สมาทานศีล


    คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจยิ่งขึ้น ในความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา


    อ.ชุมพร พยายามที่จะพาคนในครอบครัวของตัวเองมาฟังธรรม เขาก็บอกว่าชีวิตเขาดีอยู่แล้ว เขาก็ไม่ได้ไปทำอะไรผิด ประกอบอาชีพก็ไม่ได้ไปลักขโมยใคร มีการทำบุญ ทำทาน อยู่เป็นปกติ ส่วนใหญ่เขาอยากจะได้บุญกัน เวลาเขาไปวัดเขาก็ได้รับสมาทาน ก็คือศีล ๕ บางคนก็บอกว่าผมมีศีล ๕ แล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องมาฟังธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ สมาทาน คือ อะไร

    อ.ชุมพร ถือเอา

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร

    อ.ชุมพร รับมา

    ท่านอาจารย์ ตามคำแปลเลย ถือเอาก็เป็นคำแปล รับมาก็เป็นคำแปล แล้วเข้าใจสมาทานว่าอย่างไร อยู่ที่ความเข้าใจไม่ใช่อยู่ที่คำ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะทำอะไร เช่น เราจะมาฟังธรรม เราต้องสมาทานหรือไม่ เราต้องถือเอาหรือเปล่า เราต้องรับเอาหรือเปล่า หรือว่าขณะนั้นเป็นธรรมซึ่งผู้นั้นเองทำด้วยความตั้งใจหรือมีความจงใจที่จะทำ เช่น เราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้ว สงสารสัตว์ที่กำลังถูกฆ่า แม้เพียงคิดว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็คือความหมายของสมาทาน มีความตั้งใจที่จะถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติแต่ไม่ต้องไปรับจากใคร เป็นเจตนาขณะนั้นที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล เช่น โจร เขาก็สมาทานที่จะลักขโมยใช่หรือไม่ คนที่ทุจริตก็ถือเอาการประพฤติทุจริตเป็นชีวิตของเขา ที่เขาจะดำเนินชีวิตไปด้วยความทุจริตอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ต้องไปรับเอามาจากใครหรือเปล่า หรือต้องมาบอกว่าเราถือเอาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แต่ขณะนั้นเป็นสภาพของการที่มีสภาพธรรมที่คิดตั้งใจจงใจที่จะประพฤติอย่างนั้น ก็เป็นการสมาทานในขณะนั้น

    อ.อรรณพ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า แล้วแต่ว่าจะหมายถึงในทางดีหรือในทางไม่ดี ในทางดีคงเข้าใจกันแล้ว ส่วนในทางไม่ดีก็มีอกุศลกรรมที่สมาทานแล้วกระทำ หรือกรรมนั้นเป็นกัมมสมาทาน กัมมสมาทานอันเป็นบาปบางอย่างมีอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าสมาทานแล้วต้องดี คนเข้าใจผิดก็ไปถือเอา รับเอาในสิ่งที่ไม่ดี หรือแม้แต่เป็นสิ่งที่ดีแต่เขาก็ไม่ได้เข้าใจ แล้วเขาก็จะถือเอา รับเอาด้วยความไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถจะถือเอา รับเอาในสิ่งที่ดีได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คือ ความตั้งใจ ความจงใจในขณะนั้นที่เกิดขึ้นที่จะกระทำอย่างนั้น คุณชุมพรเข้าใจคำว่าอนัตตาหรือไม่ แล้วครอบครัวไม่สนใจธรรมเลยหรือ

    อ.ชุมพร ก็อยากจะเกื้อกูลเพราะว่าเห็นคุณของการมาฟังท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เฉพาะกับครอบครัวหรือ ไม่รวมคนอื่นที่เขาก็ไม่รู้เช่นเดียวกับคนในครอบครัวของเรา หรือไม่ว่าใครทั้งนั้นเราก็มีความหวังดี แต่รู้ว่าความหวังดีต้องไม่ไปทำให้เขาลำบากใจหรือเดือดร้อน และไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็นคำพูดที่จริง แต่ต้องเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ แล้วก็ต้องรู้กาละด้วยว่าคำพูดนั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อใด

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ถึงเวลาของเขา ก็ไม่ต้องไปทำอะไร หรือจะทำอะไรเขาก็ต้องเป็น เช่นที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะฟังธรรม มีหลายครอบครัวซึ่งมีลูกหลาน เขาก็ไม่ได้บอกให้ลูกหลานฟัง แต่เขาฟังบ่อยๆ แล้วลูกหลานเขาก็เข้าใจขึ้น โดยไม่ต้องไปชักชวนเลย เพราะฉะนั้น ที่เรามาฟังธรรม สมาทานกันหรือเปล่า สมาทานที่เราเข้าใจแล้วใช่หรือไม่ ไม่ใช่ต้องไปสมาทานกับใคร ที่ขอขัดแต่ละคำเพื่อที่จะได้เข้าใจ มิฉะนั้นก็ไม่มีโอกาสที่เราจะเข้าใจคำนี้ ถ้าพูดไปจนจบก็เป็นเรื่องอื่นไปเลย แต่อะไรก็ตามที่ควรจะได้เข้าใจ เราสนทนาเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้น ด้วยความเป็นอนัตตาก็ต้องเป็นอนัตตา และแม้แต่คำว่าสมาทาน จะเป็นการผิดหรือถูกถ้าไปสมาทานหรือว่ารับเอา ถือเอา แค่โดยการพูด

    อ.ชุมพร ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากที่ทำให้เข้าใจว่า คำพูดไม่เพียงพอต้องประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่พูดไปแล้วด้วย

    ท่านอาจารย์ และก็ต้องเข้าใจจริงๆ

    อ.ชุมพร ได้ฟังท่านอาจารย์จึงเห็นประโยชน์มาก ก็อยากจะเกื้อกูลคนอื่นโดยเฉพาะที่เขาบอกว่ามีแค่ ศีล ๕ เมื่อได้สนทนากับท่านอาจารย์เกี่ยวกับคนที่ไม่ดื่มสุราเพราะรักษาศีล ๕ แล้วเขาก็บอกว่าเพียงจิบคำสองคำก็ไม่ได้ประมาทอะไร ก็เหมือนกับว่า ศีล ๕ ขาดไปแล้ว ไม่ครบ

    ท่านอาจารย์ มาถึงคำว่าประมาท แม้แต่จะพูดเรื่องดื่มสุรา หรือไม่ดื่มสุรา ถ้าขณะนั้น สามารถรู้ว่าเป็นธรรม ประมาทหรือเปล่า

    อ.ชุมพร ความลึกซึ้งอยู่ตรงนี้ที่อยากจะบอกว่า ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่เฉพาะศีล ๕ เพราะว่ามีความเป็นเรา ซึ่งลวง แต่ถ้าเรามีความเข้าใจในขั้นการฟังว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา เป็นธรรม เป็นธาตุ ซึ่งมากกว่าศีล ๕ ตรงนี้เป็นการยากที่จะทำให้คนเห็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียว คือ ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ด้วยความไม่ประมาทที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจจริงๆ

    อ.ชุมพร เช่น กุศลที่ชาวบ้านเขาต้องการ ก็เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยบารมี จะให้เขาเข้าใจได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จะให้เขาเข้าใจไม่ได้ พูดได้แต่ความจริงที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ศึกษา และเข้าใจแล้วตามสมควร เข้าใจแค่ไหนก็พูดตามความเข้าใจแค่นั้น

    อ.ชุมพร อย่างไรก็เห็นความวิเศษของความเข้าใจ คือ ปัญญาซึ่งเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งปวง แล้วความเป็นตัวตนที่จะไปรักษาศีล ไปเจริญกุศล ความเป็นตัวตนที่เขามองไม่เห็น ซึ่งท่านอาจารย์ก็เกื้อกูลอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ จะไปรักษาศีลที่ไหน

    อ.ชุมพร ตรงจุดนี้แม้แต่พวกเราเองที่ศึกษาธรรม ก็เอาความเป็นตัวตนไม่อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้เข้าใจ ทำตามๆ กันมา พอพูดว่าจะไปรักษาศีลก็คล้ายว่าจะเข้าใจ แต่ศีลคืออะไร เห็นหรือไม่ แต่ละคำ ต้องเข้าใจ ศีลคือปกติ เพราะฉะนั้นต้องไปไหนหรือเปล่า ไปรักษาศีลก็คิดว่าต้องไปที่หนึ่งที่ใดใช่หรือไม่ แต่ศีลคือปกติ ถ้าปกติเดี๋ยวนี้เป็นอกุศล ก็คืออกุศลศีล เกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าเดี๋ยวนี้เป็นกุศล ก็คือกุศลศีล ปกติจริงๆ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยเป็นศีล

    เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่เคยได้ยินได้ฟังมาด้วยการไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพระเจ้าที่ตรัสถึงความจริง ก็ต้องเริ่มรู้ว่าคำนั้นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจยิ่งขึ้นในความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น จะไปรักษาศีลหรือไม่ ทำไมไม่รักษาเสียเดี๋ยวนี่ ถ้าจะรักษาคือเป็นกุศล

    อ.ธีรพันธ์ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับที่สนทนาเรื่องของสมาทานเพราะว่าศีลนี้เป็นปกติจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะไปรักษาศีลที่นั่นที่นี่เลย แต่ว่าเป็นความเป็นปกติในขณะนี้เอง ถ้ามีการที่จะวิรัติงดเว้นคำพูดที่ไม่ดีก็เป็นกุศลศีลแล้ว ไม่ต้องไปรับสมาทานที่วัด หรือว่าจากใครเลย แต่ว่าเป็นปกติของผู้ที่เข้าใจที่ตั้งใจที่จะวิรัติงดเว้นในสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลศีล ซึ่งเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เป็นศีลหรือไม่ ธรรมสำหรับคิดไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง เดี๋ยวนี้เป็นศีลหรือไม่

    อ.ชุมพร เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้จักแล้วก็ต้องเป็น แต่ถ้าไม่รู้จัก บางคนจะกล่าวว่าไม่เห็นไปสมาทานที่ไหน ใช่หรือไม่


    หมายเลข 10559
    10 ธ.ค. 2567