บุญ
อ.ธิดารัตน์ ท่านผู้ถามมีความสงสัยว่า เพื่อนคนหนึ่งทำบุญด้วยเงินจำนวนมาก แล้วเขาก็เข้าใจว่าบุญที่ทำด้วยเงินจำนวนมาก ก็จะต้องได้รับผลมากตามจำนวนเงิน จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่
ท่านอาจารย์ อยากได้บุญ ขณะที่อยาก ได้บุญหรือไม่ เพราะไม่รู้จักบุญ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ศึกษาธรรมต้องเข้าใจ สำคัญที่สุดไม่ใช่ให้ใครตอบ ตอบแล้ว ฟังแล้ว ก็ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร อย่างนั้นจะไม่ชื่อว่าได้ฟังพระธรรม
อ.ธิดารัตน์ ถ้าตอบคำถามที่ท่านอาจารย์ถามว่า อยากได้บุญแล้วได้หรือไม่ ขอตอบว่าไม่ได้ เพราะว่าตอนนั้นโลภะอยากได้
ท่านอาจารย์ และถ้าไม่อยาก คงไม่ถามปัญหานี้ ไม่ว่าใครที่ถามคำถามนี้ ย่อมมาจากการที่อยากได้บุญหรือเปล่า
อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องมาจากการอยากได้บุญ
ท่านอาจารย์ และการอยาก เป็นบุญหรือเปล่า
อ.ธิดารัตน์ การอยากไม่ใช่บุญ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บุญไม่ใช่อยาก อยากเมื่อไรก็ไม่ใช่บุญเมื่อนั้น
อ.อรรณพ ถ้ามีความคิดว่าบุญนี้จะเป็นไปตามจำนวนเงิน อย่างนี้คนที่มีเงินน้อยหรือคนจนก็จะดักดานอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าจะทำบุญเท่าใดก็มีเงินอยู่เท่านั้น เพราะเขาคงไม่คิดว่าจะเอาเงินไปแลกบุญ ฉะนั้นคนที่จนก็เลยจนตลอดใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เช่นนั้น บุญต้องเป็นกุศลจิต และกุศลกรรม แม้ให้ข้าวต้มเพียงกระบวยเดียว แต่ด้วยจิตที่มีความเลื่อมใสศรัทธาหรือจิตที่มีความเข้าใจธรรม นั่นคือบุญที่แท้จริง
ท่านอาจารย์ แล้วข้าวต้มกระบวยเดียวก็ไม่มีจะให้ สามารถที่จะเป็นบุญได้หรือไม่
อ.อรรณพ เป็นบุญได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนอื่น พูดคำไหนต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เป็น "ถ้า" ตลอด แต่ทุกคำต้องเข้าใจ ก่อนอื่นถ้าพูดถึงบุญต้องเข้าใจบุญก่อน
อ.อรรณพ บุญ คือ กุศลธรรม
อ.ธิดารัตน์ คนที่เขาอาจจะไม่มีสตางค์พอที่จะไปทำบุญหรือเจริญกุศล แต่เขาก็สามารถที่จะอนุโมทนากับผู้อื่นได้
ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้จักบุญก่อน ว่าก่อนอื่นจะพูดคำไหนต้องรู้จักคำนั้น ถ้าไม่รู้จักแล้ว เราจะมาคิดได้อย่างไรว่าแม้ไม่มีเงินเลย ไม่มีทรัพย์สินเงินทองใดๆ เลย ก็เป็นบุญได้ เพราะบุญต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ธรรมฝ่ายดี จิตใจที่ดีงามเกิดเมื่อไร แสดงความเคารพผู้ที่ควรเคารพ ปู่ย่าตายาย เป็นบุญหรือไม่
อ.ธิดารัตน์ เป็นบุญ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นบุญแล้ว ไม่มีเงินเลยก็เป็นบุญได้ เพราะฉะนั้น บุญ คือ ธรรมแน่นอน สิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งนั้นเป็นธรรมฝ่ายดีด้วย ไม่มีความโกรธ ไม่มีความติดข้องขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นบุญ ขณะนั่งฟังธรรมเป็นบุญหรือไม่ ถ้าเข้าใจคำว่าบุญ ก็รู้ว่าบุญคือเมื่อใด คือขณะใดก็ตามสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้น เป็นบุญทั้งหมด
อ.อรรณพ นึกถึงเรื่องมัฏฐกุณฑลี ซึ่งขณะนั้นใกล้ที่จะตาย แต่ก็เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยจิตที่เลื่อมใสก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะไหนมีความเข้าใจธรรม ขณะนั้นเป็นบุญที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าแม้ว่าเป็นวัตถุทานด้วยกัน ไม่พูดถึงกุศลขั้นศีล ขั้นภาวนา แม้กุศลขั้นทานก็ไม่ได้หมายความตามจำนวนสิ่งของหรือตามจำนวนมูลค่าของ แม้เป็นวัตถุทานด้วยกัน
ท่านอาจารย์ เพราะว่าบุญอยู่ที่ไหน
อ.อรรณพ อยู่ที่จิตที่เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ
อ.อรรณพ และแม้จะให้วัตถุสิ่งของ ก็ไม่ขึ้นอยู่กับว่าให้มากให้น้อย มิฉะนั้น คนที่มีเงินน้อยก็ต้องอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาลเลย กี่ชาติต่อกี่ชาติ ก็เพราะว่าไม่สามารถที่จะมีกุศลได้มากเท่ากับจำนวนเงิน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ผู้ที่เขาคิดอย่างนี้ ๑ เขาไม่เข้าใจบุญ ๒ เขาอยากได้บุญ แล้วก็คิดว่าเอาอะไรมาแลกเปลี่ยนบุญ เพราะฉะนั้นก็เหมือนเอาเงินเอาทองมาแลกเปลี่ยนบุญ จึงเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ถ้าทำมากๆ ก็จะได้มาก ถ้าไม่มี ก็ต้องลงทุนไปเป็นหนี้
ท่านอาจารย์ ทำมากๆ ก็อยากได้มากๆ แล้วเป็นบุญหรือไม่ตอนที่อยากได้มากๆ
อ.อรรณพ เป็นอกุศลมากๆ เป็นสิ่งที่เป็นบาปมากๆ เพราะบาปก็คือบาป อาจจะดูรุนแรง แต่บาปก็คืออกุศลนั่นเองที่มากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในธรรม ทรัพย์สินเงินทองที่ท่านได้มาด้วยกุศลวิบาก คือด้วยผลของกุศลกรรมในอดีต และด้วยการประกอบขวนขวายทำธุรกิจการงานที่ท่านได้ทรัพย์สินเงินทองมา จึงเป็นผล ๒ อย่าง คือ ๑ เป็นผลจากกุศลในอดีต ๒ เป็นความขวนขวายในปัจจุบัน แต่ถ้าท่านไม่มีความเข้าใจ ทรัพย์สินเงินทองของท่านก็จะละลายหมดไปกับการที่ไม่ได้เป็นบุญเป็นกุศล แล้วก็ได้ความอยากมาเพิ่มพูนความอยาก เพิ่มพูนความเห็นผิด เพิ่มพูนความไม่รู้ หมดตัวแล้วก็ได้แต่กิเลสอกุศลตามมา
แต่ถ้าเป็นผู้เข้าใจธรรม ทรัพย์สมบัติที่ท่านมีด้วยผลของกุศลกรรมในอดีต และการขวนขวายในปัจจุบัน จะเป็นประโยชน์ที่ท่านจะได้เอื้ออำนวยให้เกิดกุศลที่ไพบูลย์ขึ้นด้วยปัญญา และไม่จำเป็นจะต้องเป็นการให้สิ่งของเท่านั้น เพราะการที่ได้เข้าใจธรรม และการช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรต่างๆ ก็เป็นบุญ บุญจึงมีถึง ๑๐ อย่าง ที่ท่านแสดงไว้ในบุญกิริยาวัตถุ ทาน ๓ ศีล ๓ ภาวนา ๔