเท่าใด ฟังแล้วไปสำนักปฏิบัติ ชื่อว่ารอบรู้แทงตลอดในปริยัติหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีคำกำกับไว้ เมื่อมีการฟังปริยัติ ไม่ใช่แค่ฟัง แต่เข้าใจอย่างมั่นคง แล้วก็รอบรู้จริงๆ เพราะทุกคำสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่มีความขัดแย้งกันเลย ถ้าสามารถเข้าใจความสอดคล้องของพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม และแต่ละคำที่ได้รู้ ก็เป็นการแทงตลอดที่ว่าไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวนี้เอง สภาพธรรมเกิดดับ แล้วจะไปไหน หนีเดี๋ยวนี้จะไปรู้อะไรที่ไหน ในเมื่อเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่รู้ไปตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็คือว่าผู้นั้นไม่ได้มีความรอบรู้ในปริยัติ ไม่ได้แทงตลอดในปริยัติ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ฟังเข้าใจแล้ว มีความมั่นคงเป็นสัจจญาณของปริยัติในอริยสัจ ๔ แต่ละคำไม่ใช่ให้เราไปนั่งจำ แล้วก็นั่งคิดเองแล้วผ่านๆ ไป เผินไม่ได้เลย ต้องมีความเข้าใจจริงๆ แล้วก็จะสอดคล้องกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่เข้าใจปริยัติจริงๆ จึงเป็นสัจจญาณ เมื่อมีปริยัติ สามารถที่จะเป็นสัจจญาณแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปัตติ ซึ่งเป็นกิจจญาณ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยอยู่แค่นั้น ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เมื่อฟังแล้วปัญญาเจริญขึ้น ไม่ใช่เราไปพยายามเร่งรัดให้เกิดปัญญามากๆ นั่นก็ลืมคำว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไม่สอดคล้องกันแล้ว
เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดลึกซึ้ง พูดคำเดียวก็สอดคล้องกับคำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น พูดคำว่าปริยัติกับสัจจญาณ ก็ไปสอดคล้องกับอริยสัจด้วย เพราะเหตุว่าฟังทำไม เพื่อจะรู้อะไร เข้าใจอะไร รู้ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความอดทน เป็นบารมี ถ้าขาดความอดทนที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเห็นผิดได้ แม้ว่าจะรู้ว่าจิตมีเท่าใด เจตสิกมีเท่าใด แล้วก็ไปพากันสอบ สอบทำไม อะไรทำให้สอบ ถามเขา เขาบอกว่า วันหนึ่งเขาว่างมาก ก็ต้องไปเรียน สอบก็จะได้ขยัน ถ้าไม่สอบก็เลยเรียนไปเฉยๆ เฉื่อยๆ เนือยๆ นั่นหรือประโยชน์ของการฟังธรรม
เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง และรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น ก็สอดคล้องกันทั้งปริยัติ และสัจจญาณ เป็นปัจจัยให้ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง เป็นกิจจญาณ คือกิจของสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘
เพราะฉะนั้น ปฏิปัตติ คือกิจจญาณ ที่ไม่ใช่กิจจญาณของอกุศล ของโลภะ ของโทสะ แต่เป็นกิจจญาณของมรรค ซึ่งเป็นหนทางสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าพอสติสัมปชัญญะเกิดเล็กน้อยก็เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ใช่ แล้วมีใครที่จะไปทำวิปัสสนา เพราะขัดกันแล้ว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแล้วมีใครที่จะทำปริญญา ทำได้อย่างไร ในเมื่อปริญญาคือวิปัสสนาญาณ ตามลำดับขั้น ญาตปริญญา ตีรณะปริญญา ปหานปริญญา ทั้งหมดเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่แค่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติ เพราะฉะนั้นจากปฏิปัตติ ซึ่งเป็นกิจจญาณของสภาพธรรมที่เป็นมรรคที่เจริญขึ้นแล้ว ก็จะถึงปฏิเวธแทงตลอดสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามที่ได้ฟังทุกคำ ขณะนั้นก็เป็นกตญาณคือรู้แล้ว ขณะนี้รู้แล้วหรือยัง กตญานหรือยัง ก็ยัง เพราะฉะนั้น ฟังธรรมไม่ควรใจร้อน ได้ยินคำนี้ก็อยากรู้ แต่ไม่รู้เลยว่าพื้นฐานมีพอหรือเปล่า พอที่จะสอดคล้องให้เข้าใจในคำที่ได้ฟังหรือเปล่า เพราะถ้าไม่เคยได้ฟังเรื่องของธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เรื่องของนามธรรม รูปธรรม เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าไม่ได้เอ่ยชื่อ ก็จะไม่ถึงการที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฟังเพียงเพื่อที่จะจำหรือเข้าใจ ต้องรู้ประโยชน์ว่าเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสที่ไม่รู้ความจริง และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา