ที่เกิดของจิต จิตไม่ได้อยู่นอกรูป
ในภพภูมิที่มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม จิต และเจตสิกจะต้องเกิดที่รูปที่เป็นที่เกิด ของจิต ได้แก่จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูปคือตา จิตได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูปคือหู จิตได้กลิ่นเกิดที่ฆานปสาทรูปคือจมูก จิตลื้มรสเกิดที่ชิวหาปสาทรูปคือลิ้น จิตรู้สิ่ง ที่กระทบสัมผัสทางกายเกิดที่กายปสาทรูปคือกาย ส่วนจิตอื่นๆ เกิดที่หทยวัตถุรูป ซึ่งเกิดดับอยู่ที่กลางก้อนเนื้อหัวใจ ประโยชน์ที่ได้เข้าใจในความจริงเหล่านี้ก็เพื่อ รู้ว่าไม่มีเราที่จะบังคับบัญชาอะไรได้ ล้วนเป็นไปตามปัจจัยทั้งสิ้น
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมนั้นก็มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงแต่ไม่ใช่สภาพรู้ที่เรียกว่า รูปธรรม แล้วก็สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เกิดขึ้น และต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ รู้ทางตาคือกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าจิตไม่มีคือคนตาย ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นขณะเห็นมีจริงๆ ได้ยินมีจริง คิดนึกมีจริง จิตมีจริงแต่อยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้อยู่นอกรูปเลย เพราะเหตุว่าในภพภูมิซึ่งมีรูปด้วย จิตกับรูปก็ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าขณะแรกที่จิตเกิดขึ้นจากกรรมซึ่งมีรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ประกอบด้วยการกระทำซึ่งมีรูปเกิดร่วมด้วย กุศลจิตในขณะนั้นที่ดับไปแล้วสามารถที่จะทำให้เกิดจิตซึ่งเป็นผล โดยการเกิดสืบต่อจากจุติจิตทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นให้ทราบว่ากรรมทุกกรรมที่เกิดแล้วดับแล้ว สะสมอยู่ในจิตพร้อมที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นหลังจากที่จุติจิตดับไปแล้ว จิตก็ยังเกิด หรือว่าจิตที่เกิดต่อจากจุติจิตดับไปแล้ว จิตอื่นก็ต้องเกิดสืบต่อ
เพราะฉะนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตไม่ได้เกิดนอกรูปเลย เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิดในครรภ์ กรรมทำให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดพร้อมกับกัมมัชชรูป หมายความว่ารูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏรูปร่างใหญ่โตที่จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นมด เป็นช้างอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ว่ากรรมก็ทำให้กลุ่มของรูป ๓ กลุ่มเกิด ๓ กลุ่มนี้หมายความว่า รูปจะเกิดตามลำพังเพียง ๑ รูปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหมดที่จะเกิด จะเกิดเพียงลำพังหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จิตหนึ่งขณะเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้แต่รูปหนึ่งรูปที่เกิดก็ต้องมีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นกลุ่มของรูป ๑ กลุ่มหมายความว่า ประกอบด้วยรูปกี่รูปแล้วแต่ ในขณะที่เกิดขณะแรกก็จะต้องมีกลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยรูปธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ๘ รูปรวมอยู่ด้วยแล้ว
แต่เมื่อเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ก็จะมีชีวิตรูปหรือที่เรียกว่า ชีวิตตินทรียรูป เกิดร่วมด้วย เพราะกรรมทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่มีชีวิต ต่างกันแล้ว รูป ๘ รูปอื่นๆ ธาตุดินน้ำไฟลมกลิ่นรสโอชา เป็นดอกไม้ก็ได้ เป็นโต๊ะก็ได้ เป็นเก้าอี้เป็นอะไรได้หมด แต่รูปใดที่เกิดจากกรรมต้องมีชีวิตตินทรียรูปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปที่เกิดร่วมกับรูปอื่นๆ ที่เกิดในกลุ่มเดียวกัน ดำรงรักษาความเป็นรูปที่ทรงชีวิต ๘ รูปแล้ว รวมชีวิตรูปอีก ๑ เป็น ๙ แล้วก็มีหทยรูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต แสดงว่าจิตจะไปเกิดที่อื่นไม่ได้เลย แล้วหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมาจากไหน ก็เพราะกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้รูปนั้นมี ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
เพราะฉะนั้นในขณะแรกเวลาปฏิสนธิจิตเกิด จะมีรูปซึ่งเกิดจากกรรมเท่านั้น เกิดพร้อมกับจิตเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม ก็มีวิบากจิตเจตสิก และกัมมัชชรูปเกิด เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเริ่มตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นไป จิตใดที่จะเกิดก็ต้องอาศัยรูปหนึ่งรูปใดเกิดขึ้น ตามปกติก็เกิดที่หทยวัตถุนั่นเอง ใครมองเห็นบ้าง
ผู้ฟัง เห็นไม่ได้
ท่านอาจารย์ มีรูปเดียวในธรรมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามคือสิ่งกำลังปรากฏทางตาเท่านั้นที่ปรากฏให้เห็นได้ นอกจากนั้นรู้ได้ทางอื่น รู้ได้ทางหู รู้ได้ทางจมูก รู้ได้ทางกาย หรือรู้ได้ทางใจ เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่มีจิต เจตสิกเกิดต้องเกิดที่รูป ทั้งจิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นโดยมีกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นตลอดเวลาหลังจากนั้นจิตทุกขณะนี้ก็เกิดที่หทยวัตถุซึ่งเป็นหทยรูป แต่ขณะอื่นเช่นขณะเห็นจิตเกิดที่จักขุปสาท ขณะได้ยินจิตเกิดที่โสตปสาท เพราะฉะนั้นที่ตาก็มีจิต และเจตสิกเกิดที่จักขุปสาท ใครรู้ เพียงขณะเห็น แต่พอเห็นดับจิตอื่นเกิดที่หทัยวัตถุ
เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมคือเป็นอนัตตา เลือกไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ ต้องเป็นไปอย่างนี้เพราะการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง หมายความว่าผู้ศึกษาก็เข้าใจได้ว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นี้ จิต และเจตสิกก็ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด
ท่านอาจารย์ เกิดที่ไหนคือที่นั่นเป็นที่เกิดของจิต
ผู้ฟัง เกิดแล้วก็ดับเลย ๓ อนุขณะไม่มากกว่านั้น
ท่านอาจารย์ จิตเจตสิกอาศัยกันโดยกรรมเป็นปัจจัยในขณะแรก เพราะเหตุว่ารูปนั้นก็ต้องเกิดจากกรรม และจิตเจตสิกที่ทำกิจปฏิสนธิขณะแรกก็เกิดจากกรรม แต่จิต และเจตสิกใช้คำว่าวิบาก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ แต่สำหรับรูปไม่ใช้คำว่าวิบาก แต่ใช้คำว่ากัมมัชชรูป หมายความว่ารูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน
อ. คำปั่น เรื่องของจิตเห็น เรื่องของที่เกิดของจิตเป็นต้นนี้จะเกื้อกูลหรือว่าจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสอย่างไร
ท่านอาจารย์ รู้ว่าไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลย ธรรมมีปัจจัยเกิด แล้วก็ต้องเป็นไปตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจะเข้าใจความหมายของคำว่าธรรม และก็ธรรมดา ซึ่งไม่ใช่เรา ถ้าเข้าใจขึ้นๆ ขั้นฟังก็พอจะรู้มั่นคงขึ้นว่าไม่มีเรา แค่ฟังแต่ว่ายังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นจริงอย่างที่ได้ฟัง เช่นขณะนี้ เจ็บมีไหม มีใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีจิตจะเจ็บไหม และขณะที่เจ็บ เจ็บตรงไหน เแสดงว่าจิตเกิดตรงนั้น ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนี้ เราก็อาศัยการที่ได้ฟังนี้ ไตร่ตรอง แล้วจะรู้ว่าธรรมลึกซึ้ง และยากที่จะรู้ได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่จะรู้ได้เมื่อเข้าใจขึ้นๆ ค่อยๆ ละคลายความติดข้อง เช่น เห็นขณะนี้ ไม่เจ็บใช่ไหม แต่เห็นตรงไหน แค่จิตเห็นเกิดขึ้นตรงจักขุปสาทที่จักขุปสาท แล้วดับ แต่จิตอื่นไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท เกิดที่หทยวัตถุ
ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจค่อยๆ เห็นความน่าอัศจรรย์ของธรรมว่า ไม่มีใครสามารถที่จะดลบันดาลหรือทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น แล้วเป็นอย่างนี้มานานแสนนาน ละความยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย และก็ตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นแต่ละอย่างที่พูดถึงเช่นที่เกิดของจิต ใช้คำว่า วัตถุ ทางรู้อารมณ์ต่างๆ ใช้คำว่า ทวาร ก็ต่างกันแล้ว ทวารมี ๖ ทวารจริง ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย๑ และใจไม่ใช่รูป แต่เพราะจำไว้แล้วคิดเมื่อไหร่ ก็อาศัยใจที่ได้จำไว้แล้วเป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นใหม่ และก็คิดถึงเรื่องไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แต่ที่เกิดทั้งหมดต้องเป็นรูป เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นี้ จิตต้องเกิดที่รูป จะเกิดนอกรูปไม่ได้ แต่จิตก็เกิดดับโดยใครรู้ว่าเกิดที่รูปไหน เช่น จิตเห็นชั่วหนึ่งขณะเอง ขณะนี้กี่ขณะก็นับประมาณไม่ได้ แต่ขณะเดียวที่เห็นเกิดที่จักขุปสาท จิตที่เกิดต่อจากจิตเห็นไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท นี้คือไม่ใช่เรา ฟังเพื่อรู้ว่าความจริงรู้ยาก แต่ถ้ารู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะเป็นทางที่ละคลายความไม่รู้ และสภาพธรรมปรากฏโดยเลือกไม่ได้ โดยความเป็นอนัตตา แล้วก็จะเข้าใจได้ทีละเล็กทีละน้อยว่าธรรมเป็นธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เรา