ไม่รู้จึงสงสัย สงสัยจึงเห็นผิด


    ความสงสัย และความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน เกิดต่างขณะกัน แต่เพราะ มีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงสงสัยในหนทางที่จะนำไปสู่การดับ กิเลส แล้วมีความเห็นผิด ปฏิบัติผิดต่อไป


    ท่านอาจารย์ ความสงสัยเป็นอย่างหนึ่ง ความเห็นผิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง คิดว่ามีทางอื่น ความเห็นผิดมีได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ไหม ว่าขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง ปัญญารู้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช้ปัญญา ก็เป็นความไม่รู้ และความเห็นผิดต่อไป

    อ. อรรณพ คนที่เห็นผิดมากๆ จนเป็นความเห็นผิดที่มั่นคง ดูเหมือนเขาไม่สงสัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่สงสัยจะเห็นผิดหรือ เหมือนเขาไม่สงสัย เพราะว่าเขาเข้าใจผิด แต่ความจริงที่จะเข้าใจผิดเพราะสงสัย พระธรรมทรงแสดงไว้ดีแล้วทั้ง ๓ ปิฎก สงสัยในหนทางหรือไม่ จึงเห็นผิดไปได้

    อ. อรรณพ สมมติเขามั่นคงในหนทางผิดครับ

    ท่านอาจารย์ มั่นคงในความเห็นผิดก็คือ พวกเดียรถีย์ ไม่ได้ฟังธรรมเลย แต่เมื่อฟังพระธรรม เข้าใจว่าตนเองได้นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ว่าไม่เข้าใจคำ ที่กล่าวถึงสภาพธรรม เมื่อไม่เข้าใจแล้วสงสัยไหม เพราะฉะนั้นความสงสัยเป็นหนึ่งขณะ ความเห็นผิดเป็นอีกหนึ่งขณะ ต่างกัน ไม่เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดพร้อมกับวิจิกิจฉาเจตสิก ทิฏฐิเจตสิกเกิดกับโลภะมูลจิต ความติดข้องในความเห็นอย่างนั้น ส่วนความสงสัย ไม่ใช่ความเห็นผิดเลย แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ได้ฟัง ตามที่ได้ฟัง

    เพราะว่าเขากล่าวว่านับถือพระรัตนตรัย นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำสอน แต่ว่าสงสัยหรือไม่ในคำนั้น จึงได้มีความเห็นผิด สงสัยว่าขณะนี้รู้ไม่ได้เลย ใช่ไหม แล้วถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แล้วจะรู้อะไร เมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏรู้ไม่ได้แล้วจะไปรู้อะไร เพราะฉะนั้นก็แยกกัน ระหว่างความเห็นผิดกับความสงสัย สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เป็นอนัตตา เปลี่ยนได้ไหม แต่เปลี่ยนเพราะสงสัย เพราะไม่รู้จึงสงสัย จึงเปลี่ยน

    อ. กุลวิไล ซึ่งในอรรถสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี ท่านก็แสดงถึงความสงสัยมีอะไรบ้าง นัยแรกที่ท่านกล่าวถึง ปุถุชนย่อมเคลือบแคลงสงสัยในสรีระ และในคุณของพระศาสดา หรือทั้งสองอย่าง

    ท่านอาจารย์ ในคุณของพระศาสดา พระศาสดาตรัสไว้หรือไม่ ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง แล้วสงสัยอะไร แต่เขาสงสัยว่า รู้ได้หรือ โดยการที่ว่า ฟังค่อยๆ เข้าใจ เป็นปริยัติจนกระทั่งเป็นสัจจญาณที่มั่นคง แต่เขาคิดว่านั้นไม่ใช่หนทาง คิดว่าฟังอย่างนี้จะรู้ได้หรือ ต้องไปปฏิบัติ หรือต้องไปทำอะไร จึงสามารถที่จะรู้ได้ เพราะสงสัยในคำนี้ เมื่อมีความสงสัยแล้ว ก็มีความเข้าใจผิดตามมาได้ เพราะเหุตว่าถ้ารู้ว่าเดี๋ยวนี้รู้ได้แน่นอน จะเป็นทางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิดได้ไหม

    การปฏิบัติคืออะไร ของเขาก็คือว่าผู้ที่มีความไม่รู้ และสงสัยก็คือว่า ไปสู่ที่หนึ่งที่ใด พากเพียรด้วยความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นผู้นั้นสงสัยในปริยัติ ว่า การฟังอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยอย่างนี้ นี่หรือจะเป็นหนทางที่จะดับกิเลส ไม่คิดว่านี่คือหนทาง เขาสงสัยว่าแค่นี้ อย่างนี้ ปกติอย่างนี้แล้วจะดับกิเลสหรือ ในเมื่อการฟังแต่ละครั้ง ฟังแล้วก็เข้าใจ และก็เข้าใจขึ้นๆ เขาสงสัยว่านี้จะเป็นหนทางหรือ เมื่อสงสัยแล้วก็คิดว่าต้องมีทางอื่น

    เพราะฉะนั้นจึงสละทางที่พระผู้มีพระภาคตรัส เรื่องปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ ซึ่งไปปฏิบัติ คิดว่านั่นเป็นหนทางที่จะทำให้เข้าใจปริยัติ และปฏิเวธ ถ้าเขามั่นคงว่าหนทางนี่คือหนทางเดียวแน่นอน ที่จากการไม่รู้อะไรเลย ได้ฟังพระธรรมแล้วก็เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ ก็จะไม่มีความสงสัย ในคำของพระศาสดา เพราะรู้แน่ว่าถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีการฟังพระธรรมให้เเข้าใจ ที่จะมีปฏิปัตติ คือการที่ถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยสติสัมปชัญญะ เข้าใจถูก เห็นถูก มีไม่ได้เลย

    เพราะเดี๋ยวนี้แข็งกระทบ ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า นั้นเป็นแต่เพียงสิ่งหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นจะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้อย่างไร ขณะที่กำลังได้ยิน ก็ไม่มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าได้ยินนี้ไม่ใช่เราแน่นอน ไม่มีใครไปทำให้ยินเกิดขึ้น แต่ได้ยิน จากไม่ได้ยิน ก็เกิดได้ยิน เพราะเหตุปัจจัย และได้ยินก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าหนทางนี้เป็นหนทางเดียว คนนั้นก็จะไม่สงสัยในปริยัติ และก็มีสัจจญาณที่มั่นคงขึ้น แต่ถ้าคิดว่าอย่างนี้หรือ จะทำให้ละกิเลส หรือดับกิเลสได้ ก็สงสัยว่าคงไม่ใช่ จึงต้องไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็มีความสงสัย และก็มีความเห็นผิด


    หมายเลข 10573
    15 พ.ค. 2567